บาบิโลน Babylon เมืองโบราณมรดกโลก เปิดอาณาจักรเมโสโปเตเมีย
บาบิโลน (Babylon) อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ในยุค เมโสโปเตเมียโบราณ (Mesopotamia) อายุ 4,000 ปี ที่เพิ่งได้รับการรับรองขึ้นเป็นพื้นที่มรดกโลกในปี 2562 นับว่าเป็นอีกหนึ่งเมืองโบราณที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมโบราณโลก ที่แม้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ของชนชาติในบริเวณนี้จะค่อนข้างสับสนอยู่มาก เพราะมีการรบพุ่งกันตลอดเวลา ผู้ชนะได้ยึดครองทุกอย่าง แต่การคงอยู่ของเมืองบาบิโลนนี่เอง ที่เป็นหลักฐานชั้นเยี่ยมของความรุ่งเรืองในอดีตกาล ครั้งนี้เราจะพาไปเที่ยวถึงประเทศ อิรัก อันเป็นที่ตั้งของ อาณาจักรบาบิโลน นั่นเองครับ
ที่ตั้งของนครบาบิโลน Babylonia Kingdoms
นครบาบิโลนนั้นตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไทกริส (Tigris) และยูเฟรทีสตอนล่าง (Euphrates) ซึ่งปัจจุบันคือดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศอิรัก อย่างที่เราเกริ่นไปตอนต้นว่าที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ซึ่งเป็นคำกรีกโบราณ (meso = กลาง + potamia = แม่น้ำ) จึงมีความหมายว่า "ดินแดนระหว่างแม่น้ำ (ไทกริสกับยูเฟรทีส)" ด้วยภูมิประเทศแบบนี้เองจึงทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ผู้คนจากหลากหลายอาณาจักรล้วนเดินทางมายังดินแดนบริเวณนี้เพื่อทำมาหากิน และสร้างอารยธรรมของตัวเอง
เฮอรอโดทัส (Herodutus) บิดาแห่งประวัติศาสตร์ชาวกรีก บันทึกไว้ว่า นครบาบิโลนมีพื้นที่ 630 ตารางกิโลเมตร มีอาคารที่สร้างด้วยอิฐดินสีน้ำตาลขุ่น เพราะได้จากการขุดดินโคลนมาทำ เมืองมีกำแพงล้อมยาว 100 กิโลเมตร และหนา 7 เมตร กำแพงมีประตูที่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ 100 บาน สำหรับประชาชนในการเข้า-ออกเมือง และมีประตูสำคัญที่สุดคือ ประตูอิชทาร์ (Ishtar Gate) ที่สูง 23 เมตร ประดับด้วยกระเบื้องสีน้ำเงินเรียงกันเป็นรูปสัตว์ชื่อ Mushhushshu ที่มีศีรษะเป็นมังกร ลำตัวเป็นวัว สองขาหน้าเป็นขาแมว สองขาหลังเป็นขานกอินทรีย์ และมีหางเป็นหางแมงป่อง
pio3 / Shutterstock.com
(ปัจจุบันประตูอิชทาร์ที่อยู่ในเมืองบาบิโลนนั้นเป็นของจำลอง ประตูจริงถูกนำไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์เพอร์การมอน กรุงเบอร์ลิน)
ชาวบาบีโลเนียนนับถือเทพมาร์ดุค (Marduk) เป็นเทพสูงสุด ผู้ทรงควบคุมการเคลื่อนที่ของดาวทุกดวงในท้องฟ้า และทรงเป็นเทพผู้ปกป้องเมือง ในวันขึ้นปีใหม่ประชาชนจะนำรูปปั้นของเทพมาร์ดุคขึ้นรถม้า เดินนำขบวนผ่านประตูเมืองอิชทาร์ (Ishtar) ไปตามถนนให้ชาวบ้านได้สักการะทั่วกัน
เมื่อต่างคนต่างต้องการครอบครองแผ่นดินที่มีทั้งความสงบ และอุดมสมบูรณ์ ทำให้บริเวณแถบนี้มีการทำสงคราม รบพุ่งกันอยู่เนืองๆ ทั้งเมืองอูรุก เมืองเอชนันนา เมืองอัสสูร์ เมืองมารี ฯลฯ กระทั่งสงครามมาจบลงที่ชัยชนะของเมืองบาบิโลน ซึ่งตั้งตัวเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร และมีอายุยืนยาวต่อมาถึง 423 ปี (2,017 ถึง 1,594 ปีก่อนคริสตกาล)
