เหตุการณ์นองเลือดแห่งรวันดา Rwandan Genocide ความไร้ปราณีที่ทำโดยคนชาติเดียวกัน
ถ้าจะให้เล่าถึง เหตุการณ์นองเลือดทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นที่รู้จัก และสะเทือนขวัญมาที่สุดในโลก หลายคนมักนึกย้อนไปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือใกล้ๆ หน่อยก็ที่ทุ่งสังหารในประเทศกัมพูชา แต่วันนี้ผมจะพาคุณไปรู้จักกับอีกเหตุการณ์ ที่แทบไม่น่าเชื่อว่าเพิ่งเกิดไม่นานมานี้เท่านั้น นั่นก็คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา ในปี 1994 ที่เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นเพียง 3 เดือน แต่มียอดผู้เสียชีวิตที่ถูกสังหารอย่างไร้ความปราณีสูงถึง 8 แสนคน
ประวัติศาสตร์ เหตุการณ์นองเลือดแห่งรวันดา
ชนพื้นเมืองในรวันดา
ก่อนอื่นคงต้องให้คุณรู้จักกับประเทศรวันดากันสักเล็กน้อย รวันดาเป็นประเทศขนาดเล็กในแอฟริกากลาง ในอดีตเคยเป็นอาณานิคมของเยอรมนี กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ตกเป็นอาณานิคมของเบลเยี่ยม และประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1962 ประชากรในรวันดาประกอบด้วยคนเชื้อสายทุตซี (Tutsi) 15% ฮูตู (Hutu) 84% และทวา 1%
ชาวทุตซีจะผิวออกขาวกว่า (พูดให้ถูกคือสีผิวอ่อนกว่า) หน้าตาจะออกแนวลูกผสมระหว่างอาหรับกับแอฟริกัน จมูกโด่ง ตัวสูง ส่วนชาวฮูตูจะมีผิวสีดำเข้ม รูปร่างเล็กว่าเล็กน้อย ซึ่งในความจริงแล้ว ทั้งฮูตู และทุตซีก็พูดภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน มีการแต่งงานระหว่างเชื้อชาติ มีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นปกติมานานแล้ว กระทั่งการมาถึงของเบลเยียม ประเทศเจ้าของอาณานิคม และ "บัตรประจำตัวประชาชน"
ชนวนเหตุแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา
เมื่อเจ้าอาณานิคมต้องการจะเข้ามาปกครองประเทศได้โดยง่าย แล้วสาเหตุอะไรล่ะ ที่จะทำให้เบลเยียมไม่ถูกรังเกียจ และถูกมองว่าเข้ามากดขี่ข่มเหงประชาชนชาวรวันดา นั่นก็คือการใช้นโยบาย "แบ่งแยกแล้วปกครอง" นั่นเอง โดยนำเอานโยบายการแบ่งชนชั้นให้ชัดเจน กำหนดให้มีการแบ่งแยกคนทั้ง 2 เชื้อสายอย่างชัดเจน โดยรัฐบาลอาณานิคมเลือกสนับสนุนชนเผ่าทุตซี เพราะเป็นชนชั้นปกครองเดิม ขณะที่ชนเผ่าฮูตูที่เป็นคนส่วนใหญ่กลับถูกกีดกันออกจากไปจากการปกครองประเทศ และกลายเป็นพลเมืองชั้นรองไป
ทั้งหมดนี้ กำหนดให้ประชาชนรวันดาทุกคนจะต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนที่มีการ "ระบุเผ่าพันธุ์" อย่างชัดเจน ใครเป็นอะไรก็จะถูกกำหนดไว้จนวันตาย และเมื่อชาวทุตซีนั้นมีสิทธิพิเศษในการดำเนินชีวิตมากกว่าชาวฮูตูมาก ชาวฮูตูก็อยู่เบื้องล่างเป็นฝ่ายถูกปกครองอย่างเดียว สร้างความอัดอั้นตันใจ และความเกลียดชังกันเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาพตัวอย่างบัตรประจำตัวของหญิงชาวทุตซี่คนหนึ่ง
ปี 1959 ชาวฮูตูจึงเริ่มลุกฮือ และล้มล้างระบอบการปกครองเดิมโดยชาวทุตซี ชาวทุตซีหลายหมื่นคนต้องอพยพลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้าน กระทั่งปี 1962 รวันดาจึงได้รับเอกราช โดยมีนายคายิบานดา (Grégoire Kayibanda) ผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อการปลดปล่อยฮูตู (Party of the Hutu Emancipation Movement) ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ
และ 100 วันแห่งการนองเลือดก็ได้เริ่มต้นขึ้น...
