รีเซต

ประวัติวันตรุษจีน ที่มาตรุษจีน วันปีใหม่ ของชาวจีน ต้นกำเนิดจุดประทัด

ประวัติวันตรุษจีน ที่มาตรุษจีน วันปีใหม่ ของชาวจีน ต้นกำเนิดจุดประทัด
Muzika
31 มกราคม 2567 ( 10:31 )
25.7K

     ตามเรามารู้จัก ประวัติวันตรุษจีน ที่มาตรุษจีน ที่เปรียบได้ดั่ง วันปีใหม่ ของชาวจีนกันนั่นเอง ตรุษจีน 2567 ปีนี้ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 หลายๆ บ้านคงจะเริ่มเตรียมตัวซื้อของ เตรียมจัดบ้าน ทำความสะอาดบ้านกันแล้ว แต่ก่อนอื่นเรามารู้จักกับเทศกาลนี้ให้มากขึ้นกันก่อนดีกว่า

 

ประวัติวันตรุษจีน หรือ ปีใหม่จีน

     ตรุษจีน เป็นงานเฉลิมฉลองที่ยาวที่สุด และสำคัญที่สุดในปฏิทินจีน แม้จะไม่สามารถหาต้นตอได้ว่ามีจุดเริ่มต้นในยุคสมัยไหน แต่ก็เชื่อกันว่ายึดถือประเพณีนี้กันมากว่า 4,000 ปีแล้ว เดิมนั้นยังไม่ได้เรียกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่มีชื่อเรียกต่างกันไปตามยุคสมัย แต่ที่รู้จักกันมากที่สุดคือวันชุงเจ๋ จัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ จัดกันนานถึง 15 วัน เนื่องจากแต่ก่อนนั้นช่วงเวลานี้ของประเทศจีนจะปกคลุมไปด้วยหิมะ ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อเข้าถึงฤดูใบไม้ผลิ จึงจะสามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ ชาวจีนจึงกำหนดให้วันแรกของฤดูใบไม้ผลิตในแต่ละปีเป็นวันสำคัญนั่นเอง

     ปัจจุบันเทศกาลตรุษจีนมีการจัดขึ้นแทบจะทั่วทุกมุมโลก ทั้งที่จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเก๊า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย รวมถึงในชุมชนชาวจีน หรือ China Town ตาโพ้นทะเลด้วย

 

ตำนานปีศาจเหนียน ต้นกำเนิดการจุดประทัด

     อย่างที่เราทราบกันดี ว่าการจุดประทัดนั้นเป็นอีกหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติสำคัญของวันนี้ แต่เขาก็ไม่ได้จุดเฉยๆ ไปงั้น เพราะมันเป็นไปตามตำนานโบราณเกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง ปีศาจเหนียน ที่จะออกอาละวาดกินคนในช่วงฤดูใบไม้ผลินี่เอง

 

 

     ปีศาจเหนียน เป็นสัตว์ป่าที่ดุร้าย อาศัยอยู่ในป่าทึบ ชอบออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ พระเจ้าจึงลงโทษมันโดยอนุญาตให้มันลงมาจากเขาได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน ซึ่งวันที่มันจะลงจากเขามา คือวันที่ฤดูหนาวหมดไป ผู้คนเริ่มออกมาเฉลิมฉลอง ใช่แล้ว วันเฉลิมฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลินั่นเอง

     แต่ด้วยความที่มันกลัวสีแดง เสียงดัง และไฟ ชาวบ้านจึงคิดหาวิธีรับมือมันได้ไม่ยาก ด้วยการนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัด และตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อเหนียนมาถึงหมู่บ้าน เห็นทุกๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และไม่กล้าออกมาอาละวาด

 

 