====================
ชาวสุเมเรียน ชนกลุ่มแรกแห่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย
การจะเริ่มต้นเล่าถึงบาบิโลเนียโดยไม่กล่าวถึงกลุ่มชนแรกในดินแดนแถบนี้เห็นจะไม่ได้ นั่นคือ ชาวสุเมเรียน (Sumerian) ที่มาเริ่มต้นลงหลักปักฐานในแถบนี้ ช่วงราวๆ 4,000 - 3,500 ปีก่อนคริสตกาล โดยเมืองสำคัญๆ ในช่วงแรกนี้ก็ได้แก่ อูร์ (Ur), อุรุก (Uruk), ลากาซ (Lagash), และนิปเปอร์ (Nippur) อารยธรรมของชนกลุ่มนี้ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วเพราะมีการสร้าง ตัวอักษรลิ่มคูนิฟอร์ม (Cuneiform) ซึ่งถือเป็นตัวอักษรแรกของโลกเลยก็ว่าได้ รวมไปถึงระบบตัวเลขต่างๆ ด้วย
แต่ด้วยความมั่งคั่ง และอุดมสมบูรณ์นี้ เลยทำให้เมืองแถวนี้เป็นที่ต้องตาของชนชาติอื่น ไม่ว่าจะชาวอัคคาเดียน (Akkadian Empire) ชาวอัสซีเรีย (Assyrian) แต่ที่สำคัญก็คือชาวอะมอไรต์ (Amorite) ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าทะเลทรายที่บุกเข้าโจมตีดินแดนของชาวสุเมเรียน และได้สร้างนครที่สำคัญอย่างบาบิโลนขึ้นมา ช่วงประมาณ 1,792 จนถึง 1,750 ปีก่อนคริสตกาล และก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดภายใต้การปกครองของ ฮัมมูราบี (Hammurabi) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของบาบิโลน ผู้ครอบครองดินแดนเมโสโปเตเมียไว้ได้ทั้งหมดนั่นเอง
====================
พระเจ้าฮัมมูราบี (Hammurabi)
กษัตริย์องค์แรกแห่งจักรวรรดิบาบิโลน
พระเจ้าฮัมมูราบี (1,792-1,750 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นกษัตริย์องค์ที่ 6 ของชาวอะมอไรต์ และพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งจักรวรรดิบาบิโลน ผู้ขับไล่กองทัพข้าศึกออกจากอาณาจักรได้อย่างราบคาบ บ้านเมืองมีความสงบสุข มึความรุ่งเรืองด้านอักษรศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างประมวลกฎหมายของพระเจ้าฮัมมูราบี (The Code of Hammurabi) จารึกอยู่บนแท่งหินดิโอไรท์สีดำ สูง 2 เมตร 40 เซนติเมตร ซึ่งท่านต้องจัดระบบกฎหมายใหม่เพื่อให้เกิดความสะดวกในการบริหารเมือง เมืองที่ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ในขอบขัณฑสีมาของท่านให้เป็นหนึ่งเดียว
กฎหมายของฮัมมูราบีนั้นนับได้ว่าเป็นระบบประมวลกฎหมายแรกของโลก แบบระบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” แม้บทลงโทษตามกฎหมายฮัมมูราบีอาจดูว่าโหดเหี้ยมตามความคิดของผู้คนในยุคนี้ แต่การทำกฎหมายให้เป็นลายลักษณ์อักษร และพยายามใช้บังคับอย่างเป็นระบบกับทุกคน และการ “ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าผิด” ที่นับเป็นวิวัฒนาการทางอารยธรรมที่สำคัญของมนุษย์
ปัจจุบัน แท่งศิลาจารึกของพระเจ้าฮัมมูราบีของจริงนั้นตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ลูฟในกรุงปารีส
====================
