รีเซต

เหตุการณ์นองเลือด จัตุรัสเทียนอันเหมิน เรื่องเศร้าในประวัติศาสตร์ประเทศจีน

เหตุการณ์นองเลือด จัตุรัสเทียนอันเหมิน เรื่องเศร้าในประวัติศาสตร์ประเทศจีน
Muzika
8 มิถุนายน 2562 ( 00:00 )
19.4K
2

     จัตุรัสเทียนอันเหมิน จะเรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ที่เราคุ้นตากันดีทุกครั้งที่นึกถึงประเทศจีน ที่นี่เป็นเคยเป็นจัตุรัสใจกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกกลางกรุงปักกิ่ง ความใหญ่โตโอ่อ่าของพื้นที่รอบๆ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างทึ่งในความกว้างขวางของมัน ทั้งความที่มันตั้งอยู่อย่างยาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง จึงเป็นสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมายจริงๆ ในหน้าประวัติศาสตร์จีน

 

 

     โดยเฉพาะ เหตุการณ์นองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมิน ในปีค.ศ. 1989 ที่เพิ่งครบรอบ 30 ปีไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2019 นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน ผู้ประท้วง และผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ในวันนั้นทุกคนต่างยังจำโศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้อย่างไม่ลืมเลือน จนทุกวันนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่ามีผู้เสียชีวิตกี่รายกันแน่ เนื่องจากรัฐบาลจีนไม่เคยออกมาเปิดเผย รวมถึงมาตรการที่มุ่งเซนเซอร์ทุกอย่างที่กล่าวถึงเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินในโลกไซเบอร์ทั้งหมด ไม่เคยมีการจัดงานรำลึกอย่างเป็นทางการ เหตุการณ์ในวันนั้นถูกตัดออกจากหนังสือประวัติศาสตร์ในจีนโดยสิ้นเชิง

 

     และใครก็ตามที่ถูกมองว่าพยายายามปลุกปั่น ประท้วง และรื้อฟื้นเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ก็สามารถถูกจับไปจำคุกได้ถึง 3 ปีครึ่ง

 

จัตุรัสเทียนอันเหมิน เหตุการณ์เศร้าในประวัติศาสตร์จีน

 

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ จัตุรัสเทียนอันเหมิน 15 เม.ย. 1989

 

จัตุรัสเทียนอันเหมิน 1988

โดย Derzsi Elekes Andor CC BY-SA 3.0

 

     ช่วงปี 1988 ประเทศจีนประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อสูงกว่า 30% ในหลายเมือง ผู้คนต่างไม่พอใจกับผลงานของรัฐบาลในช่วงนั้นเป็นอย่างมาก ถัดมาอีก 1 ปี หู เย่าปัง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ถือได้ว่าเป็นนักปฏิรูปในพรรคคอมมิวนิสต์ ถึงแก่อสัญกรรมไปวันที่ 15 เม.ย. 1989 กลุ่มผู้สนับสนุนเขาจึงพร้อมใจกันออกมาไว้อาลัย และประท้วงการปฏิรูปในจีนที่เป็นไปอย่างล่าช้า

 

     พร้อมๆ กันกับที่นักศึกษาจำนวนมากที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพออกมาชุมนุมพร้อมกันใจกลางกรุงปักกิ่งในวันนี้

 

การชุมนุมจัตุรัสเทียนอันเหมินที่เริ่มขยายวงกว้าง

 

     การประท้วงเริ่มขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ มีการประท้วงใหญ่เกิดขึ้นในเมืองซีอาน และฉางซา รวมถึงนักศึกษาจากกว่า 20 มหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่งประกาศชุมนุมต่อเนื่องอย่างไม่มีกำหนด และเริ่มมีการอดอาหารประท้วงเกิดขึ้น

 

     โดยหลักแล้วการชุมนุมครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพประชาชน เรียกร้องประชาธิปไตย ยุติอำนาจเผด็จการ นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องสภาพเงินเฟ้อ การปรับค่าจ้างแรงงาน และการปฏิรูปที่อยู่อาศัยประชาชน จนถึงจุดที่มีประชาชนกว่า 1 ล้านคน ชุมนุมกันใจกลางกรุงปักกิ่ง

 

การเจรจาที่ไม่เป็นผล

 

นายหลี่เผิง By World Economic Forum from Cologny, Switzerland. croped by Shizhao CC BY-SA 2.0

 

     นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้นคือนายหลี่เผิง พยายามพูดคุยกับตัวแทนนักศึกษา ให้หยุดการประท้วงอดอาหาร และออกจากจัตุรัส แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมานายจ้าว จื่อหยาง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ขณะนั้น เดินทางไปหากลุ่มนักศึกษา ขอให้หยุดประท้วงอดอาหาร และสัญญากับนักศึกษาว่า "พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจะไม่มีวันตามแก้แค้น" แต่กลุ่มนักศึกษาก็ปฏิเสธ

 

ประกาศกฎอัยการศึก

 

 

     20 พ.ค. 1989 สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นทุกขณะ ทางการจีนประกาศกฎอัยการศึก และมีกองกำลังทหารเข้าไปประจำการในกรุงปักกิ่ง เริ่มมีการล้อมรถถัง และสร้างสิ่งกีดขวางบนถนนหนทางไม่ให้กองทหาร (ซึ่งตอนนั้นยังไม่ติดอาวุธ) ผ่านเข้าไปถึงจัตุรัสได้

 