ก่อนจะถึงวันตรุษจีน

     เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวันที่แลดูจะวุ่นวายยุ่งเหยิงมากที่สุดคือวันก่อนที่จะถึงตรุษจีนต่างหาก เพราะเราจะต้องมีการเตรียมตัวเยอะแยะมาก ทั้งซื้อของขวัญ เตรียมของประดับตกแต่ง วัสดุ อาหาร และเสื้อผ้าสีแดง พร้อมกับทำความสะอาดบ้านอย่างละเอียดลออ เพื่อเป็นการปัดกวาดโชคร้าย เปิดทางให้โชคดีเข้ามา

     อีกสิ่งที่สำคัญในคืนก่อนวันตรุษจีน ก็คือทุกคนในครอบครัวจะพยายามกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน พร้อมกับร่วมมื้ออาหารค่ำอย่างครื้นเครง ตามธรรมเนียมของชาวจีนทางตอนเหนือถ้าถึงเที่ยงคืนแล้วก็จะเริ่มทำเกี๊ยว ถ้าเป็นคนจีนทางใต้ก็จะปั้นลูกอี๋ทำน้ำเชื่อม เป็นต้น

 

อั่งเปา สัญลักษณ์สำคัญวันปีใหม่จีน

     เชื่อว่าต่อให้ไม่รู้จักวันตรุษจีน แต่ทุกคนจะต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่า อั่งเปา อย่างแน่นอน ซองสีแดงบรรจุเงินที่ลูกๆ หลานๆ จะมาต่อแถวรับกันอย่างสนุกสนาน อั่งเปา มีความหมายว่ากระเป๋าแดง หรือจะใช้คำว่า แต๊ะเอีย ซึ่งมีความหมายว่า ผูกเอว จากการที่คนสมัยก่อนชอบร้อยเงินเป็นพวงผูกไว้ที่เอวนั่นเอง โดยการให้อั่งเปานี้ คู่ที่แต่งงานแล้วจะให้กับเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานเท่านั้น

 

การเฉลิมฉลองตรุษจีนในประเทศไทย

     สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือ วันจ่าย วันไหว้ และ วันเที่ยว โดยยึดเอาสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน ดังนี้

  • วันจ่าย คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยจะต้องไปซื้ออาหาร ผลไม้ และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ไม่จำเป็นจะต้องมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ (地主爺 / 地主爷 ตี่จู๋เอี๊ยะ) ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 4 วันที่แล้วเพราะว่าเจ้าที่ไม่ได้ไปไหนเมื่อสี่วันที่แล้ว ตัวเราส่งแต่ เจ้าซิ้ง หรือเจ้าเตา

 

  • วันไหว้

    ตอนเช้ามืด จะไหว้ "ป้ายเล่าเอี๊ย" (拜老爺 / 拜老爷) เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์สามอย่าง (ซาแซ ซำเช้ง) ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ หรือเพิ่มตับ ปลา เป็นเนื้อสัตว์ห้าอย่าง (โหงวแซ) เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง

    ตอนสาย จะไหว้ "ป้ายแป๋บ้อ" (拜父母) คือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน (ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ) รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว

    ตอนบ่าย จะไหว้ "ป้ายฮ่อเฮียตี๋" (拜好兄弟) เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อเป็นสิริมงคล

 

  • วันเที่ยว หรือ วันถือ คือวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่หนึ่ง (初一 ชิวอิก) ของเดือนที่หนึ่งของปี วันนี้ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันคือ "ป้ายเจีย" เป็นการไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะส้มออกเสียงภาษาแต้จิ๋วว่า "กิก" (橘) ไปพ้องกับคำว่าความสุขหรือโชคลาภ 吉 แปลว่า โชคลาภ หรือ ภาษาฮกเกี้ยน และ ภาษากวางตุ้ง ส้มเรียกว่า "ก้าม" (柑) ซึ่งไปพ้องกับคำว่าทอง (金) [4] เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำความสุขหรือโชคลาภไปให้ จะมอบส้มจำนวน 4 ผล (เสมือนมี 吉 ประกอบกัน 4 ตัว กลายเป็น 𡅕) ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือคือ เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น

 

====================