การล่มสลายของจักรวรรดิบาบิโลน (เก่า)
ก็เป็นดั่งเช่นอาณาจักรใหญ่ที่อื่นของโลก เมื่ออาณาจักรบาบิโลนเริ่มอ่อนแอลง ก็ถูกชาวฮิตไทต์ (Hittite) เข้าปล้นสะดมเมื่อ 1,590 ปีก่อนคริสต์ศักราช ต่อมาพวกฮิตไทต์ก็เสียอำนาจให้แก่พวกคาสไซต์ (Kassite) และเข้าครอบครองกรุงบาบิโลนเป็นเวลาถึง 400 ปี
กระทั่ง 612 ปีก่อนคริสต์ศักราช พวกคาลเดียน (Chaldean) ซึงเป็นชนเผ่าฮีบรูทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรทีส ก็สามารถเข้ายึดกรุงนิเนเวห์ได้สำเร็จ และสถาปนากรุงบาบิโลนขึ้นเป็นเมืองหลวงอีกครั้งหนึ่ง และจัดตั้งเป็นอาณาจักรบาบิโลเนียใหม่ขึ้นมา และเจริญรุ่งเรืองจนถึงขีดสุดอีกครั้ง
====================
พระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 (Nebuchadnezzar II)
กษัตริย์แห่งอาณาจักรบาบิโลนใหม่
พระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 (Nebuchadnezzar II) (605-562 ปีก่อนคริสตกาล) บาบิโลนในยุคของพระองค์เป็นยุคที่เรืองอำนาจมาก มีอาณาเขตตั้งแต่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปจนถึงทะเลแดง และอ่าวเปอร์เซีย กองทัพของพระองค์มีชัยเหนืออียิปต์ ตลอดจนเข้าทำลายกรุงเยรูซาเลม และกวาดต้อนชาวอิสราเอลไปยังบาบิโลนถึง 40,000 คนเลยทีเดียว
ในยุคสมัยของพระองค์นั้น ยังมีสิ่งก่อสร้างที่เป็นผลงานสถาปัตยกรรมระดับโลก นั่นคือ สวนลอยแห่งบาบิโลน (Hanging Garden of Babylon) ที่เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ (อ่านเพิ่มเติมได้ >ที่นี่< ) ซึ่งพระองค์ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อพระสนม Amytis จะได้ทรงคลายความคิดถึงที่มีต่อบ้านเกิด
สวนลอยแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินสูงที่ถูกแบ่งออกเป็นชั้นๆ มีระบบชลประทานชักน้ำจากแม่น้ำยูเฟรตีส ไปทำเป็นน้ำตกและนำไปเลี้ยงต้นไม้ตลอดปี น่าเสียดายที่ปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานหรือแม้แต่ซากปรักให้เห็น แต่คาดว่าน่าจะอยู่บริเวณเดียวกับกรุงบาบิโลน ที่เมืองมาฮาวีล (Mahaweel) ประเทศอิรัก
====================
ตำนานหอคอยบาเบล เมืองบาบิโลนในพระคัมภีร์ไบเบิล
Adam Jan Figel / Shutterstock.com
ในพระคัมภีร์ไบเบิลบทปฐมกาล 11 (Genesis 11) นั้นบันทึกไว้ว่า แรกเริ่มเดิมทีมนุษย์เราพูดจาภาษาเดียวกันทั้งหมด และได้พยายามที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างที่สูงเทียมฟ้าขึ้นมาในนครแห่งหนึ่ง เมื่อมนุษย์สื่อสารด้วยภาษาเดียวกันจึงทำให้พวกเขาเข้าใจกันได้เป็นอย่างดี มนุษย์จึงสามารถทำได้ทุกสิ่งที่ต้องการ เมื่อพระเจ้าเห็นดังนั้นจึงเข้ามาแทรกแซงด้วยการทำให้มนุษย์พูดกันคนละภาษาเสีย ในที่สุดมนุษย์ทั้งหลายก็กระจัดกระจายออกไปทั่วแผ่นดิน และเลิกล้มความตั้งใจที่จะสร้างเมืองและสิ่งปลูกสร้างสูงเทียมฟ้าไป
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หอคอยบาเบลที่ปรากฏในบทปฐมกาล 11 นั้นอาจเคยถูกสร้างเอาไว้ที่เมืองบาบิโลนนี่เอง...
