รีเซต

ประวัติ จังหวัดตรัง ที่เที่ยวทะเล ภาคใต้ ที่ไม่ได้มีดีแค่ทะเล

ประวัติ จังหวัดตรัง ที่เที่ยวทะเล ภาคใต้ ที่ไม่ได้มีดีแค่ทะเล
nukkpidet
24 เมษายน 2565 ( 14:47 )
4.6K

     จังหวัดตรัง หนึ่งในจังหวัดของ ภาคใต้ ที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้วด้วย เมืองทะเลแดนใต้ เงียบสงบ มีน้ำใสๆ ให้นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ไปเยือน ก่อนจะไปเที่ยวกัน มาดู ประวัติความเป็นมาของตรัง กันดีกว่าว่าก่อนจะมาเป็นตรังในวันนี้ เป็นอย่างไรบ้าง

 

 

เปิด ประวัติจังหวัดตรัง เมื่อก่อนนั้นมีความเป็นอย่างไร?

 

จังหวัดตรัง สมัยก่อนประวัติศาสตร์

     ประวัติ จังหวัดตรัง เริ่มแรกในสมัยก่อนนั้น มีหลักฐานทางโบราณคดีอยู่ตามถ้ำเขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด ภาชนะดินเผา หม้อสามขา เครื่องมือเหล็ก ภาพเขียนสี อยู่ใน ถ้ำเขาสามบาตร ถ้ำเขาสาย ถ้ำเขาคุรำ ถ้ำเขาปินะ ถ้ำเขาไม้แก้ว ถ้ำเขาเทียมป่า เป็นถ้ำเขาลูกโดดกลางทุ่ง ถ้ำเขาเจ้าไหม ถ้ำเขาแบนะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ที่ ถ้ำวัดภูเขาทอง ถ้ำซาไก อีกด้วย ซึ่งน่าจะมีการอยู่อาศัยของมนุษย์มาแล้วไม่น้อยกว่า 5,000 ปีค่ะ

 

 

จังหวัดตรัง สมัยสุโขทัย

     ในสมัยนี้ เมืองตรัง นั้นเป็นเส้นทางผ่านของพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ภาคใต้ ตามตำนานของพระพุทธสิหิงค์ มีคำกล่าวว่าพระเจ้าร่วงแห่งกรุงสุโขทัยร่วมกับพระเจ้าสิริธรรมแห่งสิริธรรมนครส่งทูตไปขอพระพุทธสิหิงค์จากลังกา ส่วนในตำนานเมืองพัทลุงก็กล่าวถึงว่า นางเลือดขาวอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากลังกา และสร้างวัดพระศรีสรรเพชญพุทธสิหิงค์ไว้ที่ตรัง เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนในหลักศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ก็แสดงให้เห็นว่า มีการติดต่อระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับอินเดียและลังกา ซึ่งผ่านท่าเรือเมืองตรังนั่นเองค่ะ

 

จังหวัดตรัง สมัยอยุธยา     

     เมืองตรัง นั้นเป็นประตูแรกที่เปิดรับฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาในไทยเลย โดยเมื่อปี พ.ศ. 2054 โปรตุเกสตีมะละกาได้มีการส่งทูตไปกรุงศรีอยุธยา เพื่อทำสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โดยมาผ่านทางท่าเรือเมืองตรัง ซึ่งเข้าใจว่าสมัยนั้นเมืองตั้งอยู่ตรงบริเวณริมแม่น้ำตรังแถบอำเภอห้วยยอดค่ะ

 

 

     และมีการกล่าวถึงว่า วัดพระพุทธสิหิงค์และวัดพระงามที่ ตรัง รวมถึงมีการเล่าถึงถ้ำเขาสามบาตร หรือเขาสะบาป ตรงเพดานปากถ้ำอีกด้วย โดยแสดงให้เห็นว่าเมืองตรังนั้น มีชุมชนใหญ่ระดับเมืองอยู่ที่เขาสามบาตร ซึ่งมีทั้งขุนนางและกรมการเมือง รวมถึงพบร่องรอยคูเมืองและวัดคูเมืองที่อยู่ใกล้ๆ กันอีกด้วย และมีการส่งออกดีบุกและข้าวด้วยเช่นกัน

 

จังหวัดตรัง สมัยรัตนโกสินทร์

     ในสมัยนี้เมืองสำคัญของตรังคือ ปะเหลียน เป็นเมืองที่ขึ้นกับพัทลุง พอในปี พ.ศ. 2434 ก็ถูกยุบมาเป็นอำเภอหนึ่งของเมืองตรัง โดยเมืองตรังนั้นตั้งอยู่ที่ควนธานี จนถึงสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เป็นผู้ว่าราชการเมือง พระยารัษฎาฯ ก็ได้ย้ายที่ตั้งเมืองไปกันตังในปี พ.ศ. 2436 และพัฒนากันตังให้เป็นเมืองท่าสำคัญไว้ติดต่อกับต่างประเทศ และมีการส่งเสริมการเกษตรเพื่อส่งออกโดยเฉพาะ และมีการนำยางพาราเข้ามาปลูกจนเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศค่ะ

 

ANON KULSUWAN / Shutterstock.com

 

     จนมาถึงตอนที่เมืองตรังถูกจัดให้เป็นเมืองหนึ่งในมณฑลภูเก็ต จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้ย้ายที่ตั้งเมืองมาตั้งที่ตำบลทับเที่ยง ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2458 และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลก็ได้มีการยุบเลิกระบบมณฑล เลยทำให้ตรังมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาค่ะ

 

ที่มาของคำว่า ตรัง

     คำว่า ตรัง นั้น มีความหมายมาจากคำภาษามลายูแปลว่า สว่าง หรือ แจ่มแจ้ง ซึ่งหมายถึงว่า เมืองตรังเป็นเมืองแห่งรุ่งอรุณ อีกความหมายก็คือมาจากคำแปลว่า คลื่นหรือระลอก หมายถึงว่า เมืองตรังเป็นเมืองแห่งคลื่น ซึ่งหมายถึงคลื่นลมในทะเลหน้าเมืองตรังนั่นเองค่ะ

 

 

ตราประจำจังหวัดตรัง

     ตราประจำจังหวัดตรัง เป็นภาพของสะพานท่าเรือ โดยมีภาพของคลื่น ภูเขา ต้นไม้ และสะพานท่าเรือมีเสาโคมไฟ ซึ่งหมายถึงการเป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยก่อน ซึ่งทะเลที่มีคลื่นนั้นก็หมายถึงบริเวณพื้นที่ของเมืองตรัง และต้นไม้ ก็คือ ต้นยางพารา ที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์นำมาปลูกในจังหวัดตรังเป็นแห่งแรกค่ะ

 

คำขวัญประจำจังหวัดตรัง

“ เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา ”

 

 

สถานที่ท่องเที่ยวใน จังหวัดตรัง

     ตรัง เมืองสวยที่อันเงียบสงบ ทะเลสีคราม เกาะสวยงาม ดำน้ำฟิน รวมถึงมีที่เที่ยวชิคๆ ถ่ายรูปสวยอีกมากมายด้วย ไม่ว่าจะเป็น เกาะลิบง เกาะไหง เกาะกระดาน เกาะเหลาเหลียง เกาะมุก หาดปากเมง หาดเจ้าไหม เขาจมป่า ถ้ำมรกต สถานีรถไฟกันตัง เป็นต้น 

 

อ้างอิง https://ww2.trang.go.th/