รีเซต

วิธีทำ tax refund ขอคืนภาษีช้อปปิ้งที่ญี่ปุ่น ซื้อของที่ร้านแบบปลอดภาษี

วิธีทำ tax refund ขอคืนภาษีช้อปปิ้งที่ญี่ปุ่น ซื้อของที่ร้านแบบปลอดภาษี
Muzika
10 กุมภาพันธ์ 2566 ( 14:06 )
51.2K

     หนึ่งในสิทธิพิเศษของนักท่องเที่ยวต่างชาติสายช้อป นั่นก็คือการที่เราได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เวลาไปซื้อของตามห้าง หรือตามร้านค้าต่างๆ ในญี่ปุ่นนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ของเล่น ของใช้ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า เรียกได้ว่าไปทั้งทีต้องเอาให้คุ้ม! ทีนี้ไม่ใช่ว่าเดินดุ่มเข้าร้านไปซื้อของแล้วจะได้ราคาปลอดภาษีเลยซะที่ไหน วันนี้เราเลยมีวิธีทำ tax refund ขอคืนภาษีเมื่อไปช้อปปิ้งที่ญี่ปุ่น มาฝากกัน

 

DerekTeo / Shutterstock.com

 

รู้จัก Japan Tax Refund ระบบการซื้อของแบบงดเว้นภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว

 

StreetVJ / Shutterstock.com

 

     สิ่งแรกที่เราต้องสังเกตุก่อนหน้ามืดตามัวเข้าร้านทุกครั้ง คือดูป้ายสัญลักษณ์ "Japan Tax-free Shop" “Tax Refund” หรือ “Tax-Free” เป็นต้น นั่นแปลว่าร้านนั้นเราซื้อของแบบปลอดภาษีได้ ต้องอธิบายก่อนว่าที่ญี่ปุ่นนั้น นอกจากจะมีราคาสินค้าตามป้ายอยู่แล้ว ยังมีคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 8% ด้วย ดังนั้นสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ จึงได้รับการงดเว้นภาษีตรงนี้ไป ซึ่งทางญี่ปุ่นเริ่มใช้มาตรการนี้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557

 

ใครบ้างที่ขอยกเว้นภาษีได้?

 

  • ชาวต่างชาติ ที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่เข้ามายังประเทศญี่ปุ่น หรือก็คือนักท่องเที่ยวอย่างเรานั่นเอง
  • บุคคลสัญชาติญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ และเดินทางกลับเข้าประเทศญี่ปุ่นชั่วคราวเป็นระยะเวลาน้อยกว่า 6 เดือน
  • บุคคลที่ถือหนังสือเดินทาง ที่มีสิทธิในการพำนักในสถานะ “นักการทูตหรือข้าราชการ” (มีสิทธิพำนักเกิน 6 เดือนหลังจากวันที่เข้ามายังประเทศญี่ปุ่น)

 

สินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีในญี่ปุ่น

 

Quality Stock Arts / Shutterstock.com

 

     สินค้าที่มีมูลค่ารวมในการซื้อสินค้า ณ ร้านค้าสาขาเดียวกัน และในวันเดียวกัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังต่อไปนี้ (สินค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้จะไม่สามารถนำยอดซื้อมารวมกันได้ )

 

  • สินค้าทั่วไป (General Items) เช่น กระเป๋า, รองเท้า, เสื้อผ้า,นาฬิกา,เครื่องประดับ ฯลฯ ที่มีมูลค่ารวมในการซื้อสินค้าต่อ 1 ท่านใน 1 วัน ณ ร้านค้าเดียวกัน ตั้งแต่ 5,000 เยนขึ้นไป 
  • สินค้าสิ้นเปลือง หรือสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumables) เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง ที่มีมูลค่ารวมในการซื้อสินค้าต่อ 1 ท่าน ใน 1 วัน ณ ร้านค้าเดียวกัน ตั้งแต่ 5,000 เยน – 5 แสนเยน (ก็คือยอดซื้อสูงสุดได้ไม่เกิน 500,000 เยนสำหรับกลุ่มนี้)


     ย้ำอีกทีว่าว่า การทำ Tax Refund ต้องทำหลังจากที่ซื้อสินค้าทันที ไม่ใช่ว่าซื้อสินค้าวันนี้แล้วลืมขอ จะไปขอภาษีคืนที่ร้านในวัดถัดไปไม่ได้แล้ว อีกข้อสำคัญก็คือ เจ้าหน้าที่จะห่อสินค้าที่ทำ Tax Refund ให้อย่างดีเป็นพิเศษ เราไม่สามารถเปิดใช้ หรือถ้าเป็นของกินก็จะไม่สามารถเปิดกินได้ จนกว่าจะกลับประเทศไปแล้ว เผื่อกรณีที่สนามบินมีการสุ่มตรวจขึ้นมา หากไม่พบสินค้าเนื่องจากถูกใช้หรือกินไปแล้ว จะต้องเสียภาษีส่วนต่างเพิ่มเติม

 

ขั้นตอน วิธีการทำ tax refund

 

Terence Toh Chin Eng / Shutterstock.com

 

     วิธีการขอคืนภาษีจะแบ่งออกเป็น 2 วิธีหลักๆ ต่างกันออกไปแล้วแต่ร้าน ดังต่อไปนี้ 

 

1. จ่ายเงินตามราคาสินค้าจริงโดยไม่ต้องเสียภาษี

 