     กระทั่งในวันที่ 2 มิ.ย. สมาชิกอาวุโสในพรรคคอมมิวนิสต์จึงลงมติเห็นชอบ ให้ยุติการชุมนุมประท้วงโดยใช้กำลังเข้าสลาย เพราะรัฐมนตรีบางคนเชื่อว่าเหตุชุมนุมจะลุกลามบานปลายไปเป็นสงครามกลางเมืองในไม่ช้า และเชื่อว่ามีชาติตะวันตกมาอยู่เบื้องหลังเพื่อล้มล้างพรรคคอมมิวนิสต์

 

ปิดฉากความวุ่นวาย สู่คืนนองเลือด 3 มิ.ย. 1989

 

 

     สำหรับผู้ชุมนุมประท้วงที่รอดชีวิตมาได้ และผู้สูญเสียคนในครอบครัวจะยังคงจดจำโศกนาฏกรรมในคืนนั้นได้ไม่ลืมเลือน ช่วงหัวค่ำกองกำลังทหารจำนวนมากพร้อมรถถัง และยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ (APC) เริ่มขับไล่นักศึกษาออกจากพื้นที่

 

     ในคืนเกิดเหตุปราบปราม บรรดานักศึกษาที่ชุมนุมกันอยู่เข้าใจว่าตนมีเวลาอีก 1 ชั่วโมงเพื่อออกจากที่ชุมนุมในจัตุรัสเทียนอันเหมิน แต่หลังจากประกาศนั้นเพียง 5 นาที ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะของกองทัพก็เข้าโจมตี กองทหารเริ่มเปิดฉากยิงทันที พลเรือนจำนวนมากเสียชีวิตและบาดเจ็บ ทหารบางคนเองก็ถูกผู้ชุมนุมทำร้ายด้วยเช่นกัน บางส่วนก็ว่านักศึกษาถูกรถถังแล่นทับอย่างไม่ปราณี

 

 

     ปิดฉากค่ำคืนแห่งการนองเลือด ทางการจีนทำการยึดเทียนอันเหมินคืนได้เป็นผลสำเร็จ พร้อมทั้งการเก็บกวาดศพผู้เสียชีวิตบนท้องถนนทั้งหมดอย่างสะอาดหมดจด ราวกับว่าไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบนแผ่นดินจีนมาก่อน

 

     นับจากเหตุการณ์เริ่มต้นในเดือน เม.ย. 1989 การชุมชุมที่ยืดเยื้อนานถึง 6 สัปดาห์ ก็เป็นอันปิดฉากลงในที่สุด

 

ยอดผู้เสียชีวิตในเหตุจัตุรัสเทียนอันเหมิน

 

     แน่นอนว่ารัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะเปิดเผยเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับวันนี้ ไม่มีการชี้แจงจำนวนผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากเหตุการณ์ แต่จากการประมาณคาดกันว่าน่าจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 200 - 300 คน ไปจนถึงหลายพันคน

 

     โดยด้านสำนักข่าววอลสตรีทเจอร์นัลรายงานตัวเลขจากสภากาชาดจีน ว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,600 ราย ขณะที่บันทึกการทูตของเอกอัครราชทูตอังกฤษในจีน ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10,000 ราย

 

John YE / Shutterstock.com

 

     จนถึงปัจจุบันนี้ รัฐบาลจีนยังคงสั่งห้ามการกล่าวถึงเหตุการณ์ปราบปรามดังกล่าว รวมถึงมีกองกำลังตำรวจเฝ้าระวังหลายร้อยนายรอบจัตุรัสเทียนอันเหมินในช่วงวันที่ 3-4 มิ.ย. ของทุกปี ซึ่งการชุมนุมรำลึกถึงเหตุการณ์การปราบปรามการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินนั้น ยังคงมีการจัดเป็นประจำในฮ่องกง และมาเก๊า ซึ่งเป็นเพียง 2 สถานที่ในประเทศจีนเท่านั้นที่ประชาชนสามารถจัดงานรำลึกได้

 

ข้อมูลน่ารู้ของ จัตุรัสเทียนอันเหมิน

 

 

  • จัตุรัสเทียนอันเหมิน แปลว่า "ประตูสันติภาพอย่างสวรรค์"
  • มีความยาวตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ 880 เมตร ทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก 500 เมตร พื้นที่ทั้งสิ้น 440,000 ตารางเมตร สามารถจุประชากรได้ถึง 1,000,000 คน
  • ในอดีต จัตุรัสเทียนอันเหมิน มีบทบาทในฐานะประตูทางเข้าแห่งหนึ่งของพระราชวังต้องห้าม โดยมีชื่อเดิมว่า เฉิงเทียนเหมิน
  • ลานสี่เหลี่ยมด้านหน้าประตู เคยเป็นเวทีอันยิ่งใหญ่ของเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์จีนอย่าง "การประกาศปฎิรูปสาธารณรัฐประชาชนจีน" ในวันที่ 1 ตุลาคม 1949
  • ส่วนของจัตุรัสที่ปรากฏตามสื่อทั่วไป คือพลับพลาสีแดงที่มีรูปภาพของประธานเหมาเจ๋อตุงประดับอยู่เหนือซุ้มประตูเทียนอันเหมิน บนฝาผนังสองข้างของซุ้มประตูมีคำขวัญเขียนว่า “ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจงเจริญ” และ “ความสามัคคีประชาชนทั่วโลกจงเจริญ”

====================