ความขัดแย้งทวีความรุนแรง
รัฐบาลเผด็จการของนายคายิบานดา ใช้นโยบายกดขี่ชาวทุสซีในฐานะชนกลุ่มน้อยของประเทศ เพื่อตอบโต้ที่ชาวทุสซีเคยกดขี่ชาวฮูตูมาเป็นเวลานาน และเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้กับชาวฮูตู จนกระทั่งในปี 1973 เขาถูกปฎิวัติโค่นอำนาจลงโดยนายฮัมยาริบมาน ซึ่งเป็นคนสนิทของเขาและเป็นชาวฮูตูเช่นกัน
ทางด้านชาวทุตซีจำนวนมากอพยพหนีไปอยู่ที่อูกานดา ก็ได้จัดตั้งกลุ่มต่อต้านขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งอูกานดา และสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า Rwandan Patriotic Front (RPF) และเริ่มเข้ายึดพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศรวันดา ความขัดแย้งระหว่างสองเผ่าพันธุ์นี้จึงมากขึ้น
จุดหักเหคือในคืนวันที่ 6 เม.ย. ปี 1994 เครื่องบินที่มีนายฮับยาริมาน ประธานาธิบดีรวันดา และไซเปรียน ทายามิรา ประธานาธิบดีของบุรุนดี โดยสารอยู่ถูกยิงตกทำให้ผู้โดยสารทั้งหมดเสียชีวิต สื่อมวลชนเริ่มโหมประโคมข่าวว่า พวกทุตซีเป็นคนสังหารฮับยาริมาน พร้อมทั้งได้เรียกร้องให้ชาวฮูตู ออกทำการสังหารชาวทุสซี่ทุกคนที่พบ หากชาวฮูตูผู้ใดเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ ถือว่าเป็นผู้ทรยศและจะต้องถูกสังหารเช่นเดียวกัน
จากนั้นการไล่ล่าฆ่าชาวทุตซีก็เริ่มต้นขึ้นในวันถัดมา วันที่ 7 เม.ย. 1994 นั่นเอง
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา การสังหารหมู่อย่างเลือดเย็น
ท้องถนนของกรุงคิกาลี เมืองหลวงของประเทศ และหมู่บ้านต่างๆ ทุกแห่งกลายเป็นแดนมิคสัญญี ฝูงชนชาวฮูตูผู้บ้าคลั่งออกทำการปิดถนน นำโดยกองกำลังติดอาวุธรวันดา (FAR) ออกไล่ล่าสังหารทั้งชาวทุตซี และชาวฮูตูสายกลางที่ให้ความช่วยเหลือชาวทุตซี ทั้งหมดนี้กระทำโดยแยกแยะจาก "บัตรประจำตัวประชาชน" ที่ในนั้นมีการระบุเชื้อชาติอย่างชัดเจนนั่นเอง โดยผู้บัญชาการกองกำลังสั่งว่า "ห้ามรอดแม้แต่คนเดียว" รวมถึงเด็กทารกก็ไม่เว้น จากนั้นทำการไล่ล่าแบบละเอียดยิบตามบ้าน ถ้าไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ก็ใช้วิธีดูเอาจากลักษณะสีผิวที่คล้ำน้อยกว่า ใครที่เป็นชนเผ่าทุตซีจะถูกฆ่าทิ้งทันที โดยมากเป็นการใช้มีดขนาดใหญ่ (machete) ที่ชาวรวันดาส่วนใหญ่มีไว้ในครอบครอง
By Scott Chacon from Dublin, CA, USA - Ntrama Church Altar, CC BY 2.0
ชาวทุตซีจำนวนมากพากันอพยพหลบหนี ไม่ก็ไปซ่อนตัวตามโบสถ์ แต่ก็ไม่อาจรอดพ้นจากการสังหารหมู่นี้ได้ ซ้ำร้ายยังเป็นเจ้าหน้าที่โบสถ์เสียเองที่ชี้เป้าที่ซ่อนตัวให้กับกองกำลัง แต่หากบาทหลวงหรือแม่ชีพยายามที่จะช่วยเหลือคนที่เข้ามาหลบในโบสถ์ ก็จะถูกสังหารไปด้วย