พระคัมภีร์บทปฐมกาล 11 ให้ข้อมูลไว้ว่า หอคอยบาเบลนี้อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า ชินาร์ (Shinar) ซึ่งเป็นคำเรียกโดยทั่วไปของดินแดนเมโสโปเตเมีย ซึ่งอาณาจักรที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองถึงขีดสุดในบริเวณนี้เห็นจะมีเพียงบาบิโลนนี่เอง อีกทั้งคำว่า “ชินาร์” ยังปรากฏในพระคัมภีร์บทอื่นๆ อีกหลายครั้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่ชี้ไปหาเมืองบาบิโลนทั้งสิ้น
นักโบราณคดีเองก็พยายามตามหาที่ที่คาดว่าน่าจะเป็นหอคอยบาเบล สุดท้ายพบว่ามีอาคารแห่งหนึ่งที่เค้าเข้าว่าจะใช่มากที่สุด ก็คือซิกกูแรต (Ziggurat) ที่ชื่อว่า อี-เตเมน-อันกิ (Etemenanki) ที่ชื่อแปลได้ว่า "บ้านแห่งรากฐานของสวรรค์บนพื้นโลก"
ซิกกูแรตนั้นเป็นมหาวิหารของชาวเมโสโปเตเมีย ทรงคล้ายพีระมิดขั้นบันได มีหลายชั้นซ้อนขึ้นไป บ้างก็ว่าอาจสูงได้ถึง 7 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นวิหารสำหรับบูชาเทพเจ้ามาร์ดุค ซึ่งเป็นเทพอุปถัมภ์หลักของนครบาบิโลน
ทั้งยังมีหลักฐานจากศิลาจารึกที่สลักขึ้นในสมัยพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 ว่าในยุคนี้มีการบูรณะขนานใหญ่เกิดขึ้น (สวนลอยยังสร้างมาแล้ว หอคอยก็คงไม่ยาก) ในภาพสลักบนศิลาแสดงภาพพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 และซิกกูแรต 7 ชั้น พร้อมอักษรลิ่มสลักเอาไว้ ได้ความว่า "เนบูคัดเนซซาร์ กษัตริย์แห่งบาบิโลน ได้บูรณะวิหารอีเตเมนอันกิ และวิหารอีอูร์เมอีมินอันกิ (E-ur-me-imin-anki) จนสมบูรณ์ ข้าได้ระดมแรงงานมาจากทั่วทุกสารทิศ จากเมดิเตอร์เรเนียนจดอ่าวเปอร์เซีย "
สมมติฐานนี้จึงถือว่ามีความเป็นไปได้สูงที่หอคอยบาเบลจะอยู่ที่นี่ นครบาบิโลนนั่นเองครับ
====================
การล่มสลายของอาณาจักรบาบิโลน
กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรคือ Nabonidus (556-539 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งถูกจักรพรรดิไซรัสมหาราช (Cyrus the Great) แห่งอาณาจักรเปอร์เซีย (Persia) ทรงยกทัพมายึดครองกรุงบาบิโลนแล้วเผาเสียจนหมดสิ้น และไม่เคยมีการบูรณะซ่อมแซมใดๆ เลย เหลือแต่ซาก และอาคารร้างเพราะผู้คนทั้งหมดละทิ้งเมืองไปหมดแล้ว กระทั่งปี 1899 Robert Koldewey นักโบราณคดีชาวเยอรมันได้ขุดพบซากปรักหักพังของเมือง โลกจึงได้พบกับอารยธรรมบาบิโลนอีกครั้งหนึ่ง
====================
บาบิโลน มรดกโลกแห่งใหม่
คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การ การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO (ยูเนสโก) ประกาศรับรองนครบาบิโลน อาณาจักรเมโสโปเตเมียโบราณ อายุ 4,000 ปี ขึ้นเป็นพื้นที่มรดกโลก เมื่อ 6 ก.ค. ปี 2562 นับเป็นมรดกโลกแห่งที่ 6 ดินแดนเมโสโปเตเมีย ซึ่งรัฐบาลอิรักประกาศว่าจะจัดงบประมาณสำหรับการบำรุงรักษาและอนุรักษ์บาบิโลนอย่างจริงจัง หลังจากถูกคณะกรรมการติงมาหลายครั้งในเรื่องการปกป้องสถานที่สำคัญนี้
นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวจะได้ชมซากเมืองที่ยังมองเห็นโครงสร้างจากการก่ออิฐ และโคลน รวมถึงชมรูปปั้นสิงโตแห่งบาบิโลน และประตูเมืองดั้งเดิม ประตูอิชทาร์ เมื่อพระอาทิตย์เริ่มขึ้น แสงจะสาดส่องผ่านประตูทางเข้าอย่างสวยงาม
===============
- มหาพีระมิดกีซาแห่งอียิปต์ Pyramid of Giza หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก สุสานเพื่อการกำเนิดใหม่
- อนุสาวรีย์ 10 สุดยอดนักรบ ในประวัติศาสตร์โลก น่าไปเยือนสักครั้ง
ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<