รีเซต

มหาพีระมิดกีซาแห่งอียิปต์ Pyramid of Giza 1 ในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก โถงแห่งการกำเนิดใหม่ฟาโรห์

มหาพีระมิดกีซาแห่งอียิปต์ Pyramid of Giza 1 ในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก โถงแห่งการกำเนิดใหม่ฟาโรห์
Muzika
10 พฤษภาคม 2565 ( 15:35 )
87.6K
6

     ถ้าจะนึกถึงสิ่งก่อสร้างที่โบราณมากๆ และยิ่งใหญ่มากๆ ซักแห่ง ในความรู้สึกตั้งแต่เกิดมาคงไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่า มหาพีระมิดกีซา หรือ The Great Pyramid of Giza อายุกว่า 5,000 ปี ในประเทศอียิปต์อีกต่อไปแล้วล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องความสูง ความใหญ่ การก่อสร้างที่ต้องอาศัยการคำนวนอย่างละเอียดยิบ และปริมาณของคนงานที่จะต้องค่อยๆ ประกอบหินแต่ละก้อนที่หนักเป็นตันๆ อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นอย่างเดียวที่คนในยุคนี้ยังจินตนาการไม่ออกเลยว่า ถ้าได้ไปเห็นกับตาตัวเองตอนนั้นมันคงเป็นมหกรรมการสร้างที่น่าตื่นเต้นสุดๆ ไปเลย ด้วยความน่าทึ่งขนาดนี้จึงทำให้ที่นี่เป็น 1 ในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณด้วยครับ

 

 

     แต่กว่าจะเป็นสุดยอดพีระมิดในหมู่พีระมิดบนโลกนี้เนี่ย มีเรื่องราวต่างๆ นานาแทรกอยู่ในหินทุกๆ ก้อน ทุกๆ ชั้นของมันทั้งนั้นครับ ไม่ใช่แค่การประกาศความยิ่งใหญ่ขององค์ฟาโรห์เฉยๆ ซะทีเดียว มันมีความเกี่ยวข้องทั้งเรื่องความเชื่อ วิถีชีวิต อารยธรรม ไปจนถึงเรื่องของหมู่ดาวบนฟากฟ้านั่นเลยครับ ถ้าอยากรู้เรื่องของมหาพีระมิดแห่งนี้มากขึ้นแล้ว ลองมาอ่านข้อมูลที่รวบรวมมานี้ได้เลยครับ

 

มหาพีระมิดกีซาแห่งอียิปต์ Pyramid of Giza โถงแห่งการกำเนิดใหม่ฟาโรห์

 

จุดเริ่มต้นการสร้างพีระมิด

 

 

     ในประเทศอียิปต์เองนั้นมีพีระมิดกระจายอยู่มากมายทั่วประเทศนับ 100 แห่ง หน้าที่หลักของมันก็คือเป็นที่ฝังพระศพของกษัตริย์อียิปต์โบราณ หรือ ฟาโรห์ นั่นเองครับ และเพื่อให้แน่ใจว่าองค์ฟาโรห์จะมีข้าวของเครื่องใช้ และทรัพย์สินเงินทองที่เพียงพอสำหรับโลกหน้าอย่างสุขสบาย (ถึงตรงนี้ให้จำคำว่า "โลกหน้า" ไว้ก่อนนะครับ) นอกจากนั้นยังรวมถึงอาหาร เครื่องเรือน เครื่องดนตรี อาวุธ อุปกรณ์ล่าสัตว์ ไปจนกระทั่งรถศึกเทียมม้า

 

     บางครั้งก็ยังรวมถึงการประหารชีวิตคน เพื่อไปทำหน้าที่ในการเฝ้าสมบัติของพระองค์อีกด้วย...

 

สุสานแบบมาสตาบา ที่ซัคคารา

 

     สุสานในช่วงยุคแรกๆ ของชาวอียิปต์นั้นจะยังไม่ใช่ทรงพีระมิดแบบที่เราเห็นๆ กัน แต่จะแค่ขุดหลุมลงไปเป็นทรงสี่เหลี่ยม หรือวงรี แล้วค่อยฝังศพพร้อมกับข้าวของเครื่องใช้ลงไป กระทั่งการมาของการสร้างสุสานแบบ "มาสตาบา" (Mastaba) พีระมิดทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ซึ่งจะสามารถสร้างห้องไว้ภายในได้มากขึ้น เก็บของได้มากขึ้น จากนั้นจึงเป็นต้นแบบให้เกิดการสร้างพีระมิดแบบขั้นบันไดในยุคต่อๆ มา

 

 

ความเชื่อของชาวอียิปต์ ที่ส่งผลต่อการสร้างพีระมิด และการทำมัมมี่

 

