รีเซต

ตรุษจีน 2568 นครสวรรค์ ปากน้ำโพ แห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ จัดเต็ม 12 วัน

ตรุษจีน 2568 นครสวรรค์ ปากน้ำโพ แห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ จัดเต็ม 12 วัน
เอิงเอย
16 มกราคม 2568 ( 11:53 )
67.3K
1

     วันตรุษจีน ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ตามปฏิทินจีน ของทุกปี สำหรับ ตรุษจีน 2568 นี้ ตรงกับวันที่ 29 มกราคม 2568 ค่ะ เทศกาลตรุษจีน ที่โด่งดังมากๆ ในไทยก็คือ ตรุษจีน นครสวรรค์ ปากน้ำโพ ซึ่งมี ประเพณีแห่เจ้าพ่อ เจ้าแม่ปากน้ำโพ ที่สืบทอดต่อกันมายาวนานกว่าร้อยปีเลยทีเดียว ในปีนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 22 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2568 รวมระยะเวลา 12 วัน เลยทีเดียว ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจอะไรบ้าง ตามมาดูกันได้เลย!

Anirut Krisanakul / Shutterstock.com 

ตรุษจีน นครสวรรค์ 2568
งานประเพณี แห่เจ้าพ่อ เจ้าแม่ปากน้ำโพ

 

      งานตรุษจีน นครสวรรค์ งานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ในปีนี้ จัดขึ้น 12 วัน 12 คืน ระหว่างวันที่ 22 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2568 ภายใต้คอนเซปต์ "สุขสนุก 12 วัน นครสวรรค์ วันเดอร์แลนด์" 

  1. Wonder Food วันเดอร์ แดนของอร่อย
  2. Wonder Faith วันเดอร์ แดนแห่งศรัทธา
  3. Wonder Five วันเดอร์แลนด์ แดนคนจีนห้าชาติพันธุ์
  4. Wonder Fun วันเดอร์แลนด์ แดนมหาสนุก
  5. Wonder Festival วันเดอร์แลนด์ แกรนด์พาเหรด

 

 

       ร่วมชมของขบวนแห่ที่ได้รับการันตีด้วยรางวัลระดับโลก ประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ 2568 109 ปี สืบสานประเพณีวิถีแห่งศรัทธา 

  • แห่กลางคืน (ชิวซา)
    ตรงกับวันศุกร์ ที่ 31 มกราคม 2568

     

  • แห่กลางวัน (ชิวสี่)
    ตรงกับวันเสาร์ ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568

 

kanat_ah / Shutterstock.com

 

กิจกรรมในงาน ตรุษจีน ปากน้ำโพ

     แห่กลางคืน (ชิวซา) 31 มกราคม 2568

     ไฮไลท์ ชมความอลังการของ ขบวนแห่ประเพณีแห่เจ้าพ่อ เจ้าแม่ปากน้ำโพ ที่ยาวที่สุดในประเทศ แห่กลางคืน (ชิวซา) วันศุกร์ ที่ 31 มกราคม 2568 ชมขบวนแห่แสง สี เสียง ในรูปแบบ Wonder Festival Night Parade
โดยขบวนจะตั้งต้นตั้งแต่หน้าอาคารสำนักงานเทศบาลนครนครสวรรค์ เริ่มพิธีการตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

 

     แห่กลางวัน (ชิวสี่) 1 กุมภาพันธ์ 2568

     ขอเชิญประชาชนชาวตลาดปากน้ำโพ ผู้มีจิตศรัทธาในองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ตั้งโต๊ะรับเจ้า เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อครอบครัวและกิจการ แห่กลางวัน (ชิวสี่) วันเสาร์ ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดยจุดตั้งต้นขบวนแห่จะเริ่มตั้งแต่หน้าอุทยานสวรรค์ ตั้งแต่เวลา 05.00 น. แล้วเริ่มออกแห่รอบตลาดปากน้ำโพ ในเวลา 07.00 น. เป็นต้นไป

 

การแสดงพิเศษจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

       ปี 2568 นี้ เป็นวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง ไทย-จีน เทศกาลตรุษจีน 2568 นี้ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ได้เชิญคณะศิลปะ "มู่คาหมู่" แห่งโรงละครศิลปะซินเจียงจำนวนกว่า 30 คน เดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 4,000 ปี และงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ที่มีมายาวนานกว่า 109 ปี ในจังหวัดนครสวรรค์ อีกด้วย

 

 

กำหนดจัดการแสดงพิเศษ

  • 26 มกราคม เวลา 19.30 น. (เวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม)
    ณ เวทีใหญ่หาดทรายต้นแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์

    การแสดงครั้งนี้ประกอบไปด้วยการขับร้อง การเต้นรำ การบรรเลงดนตรี และการแสดงกายกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพื่อร่วมฉลอง "เทศกาลตรุษจีนแห่งความสุข" และร่วมเฉลิมฉลองมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่าง ไทย-จีน

 

     นอกจากนี้ ภายในงานตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2568 ยังมีการแสดงต่างๆ ที่ เวทีใหญ่ (หาดทรายต้นแม่น้ำเจ้าพระยา) ทุกวัน และเปิดให้เข้าชมฟรีในทุกรอบการแสดง ไม่มีการจำหน่ายบัตรอีกด้วย