ผู้หญิงชาวทุตซีหลายพันคนถูกจับตัวไปเป็นทาสเพื่อสนองความต้องการทางเพศ เกิดการข่มขืนกระทำชำเราอย่างแพร่หลาย ทำให้มีการติดเชื้อเอชไอวีพุ่งสูงขึ้น ซึ่งรวมเด็กทารกที่เกิดจากการข่มขืนกระทำชำเรามารดาที่ติดเชื้อใหม่ด้วย
โปสเตอร์จากภาพยนตร์ Hotel Rwanda ที่สร้างจากเหตุการณ์จริงในรวันดา
ในเวลาเพียง 100 วัน ชาวทุตซี และชาวฮูตูที่ไม่ใช่พวกหัวรุนแรง รวม 8 แสนคน ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม นับว่าเร็วกว่าที่เยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ในการกำจัดชาวยิวเสียด้วยซ้ำ
รวันดา ในวันที่ถูกโลกทอดทิ้ง
สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดสำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็คือการที่โลกทั้งโลกแทบจะเพิกเฉย ไม่รับรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในรวันดาเลยแม้แต่นิดเดียว (ในประเทศไทยยิ่งแล้วใหญ่ เพราะบ้านเรานั้นห่างไกลจากเขามาก) ทาง UN หรือ องค์การสหประชาชาติเองก็ทำได้เพียงจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อการดูแลผู้อพยพออกจากรวันดาเพียง 250 คนเท่านั้น เพราะทางอเมริกาเห็นว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในรวันดา เป็นเพียงการจลาจลของประชาชน มิใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ค่ายผู้อพยพที่เมือง Zaire, 1994
หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปสามเดือน กว่าที่ทาง UN จะตัดสินใจส่งกองกำลังทหาร 5000 คนเข้าสู่รวันดา เหตุการณ์ก็จบลงไปก่อนแล้ว โดยกองกำลัง RPF ที่ได้เข้าบุกยึดกรุงคิกาลีเป็นผลสำเร็จ ปิดฉากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ลง ท่ามกลาซากปรักหักพัง และกองซากศพทั่วประเทศ
ปัจจุบัน ประเทศรวันดามีวันหยุดราชการสองวันเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์พันธุฆาตดังกล่าว ช่วงรำลึกแห่งชาติเริ่มด้วยวันอนุสรณ์พันธุฆาตในวันที่ 7 เมษายน และสิ้นสุดด้วยวันปลดปล่อยในวันที่ 4 กรกฎาคม สัปดาห์ถัดจากวันที่ 7 เมษายนกำหนดให้เป็นสัปดาห์ไว้ทุกข์อย่างเป็นทางการ
เส้นทางการเดินทางของกองกำลัง RPF ในการเข้ายึดเมืองหลวงคิกาลี
By User:Lemurbaby, CC BY-SA 3.0
นับได้ว่านี่เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์โลก ที่เพิ่งเกิดขึ้นเพียงไม่นาน แต่กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจในซีกโลกตะวันออกสักเท่าไหร่นัก ทั้งที่นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายขึ้น แต่ละฝ่ายถูกทำให้เกลียดกันจนมองไม่เห็นว่าอีกฝ่ายนั้นเป็น "มนุษย์" เหมือนกัน มันส่งผลที่ร้ายแรงจนคาดไม่ถึงได้ขนาดไหน...
เหนือกว่าอาวุธที่ใช้ประหัตประหารกัน ก็คงเป็นความคิดของ "คน" นั่นเอง
===============