 

     ชาวอียิปต์นั้นมีความเชื่อว่า คนที่ตายไปแล้วจะกลับคืนชีพขึ้นมาใหม่ เหมือนดวงอาทิตย์ที่หายลับขอบฟ้าในยามเย็น และกลับขึ้นมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น ฟาโรห์ทุกพระองค์ก็ล้วนถือว่าเป็นโอรสแห่งสุริยเทพที่ถูกส่งมาปกครองโลกมนุษย์ หลังจากฟาโรห์สิ้นพระชนม์ลงแล้ว พระองค์ก็จะไปประทับอยู่ในสถานที่ที่เรียกว่า "Duat" (ดุ-อัต) หรือโลกหลังความตาย ซึ่งมีเพียงผู้ที่ตายแล้วเท่านั้นจึงจะเดินทางมาอาศัยอยู่ยังโลกนี้ได้ และมีเพียงฟาโรห์เท่านั้นที่จะสามารถออกจากโลกหลังความตายกลับมาจุติใหม่ในร่างเดิมที่จัดเตรียมไว้อย่างดี หรือก็คือ "มัมมี่" นั่นเองครับ (แต่ในสมัยต่อๆ มาการทำมัมมี่ก็แพร่หลายสู่ขุนนาง ชนชั้นสูง สามัญชน แม้กระทั่งสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าอย่างเช่น แมว ด้วย จึงมีการทำมัมมี่กันเป็นปรกติ ไม่เฉพาะฟาโรห์)

 

การทำมัมมี่

 

     ส่วนการที่ต้องเก็บรักษาร่างไว้ในรูปแบบของการทำมัมมี่นั้น ก็เพราะเมื่อตายแล้ว วิญญาณ หรือ “คา” (ka) เป็นสิ่งที่ไม่ดับสูญ จะกลับเข้าร่างฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง แต่หากร่างสูญหาย หรือถูกทำลายไปก็เหมือนไม่มีภาชนะให้ "คา" กลับไปได้นั่นเอง ไม่ใช่แค่ร่างนะครับ ยังรวมถึงอวัยวะภายในต่างๆ ที่จะถูกเอาออกมาจากร่าง แล้วเก็บรักษาไว้ในภาชนะอย่างดี ฝังไว้ในที่เดียวกันกับศพครับ

 

     เรียกได้ว่า หากองค์ฟาโรห์กลับมาเกิดใหม่แล้ว ก็พร้อมจะเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างยิ่งใหญ่ได้ทันทีเลยล่ะครับ

 

 

พีระมิดแห่งกีซา Pyramid of Giza 1 ในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

 

By MesserWoland, CC BY-SA 3.0

 

     มาที่พีระมิดที่เป็นภาพจำ และติดตาของชาวโลกมากที่สุดกันบ้าง นั่นคือ "มหาพีระมิดแห่งกีซา" ซึ่งจะเอาไว้เรียกกลุ่มพีระมิดของฟาโรห์ในยุคราชวงศ์ที่ 4 ซึ่งประกอบไปด้วยพีระมิดของฟาโรห์คูฟู (Khufu) คาเฟร (Khafre) และเมนคาอูเร (Menkaure) ซึ่งพีระมิดที่ใหญ่ที่สุด ที่เรียกกันว่ามหาพีระมิดแห่งกีซานั้นก็คือของฟาโรห์คูฟู นั่นเองครับ

 

พีระมิดของฟาโรห์คูฟู

 

     พีระมิดของฟาโรห์คูฟูนั้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคเก่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และยังคงตั้งตระหง่านอยู่เพียงแห่งเดียวในโลก ใช้เวลาสร้างราว 20 ปี มีตัวเลขทางสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้ครับ

 

  • ฐานของพีระมิดแห่งนี้มีความกว้างถึง 570,000 ตาราง 768 ฟุต บริเวณฐานพีระมิด 4 ด้านนั้น มีความกว้างยาวเท่ากัน คือ 755 ฟุต หรือ 230.12 เมตร จะแตกต่างกันมากน้อยแค่ 8 นิ้ว

  • ตัวมหาพีระมิดนี้สูงประมาณ 432 ฟุต (จากการค้นพบในครั้งแรกเดิมพีระมิดมีความสูงที่ 481.4 ฟุต คาดว่าน่าจะเกิดจากความสึกกร่อน ปัจจุบันรัฐบาลอียิปต์ได้ดำเนินการติดตั้งโครงโลหะที่ยอด เพื่อให้เทียบเท่ากับความสูงที่แท้จริง) ประมาณได้ว่ามีหินก้อนมหึมาถึง 2,300,000 ก้อน หนักกว่า 6,000,000 ตัน แต่ละก้อนหนักถึง 2.5 ตัน บางก้อนหนักถึง 16 ตัน กว้างยาวประมาณ 3 ฟุต หรือ 1 เมตร