 

Prasith Toudomvet / Shutterstock.com

 

       ประเพณีตรุษจีน เป็นประเพณีเกี่ยวกับการไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ ของคนไทยเชื้อสายจีนค่ะ โดยในจังหวัด นครสวรรค์นั้น นอกจากการไหว้ตามประเพณีแล้ว ที่นี่ยังมีกิจกรรม และประเพณีหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ เป็นประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นงานประเพณีที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครสวรรค์ อย่างมากเลยทีเดียวค่ะ

     และสำหรับรูปแบบของงานนั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัวของชาวตลาดปากน้ำโพ

 

ที่มา ประวัติ การแห่เจ้าพ่อ เจ้าแม่ปากน้ำโพ นครสวรรค์

NikomMaelao Production / Shutterstock.com

 

       งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ เป็นประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ใน จังหวัดนครสวรรค์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลตรุษจีนค่ะ โดยการจัดงานในปัจจุบัน จะจัดงานกลางคืนถึง 12 คืนด้วยกัน

       ในสมัยเริ่มแรกนั้น เป็นการนำองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่แห่ไปในเส้นทางต่างๆ ในเมือง เพื่อให้ชาวเมืองได้สักการะขอพร ปัดเป่าทุกข์ภัยต่างๆ เป็นสิริมงคลแก่เมืองนครสวรรค์ และชาวเมืองปากน้ำโพ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน จึงได้อัญเชิญองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ทุกองค์ แห่ทางน้ำ แล้วขึ้นบกแห่รอบตลาดแห่รอบตลาดปากน้ำโพ จนในปัจจุบันเปลี่ยนมาแห่ทางบกเพียงอย่างเดียวแล้วค่ะ

 

Medtech THAI STUDIO LAB 249 / Shutterstock.com

 

       เริ่มประเพณีการแห่ครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ.2475 และได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ค่ะ โดยในพิธีแห่จะมี 2 รอบ คือ

  • รอบกลางคืนในวันชิวซา หรือ วันที่ 3 เดือน 1 ตามปฏิทินของจีน เวลา 18.00-22.00 น.
  • รอบกลางวัน ในวันชิวสี่ หรือ วันที่ 4 เดือน 1 ตามปฏิทินของจีน

       โดยในขบวนแห่รอบเมืองนั้นจะประกอบด้วย ขบวนแห่มังกรทอง ซึ่งชาวจีนถือว่าเป็นเทพเจ้าที่บันดาลคุณแก่มวลมนุษย์

      อีกทั้งยังเป็นพิธีเพื่อแสดงความกตัญญู โดยมีการเชิดชู และนำเจ้าพ่อเจ้าแม่ในศาลเจ้า ออกมาร่วมขบวนแห่ไปตามถนนต่างๆ ในตัวเมืองนครสวรรค์อีกด้วย จึงทำให้ในปี พ.ศ. 2561 ประเพณีการแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ ได้ถูกขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติค่ะ

 

เปิดตำนาน ความเชื่อ งานตรุษจีน นครสวรค์
ความศักดิ์สิทธิ์ของ เจ้าพ่อแควใหญ่

NICKY1841 / Shutterstock.com

 

       ในช่วง เทศกาลตรุษจีนของนครสวรรค์ จะมี ขบวนแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ ทุกปีต่อเนื่องกันมาแต่โบราณ จนกลายเป็นประเพณีสืบทอดกันมากกว่า 100 ปี อีกทั้งยังมีความเชื่อของชาวบ้าน ในเรื่องของการแสดงความขอบคุณเทพเจ้า ที่เกี่ยวกับงานประเพณี เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ความเจริญก้าวหน้า ในด้านการค้า การเคารพกราบไหว้ อีกทั้งยังเปรียบเสมือนเทพเจ้า ได้มาให้พร ตามสถานที่ ร้านค้าต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวเมืองนั่นเองค่ะ

 

NikomMaelao Production / Shutterstock.com

 

       นอกจากนี้ ในช่วงปี พ.ศ.2460-2462 ที่นครสวรรค์ได้เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถรับมือกับโรคระบาดได้เพราะการแพทย์ที่ยังไม่เจริญเท่าที่ควร

      ในครั้งนั้น เจ้าพ่อแควใหญ่ หรือ เจ้าพ่อเทพารักษ์ ได้ประทับทรง ทำพิธีรักษาโรคด้วยการเขียน “ฮู้” หรือ ยันต์กระดาษ ให้ชาวบ้านพกติดตัว หรือปิดยันต์ไว้ที่หน้าบ้าน และได้นำฮู้ไปเผา เพื่อทำน้ำมนต์ให้ชาวบ้านได้ดื่มกิน อีกทั้งยังนำมาประพรมไปรอบตลาด และเป็นผลให้โรคระบาดทุเลาลง และหายไปในที่สุด ทำให้เกิดแรงศรัทธามากราบไหว้เจ้าพ่อแควใหญ่เพราะความศักดิ์สิทธิ์ค่ะ

 

ที่เที่ยวนครสวรรค์ ที่น่าสนใจอื่นๆ