     วิธีนี้ เมื่อซื้อสินค้าเสร็จแล้ว ให้บอกพนักงานตอนคิดเงินเลยว่าต้องการทำ Tax Refund จากนั้นก็ยื่นพาสปอร์ตของเราให้พนักงานดู รอให้พนักงานดำเนินการ เมื่อเรียบร้อยแล้วเราก็จะสามารถจ่ายเงินตามราคาสินค้าจริงโดยไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนมากจะเป็นร้านขายยา หรือร้านค้าขนาดเล็กทั่วไป

 

2. ชำระเงินค่าสินค้าก่อน แล้วค่อยไปขอคืนภาษี

 

     ซื้อสินค้า และชำระเงินให้เรียบร้อยก่อน (ค่าสินค้ารวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 8% แล้ว) อย่าลืมแจ้งว่าต้องการทำ Tax Refund ด้วย เสร็จแล้วนำใบเสร็จ และสินค้าที่ซื้อมา พร้อมกับพาสปอร์ตของเราไปยื่นที่เคาน์เตอร์ซึ่งจัดโซนแยกไว้สำหรับทำ Tax Refund โดยเฉพาะ (มักเขียนไว้ว่า Tax Free Counter) เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการให้โดยคืนเงินส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 8% ให้ วิธีนี้ส่วนมากจะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าขนาดใหญ่ เพื่อลดความแออัดของบิเวณหน้าเคาท์เตอร์จ่ายเงินนั่นเอง

 

     ทั้งนี้ทั้งนั้น แต่ละร้านก็อาจมีวิธีต่างออกไปอีกเล็กน้อย ก็ขอให้ศึกษากันไว้ให้ดี ยกตัวอย่างจากประสบการณ์จริง ก็เช่นห้าง ดองกิ (Don Quijote) ขวัญใจนักช้อปชาวไทยนั่นเอง ที่ขอคืนภาษีได้เช่นกัน แต่จะยกเว้นบางแผนก เช่น แผนกยา ที่ถ้าหยิบของจากโซนนี้มาจะต้องจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ยาให้เรียบร้อยก่อน ไม่สามารถหยิบมาคิดเงินรวมกับของจากแผนกอื่นได้ เป็นต้น หลังจากชำระเงินเรียบร้อยค่อยเอาของทั้งหมดไปที่เคาน์เตอร์ Tax-Refund เพื่อทำเรื่องขอคืนภาษีอีกที

 

 

     ไม่ว่าจะซื้อที่ร้านไหน เจ้าหน้าที่จะออก "ใบบันทึกรายการสินค้าปลอดภาษีอากรขาออก" แล้วติดใบดังกล่าวไว้ในพาสปอร์ตของเราเลย (ยิ่งซื้อเยอะยิ่งติดแบบยาวเหยียดเลย ช่วยไม่ได้) ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่สนามบินมาตรวจพาสปอร์ต และสินค้าที่ซื้อมา แล้วดึงใบนี้เก็บไปในตอนที่เดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง ฉะนั้นห้ามดึงออกก่อนขึ้นเครื่องบินกลับบ้านเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะโดนปรับเอาได้

 

ร้านค้าที่ขอภาษีคืนได้ ในญี่ปุ่นมีที่ไหนบ้าง?

 

Hannari_eli / Shutterstock.com

 

     ตามแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป เราจะเห็นว่ามีป้าย Tax Free ติดไว้หน้าร้านชัดเจนอยู่แล้ว รวมถึงห้างร้านใหญ่ๆ และร้านสะดวกซื้อทั่วไปก็ด้วย รายชื่อร้านหลักๆ ก็ได้แก่

  • ยูนิโคล่
  • บิ๊กคาเมร่า
  • ยามาดะเด็นกิ
  • ดองกิ โฮเต้
  • มัทสึโมโตะ คิโยชิ
  • อิออน
  • เอาท์เล็ทมอลล์ต่างๆ 
  • ห้างสรรพสินค้าต่างๆ
  • ร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น, แฟมิลี่มาร์ท, ลอว์สัน เฉพาะบางสาขา และจำเป็นต้องแสดงพาสปอร์ตที่แคชเชียร์

 

ข้อควรรู้อื่นๆ เกี่ยวกับ Tax Refund

 

  • หลังจากที่ทำเรื่องขอคืนภาษีแล้ว แต่อยากเอาของมาใช้ในช่วงที่ยังอยู่ญี่ปุ่น ถ้าเป็นสินค้าทั่วไป สามารถใช้ได้เลย แต่ถ้าเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคห้ามใช้เด็ดขาด ไม่เช่นนั้นการขอภาษีคืนจะเป็นโมฆะ
  • เนื่องจากศุลกากรของญี่ปุ่นอยู่ถัดจากเคาน์เตอร์เช็คสัมภาระ ฉะนั้น โดยทั่วไปแล้วจะต้องนำของที่ทำการขอคืนภาษีแล้วติดตัวขึ้นเครื่องไปด้วย เพื่อที่ศุลกากรจะสามารถเช็คของได้ แต่ถ้าเป็นเครื่องดื่ม หรือเครื่องสำอางที่เป็นของเหลว ให้ใส่กระเป๋าโหลดใต้เครื่องได้ แต่ให้แจ้งตอนที่ผ่านศุลกากรว่าได้ทำการใส่สิ่งของเหล่านั้นไว้ที่กระเป๋าโหลดใต้เครื่อง
  • ของที่ถูกยกเว้นภาษีไม่สามารถส่งต่อให้กับบุคคลที่สามได้ ผู้ที่ถือกลับจะต้องเป็นผู้ที่ซื้อเท่านั้น

====================