รีเซต

วันอาสาฬหบูชา 2567 ประวัติวันอาสาฬหบูชา ที่มาของวันอาสาฬหบูชาในไทย

วันอาสาฬหบูชา 2567 ประวัติวันอาสาฬหบูชา ที่มาของวันอาสาฬหบูชาในไทย
เอิงเอย
10 กรกฎาคม 2567 ( 10:22 )
42.8K

     วันอาสาฬหบูชา 2567 นี้ ตรงกับวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 เป็นอีกหนึ่ง วันสำคัญทางศาสนาพุทธ คือ เป็นวันคล้ายวันที่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรด ปัญจวัคคีย์ ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 และยังทำให้มี พระสงฆ์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย ตามเรามารู้จัก ประวัติวันอาสาฬหบูชา วันสำคัญของชาวพุทธ กันค่ะ

ประวัติวันอาสาฬหบูชา
พระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศานา

 

      วันอาสาฬหบูชา หรือ อาสาฬหบูรณมีบูชา ตรงกับ วันเพ็ญ เดือน 8 ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ "อาสาฬห" หมายถึง เดือน 8 ทางจันทรคติ กับคำว่า "บูชา" เมื่อรวมกันจึงแปลว่า "การบูชา เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8"

      โดยวันอาสาฬหบูชานี้ เป็นวันคล้าย วันที่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ ปัญจวัคคีย์ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เป็นเหตุให้ โกณฑัญญะ ได้ ธรรมจักษุ หรือ ดวงตาเห็นธรรม เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน

 

 

      โกณฑัญญะจึงขออุปสมบทด้วย วิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา และภายหลังจึงได้นามใหม่ว่า อัญญาโกณฑัญญะ นับเป็น พระสงฆ์รูปแรกในศาสนาพุทธ ทำให้วันนี้มี พระรัตนตรัยครบองค์สาม บริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันพระธรรมจักร นั่นเองค่ะ

ทำให้วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ

  1. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา

  2. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ประกาศสัจจธรรมอันเป็นองค์แห่งสัมมาสัมโพธิญาณ

  3. เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิขุอุปสัมปทาในวันนั้น

  4. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระสังฆรัตนะสมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ

 

ปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

 

 

       พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 โดยมีใจความคือ ทรงยกที่สุด 2 ฝ่าย ได้แก่ การประกอบตนให้ลำบากด้วยการทรมานกาย และการไม่ประกอบตนให้เพลิดเพลินในกามสุข ทั้ง 2 นี้นับว่าไม่ควรเสพ ทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา เท่านั้นที่เป็นข้อปฏิบัติที่สมควร แล้วทรงแสดงทางสายกลางคือ อริยมรรค 8 ประการ

อริยมรรค 8 ประการ

  • สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ
  • สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
  • สัมมาวาจา เจรจาชอบ
  • สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
  • สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
  • สัมมาวายามะ เพียรชอบ
  • สัมมาสติ ระลึกชอบ
  • สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

       และสรุปด้วย อริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส

อริยสัจ 4

  • ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
  • สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
  • นิโรธ ความดับทุกข์
  • มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

 


ประวัติ วันอาสาฬหบูชา ในประเทศไทย

 

Piyawat Hirunwattanasuk / Shutterstock.com

 

      วันอาสาฬหบูชา เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย และเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2501 โดยคณะสังฆมนตรีมีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)

      กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชาอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล

      ทางสำนักพระราชวังจึงจัด พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ประกอบพระราชพิธีหลักจะจัดใน วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร และภายใน พระบรมมหาราชวัง

      ในพระราชพิธีจะทรงถวายพุ่มเทียนเครื่องบูชาแก่พระพุทธปฏิมา และพระราชาคณะ รวมทั้งการพระราชทานภัตตาหารแก่พระราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ ซึ่งรับอาราธนามารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังจำนวน 150 รูป ทุกปี

 

 

      ต่อมาในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2505 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จึงประกาศกำหนดให้วันอาสาฬหบูชา หรือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็น วันหยุดราชการประจำปีอีก 1 วัน เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชนที่จะไปประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย

      สำหรับประชาชน พุทธศาสนิกชนชาวไทย ในวันอาสาฬหบูชานั้นจะนิยม ทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และ เวียนเทียนรอบอุโบสถ ค่ะ

 

อ้างอิง