รีเซต

เข้าพรรษา 2567 ประวัติวันเข้าพรรษา วันสำคัญทางศาสนาพุทธ ตั้งแต่สมัยพุทธกาล

เข้าพรรษา 2567 ประวัติวันเข้าพรรษา วันสำคัญทางศาสนาพุทธ ตั้งแต่สมัยพุทธกาล
เอิงเอย
10 กรกฎาคม 2567 ( 10:25 )
25.2K

      วันเข้าพรรษา 2567 นี้ ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็น วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อีกวันหนึ่ง โดยในประเทศไทยเราจะมีการจัดกิจกรรม ถวายเทียนพรรษา และ งานแห่เทียนพรรษา เป็นประจำทุกปีค่ะ ตามเรามารู้ ที่มา ประวัติของวันเข้าพรรษา ในสมัยพุทธกาล กันได้เลย

 

Film photo / Shutterstock.com

ประวัติวันเข้าพรรษา
ทำไมพระสงฆ์ต้องอยู่จำพรรษา

      วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา ที่ต่อเนื่องมากจาก วันอาสาฬหบูชา โดยเป็นช่วงเวลา ที่พระสงฆ์จะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝน ที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกว่า จำพรรษา นั่นเองค่ะ โดยการเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง เริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ค่ะ

 

เข้าพรรษา เรื่องเล่า สมัยพุทธกาล

      ความเป็นมาของการเข้าพรรษานั้น มีเรื่องเล่าว่า ประเทศอินเดียในสมัยโบราณ เมื่อถึงฤดูฝน มักจะเกิดน้ำท่วม  และเมื่อเกิดพระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกเผยแพร่พระศาสนา นับเป็นพุทธจริยาวัตร ซึ่งในตอนแรกที่ยังมีพระภิกขุสงฆ์ไม่มาก พระภิกขุสงฆ์ปฏิบัติประพฤติตามพระพุทธเจ้า จึงไม่มีความครหานินทาใดๆ ทำให้ไม่ต้องทรงตั้งบัญญัติพิธีอยู่จำพรรษา

 

 

     แต่ต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์มากขึ้น และในช่วงหน้าฝน มีพระภิกขุ 6 รูป ฉัพพัคคีย์ แม้เมื่อถึงฤดูฝน ก็ยังพากันจาริกไปมา เที่ยวเหยียบย่ำต้นกล้า ต้นข้าวต่างๆ และสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้เกิดความเสียหายและตายไป ประชาชนจึงพากันติเตียน

      เมื่อความเรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในที่แห่งเดียวตลอด 3 เดือนในช่วงฤดูฝน และห้ามมิให้พระภิกษุเที่ยวไปค้างคืนที่อื่น หากมีธุระกิจเป็นอันชอบด้วยพระวินัย จึงไปได้ด้วยการทำสัตตาหกรณียะ คือต้องกลับมาที่พักเดิมภายใน 7 วัน นอกจากนั้นห้ามเด็ดขาด

 

 

      แต่หากมีกรณีจำเป็นบางอย่าง พระภิกษุผู้จำพรรษาสามารถไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ก็คือ

  1. การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
  2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
  3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
  4. หากมีนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้

 

กิจกรรมในวันเข้าพรรษาของชาวพุทธ

 

moment_tum / Shutterstock.com

 

      พุทธศาสนิกชน จะมีการทำบุญตักบาตรกัน 3 วัน คือวันขึ้น 14-15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 นอกจากนี้ยังมี การนำ เทียนพรรษา ไปถวายวัด โดยบางแห่งจะมีการบอกบุญเพื่อร่วมหล่อเทียน แล้วแห่ไปตั้งในวัดอุโบสถ เพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัยตลอด 3 เดือน

 

ประเพณีแห่เทียนพรรษา

      ประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นงานประเพณียิ่งใหญ่ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มีฆ้องกลองประโคมอย่างสนุกสนาน และเทียนพรรษานั้นมีจะการหล่อ หรือแกะเป็นลวดลายและประดับตกแต่งกันอย่างงดงาม เช่น การประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ประจำจังหวัดที่จัดขึ้นทุกปีมายาวนานกว่าร้อยปีแล้วนั่นเอง

 

 ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา

     ในทุกๆ ปี ที่ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร หรือ วัดพระพุทธบาท สระบุรี จะมีประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานในช่วงวันเข้าพรรษาก็คือ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ หรือ  ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา ชาวบ้านจะเก็บดอกเข้าพรรษามาถวายพระสงฆ์ เพื่อนำไปสักการะรอยพระพุทธบาท และชาวบ้านก็จะนำขันน้ำ หรือภาชนะใส่น้ำลอยด้วยดอกพิกุล นั่งรออยู่ตามขั้นบันไดเพื่อคอยที่จะล้างเท้าให้แก่พระสงฆ์

Em7 / Shutterstock.com

 

      อีกทั้งในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชน เมื่ออายุ 20 ปี เป็นช่วงอายุครบบวช จะนิยมบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า บวชเอาพรรษา

     นอกจากนี้ จะมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งการถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิกษุสามเณร ร่วมฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล รวมไปถึงการอธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ ในตลอดการเข้าพรรษา 3 เดือน นั่นเอง

 


อ้างอิง