  • หินตรงส่วนฐานของพีระมิดจัดวางได้เสมอกัน มีความคลาดเคลื่อน เพียงไม่ถึง 2.5 เซนติเมตร และแต่ละด้านของฐานพีระมิด มีความกว้างคลาดเคลื่อนจากกัน เพียงไม่เกิน 8 นิ้ว หรือคิดเป็นเพียง 0.09 % ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับขนาดงานก่อสร้าง และระดับเทคโนโลยีในยุคสมัยนั้น

 

 

วิธีการสร้างมหาพีระมิดแห่งกีซา

 

     นับเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากๆ เพราะในตอนนั้นที่ยังไม่มีปั้นจั่น ไม่มีรถลาก การเคลื่อนย้ายหินหนักเป็นตันทำกันด้วยแรงคนล้วนๆ ใช้แรงงานลากเข็นไปบนแคร่ไม้ โดยมีการราดน้ำเพื่อช่วยลดแรงเสียดทาน การเคลื่อนย้ายวัตถุน้ำหนักมากๆ ด้วยวิธีนี้มีหลักฐานเป็นภาพแกะสลักนูนต่ำบนฝาผนังหิน แถมหินที่นำมาใช้สร้างพีระมิดนี้ก็ไม่ได้อยู่ในแถวนั้นเลยด้วย ต้องขนส่งมาจากเหมืองหินปูนที่อยู่ห่างออกไปนับร้อยไมล์ โดยล่องมาตามแม่น้ำไนล์

 

 

     ส่วนการลำเลียงหินขึ้นไปวางบนชั้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงยอดนั้นยังเป็นปริศนา และมีหลากหลายทฤษฎีการสร้างมาก ได้แก่

  • แนวคิดแรกเริ่มเชื่อกันว่าชาวอียิปต์โบราณใช้วิธีสร้างทางลาดบริเวณด้านข้างของพีระมิด และชักลากหินขึ้นตามทางลาดที่ก่อสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความสูงของระดับการก่อสร้างจนถึงจุดสูงสุดยอด และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจึงทำการรื้อทางลาดดังกล่าวออก คงเหลือไว้แต่พีระมิดที่สร้างเสร็จแล้ว

  • สร้างเป็นทางวนรอบพีระมิด หรือบางทีแต่ละชั้นของพีระมิดนั่นเองคือทางที่ใช้ชักลากหินขึ้นสู่ชั้นถัดไป ผ่านทางลาดขนาดเล็กที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างแต่ละชั้น

 

 

     จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสรุปวิธีการลำเลียงหินที่แท้จริงได้ และยังคงมีทฤษฎีใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ตามหลักฐานใหม่ที่ค้นพบอยู่ทุกวันในอียิปต์ครับ นี่ยังไม่รวมถึงวิธีการสกัดหิน และตัดแต่งแต่ละก้อนให้มีความราบเรียบเนียนกริบ ที่ ณ เวลานั้นโลกยังไม่เข้าสู่ยุคเหล็กเลยด้วยซ้ำ แต่ก็มีการค้นพบอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ อย่างเช่นไม้วัดระดับแนวราบ และสายดิ่งที่ใช้ตรวจสอบผิวหน้าหินในแนวตั้ง โดยใช้ลิ่มหินควอตซ์ (Quartz) ซึ่งเป็นหินอัคนีความแข็งสูงในการขัดแต่งผิวหน้าของหินแต่ละด้านให้เรียบ ช่างหินอียิปต์โบราณสามารถสร้างผลงานดีเยี่ยม จนผิวสัมผัสระหว่างหินแต่ละก้อนห่างกันเพียง 0.02 นิ้วเท่านั้น

 

 

แรงงานในการสร้างมหาพีระมิดแห่งกีซา

 

 

     แต่ก่อนนั้นเชื่อกันว่าพีระมิดจะสร้างขึ้นโดยใช้แรงงานทาส แต่ในความจริงแล้ว จากหลักฐานที่พบล้วนชี้ว่า แรงงานที่มาสร้างพีระมิดนั้นเป็นชาวอียิปต์ที่ทำงานด้วยความสมัครใจเอง ! ในระหว่างฤดูน้ำหลากว่างเว้นจากงานเกษตรกรรม ชาวบ้านก็จะมาร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นอาหาร หรือบางครั้งอาจมีการจดบัญชีไว้เพื่อรับค่าตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ ด้วย อีกอย่างคือช่วงน้ำหลาก ระดับน้ำในแม่น้ำไนล์จะท่วมสูงขึ้น ทำให้เหมาะแก่การล่องเรือขนย้ายหิน การสร้างพีระมิดจึงเป็นการก่อสร้างที่ใช้เวลานาน เพราะมันมีฤดูกาลที่เหมาะสมในการทำนั่นเอง

 

     พอมาคำนวนแล้ว จากจำนวนหินที่ใช้ก่อสร้าง 2,300,000 ก้อน หารด้วยระยะเวลาก่อสร้าง ปีละ 3-4 เดือนในฤดูน้ำหลาก รวม 20 ปี จะพบว่าต้องสกัดหินให้ได้ประมาณ 1,000 ก้อนต่อวัน ต้องมีแรงงานขนหินออกจากเหมืองมายังแม่น้ำ แรงงานสำหรับควบคุมการขนส่งมายังพื้นที่ก่อสร้าง และแรงงานสำหรับยกหินขึ้นฝั่งที่ปลายทาง ถ้าทั้งหมดนี้ใช้คนทั้งสิ้นประมาณ 10 คนต่อหิน 1 ก้อนจะต้องมีแรงงานในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน

 

     มาด้านบริเวณไซต์ก่อสร้างบ้าง ยังต้องแบ่งงานหลายๆ ส่วน ทั้งแรงงานสำหรับขนย้ายหิน ช่างฝีมือในการตัดแต่งหิน รวมกันแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นคนในระหว่างการก่อสร้างแต่ละปี

 

     นับเป็นสุดยอดเมกะโปรเจกต์ในยุคก่อนคริสตกาลจริงๆ ครับ แม้จะยังคงมีบ้างบางส่วนที่คิดว่างานช้างระดับนี้ น่าจะมีมนุษย์ต่างดาวมาช่วยสร้างด้วยเป็นแน่แท้ อันนี้ก็แล้วแต่ความเชื่อใครความเชื่อมันแล้วล่ะครับ อ่านเพิ่มเติมได้ใน --> 11 สถานที่ลึกลับรอบโลก มนุษย์ต่างดาวเคยมาเยือน

 

 

ความเชื่อมโยงของพีระมิดกับกลุ่มดาวบนฟากฟ้า

 

     แม้เรื่องการสร้างจะยังคงถกเถียงกันอยู่ แต่ส่วนที่นักอียิปต์วิทยาค่อนข้างจะมั่นใจมากๆ ว่าต้องใช่แน่ๆ ก็คือชาวอียิปต์นั้นจะต้องใช้ความรู้ด้านดาราศาสตร์ มาออกแบบมหาพีระมิดแห่งกิซ่าด้วยอย่างแน่นอน เพราะตำแหน่งมหาพีระมิดทั้งสามองค์แห่งกิซ่านั้น ขนานกับทิศทั้งสี่ตามเข็มทิศอย่างแม่นยำ สมัยนั้นยังไม่มีเข็มทิศนะครับ ดังนั้นทางเดียวที่จะสร้างได้เป๊ะๆ ก็จะต้องอาศัย "ดวงดาว" นั่นเอง โดยใช้ดาวเหนือเป็นจุดอ้างอิง แล้วจดบันทึกเส้นทางของดวงดาวต่างๆ เอาไว้

 

 

     ซึ่งหนึ่งในแนวคิดที่ถูกเสนอเกี่ยวกับมหาพีระมิดแห่งกิซ่า (แต่นักอียิปต์วิทยาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้) นั่นคือพีระมิดทั้งสามองค์อาจจะตั้งขึ้นเลียนแบบ “เข็มขัด” ของกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ซึ่งก็เป็นหนึ่งในกลุ่มดาวที่สำคัญกับชาวลุ่มน้ำไนล์มาก

 

     อีกทฤษฎีก็คือ ตำแหน่งการเรียงกันของพีระมิดทั้งสามนั้นอาจเป็นเรื่องของสภาพภูมิประเทศในบริเวณที่ราบกิซ่า บริเวณปลายสุดด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพีระมิดทั้งสามองค์ตั้งอยู่ชิดกับขอบสันเขา เมื่อพีระมิดที่ได้รับการออกแบบให้ขนานกับทิศทั้งสี่อย่างแม่นยำมาตั้งอยู่ในบริเวณนี้จึงทำให้มันต้องเรียงตัวเป็นแนวทแยงมุมตามแนวสันเขาไปด้วย

 

 

     จะเห็นได้ว่ายิ่งมีการค้นพบหลักฐานใหม่ขึ้นมา ก็จะมีคำถามใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เช่นกัน เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่แม้จะถูกค้นพบมานานแล้ว ก็ยังมีเรื่องราวที่รอค้นหาต่อไปเรื่อยๆ จริงๆ 

====================