รีเซต

ไขข้อข้องใจ ศาลเจ้า กับวัดญี่ปุ่น ต่างกันยังไง ? รู้ไว้ก่อนไปเที่ยว

ไขข้อข้องใจ ศาลเจ้า กับวัดญี่ปุ่น ต่างกันยังไง ? รู้ไว้ก่อนไปเที่ยว
แมวหง่าว
11 ตุลาคม 2565 ( 14:20 )
17.7K
3

     ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ไปเที่ยวได้ทุกฤดู เรียกได้ว่าแทบจะเห็นคนรู้จักอัพรูปลงโซเชียลเวลาเที่ยวญี่ปุ่นกันแทบทุกเดือน ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่พร้อมจะไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ ก่อนอื่นเราอยากแนะนำสิ่งที่คนไทยมักจะสงสัย และถามกันเสมอ นั่นคือ วัด และศาลเจ้า ในประเทศญี่ปุ่นนั่นเองครับ หลายคนงงว่ามีความแตกต่างกันยังไง?

 

ความแตกต่าง ศาลเจ้า กับวัดญี่ปุ่น?

 

 

     ที่ญี่ปุ่นนั้นเขาก็มีวัดพุทธเหมือนกับไทยเรา แต่ที่ต่างออกไปก็คือศาลเจ้า ซึ่งมีความเชื่อ และธรรมเนียมปฏิบัติไม่เหมือนกัน แถมบางแห่ง วัดกับศาลเจ้ายังอยู่ในบริเวณเดียวกันอีกต่างหาก ทำให้คนไทยมักจะงง และเข้าใจว่าเป็นสถานที่เดียวกัน ก่อนอื่น มีเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจดังนี้

 

cowardlion / Shutterstock.com

 

     ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาในประเทศตั้งแต่ปีพ.ศ. 1095 นับถือพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ มีหลายนิกายมาก ตั้งแต่ตันตระ เซน นิชิเรน ฯลฯ ความเคร่งครัดก็ต่างกัน บางนิกายพระสามารถแต่งงานได้ จับเงินได้ ตำแหน่งพระสามารถสืบทอดเป็นมรดกแก่บุตรคนโตได้ บางนิกายที่เคร่งมากๆ แบบบ้านเราเลยก็มี

 

NavinTar / Shutterstock.com

 

     ทางด้านศาลเจ้านั้นกำเนิดมาจากลัทธิชินโต ซึ่งอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ชาติญี่ปุ่นมาเนิ่นนานแล้ว นับถือเทพเจ้า ธรรมชาติ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ไม่มีศาสดา ไม่มีข้อบัญญัติ หรือแม้แต่ข้อห้าม แต่จะมีการทำพิธีกรรมบวงสรวงต่างๆ ซึ่งก็มาจากวัฒนธรรมท้องถิ่น ผสมผสานเข้ากับธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ในแต่ละยุคสมัยของญี่ปุ่น

 

     ความแตกต่างของทั้งสองศาสนาก็จะมีประมาณนี้ ส่วนเรื่องวัดกับศาลเจ้า เรามีข้อจำแนกง่ายๆ ให้เห็น ดังนี้

 

1. ชื่อสถานที่

  • ชื่อของศาลเจ้ามักจะลงท้ายด้วย Jingu, Jinja หรือ Taisha เช่น Meiji-Jingu หรือ Izumo Taisha
  • ส่วนชื่อของวัดมักจะลงท้ายด้วย Ji เช่น Kinkaku-ji หรือ Jindai-ji

 

2. ทางเข้า

 

 

     เริ่มจากสิ่งที่เราเห็นได้ทันที และเป็นการจำแนกศาลเจ้ากับวัดได้แบบง่ายๆ ตั้งแต่หน้าประตู ก็คือ เสาโทริอิ ถ้าเห็นคือค่อนข้างมั่นใจได้ว่าเป็นศาลเจ้า หน้าตาคล้ายเสาชิงช้าบ้านเรา ทาด้วยสีแดงสด (เป็นส่วนใหญ่ สีอื่นก็มี) ตามความเชื่อของชินโต เสาโทริอิถือเป็นประตูสู่เขตแดนศักดิ์สิทธิ์ที่แยกตัวออกจากโลกมนุษย์ ก่อนเดินเข้าไปเราควรยืนโค้งที่หน้าเสาโทริอิ 1 ครั้ง แล้วจึงเดินลอดเสา เป็นการทำความเคารพต่อเทพเจ้า 

     แต่ความลำบากอีกอย่างก็คือ วัดบางที่ก็มีเสาโทริอิเช่นกัน! นั่นเพราะเขามีศาลเจ้าอยู่ในวัดด้วยนั่นเอง บางครั้งก็แยกจากกันไม่ออกหรอกนะ 

 

 

     มาทางด้านวัดบ้าง ทางเข้าวัดจะมีซุ้มประตู เรียกว่า ซังมง ทั้งสองฟากของซุมจะมีรูปปั้นเทพทวารบาล คอยเฝ้าประตูอยู่ ภายในวัดก็จะมี พระพุทธรูป สุสาน เจดีย์และระฆังอยู่เป็นเอกลักษณ์

 

 

     หลังจากผ่านประตูทางเข้าซังมงมาแล้ว อีกสิ่งที่มักจะพบก็คือกระถางธูปนั่นเอง สามารถโบกควันจากกระถางเข้าหาตัวเองเพื่อความสิริมงคล ส่วนทางด้านศาลเจ้านั้นจะพบแค่บ่อน้ำชำระล้างร่างกาย (บ่อน้ำนั้นบางวัดก็มีเหมือนกัน) มีกระบวยตักน้ำ ซึ่งเราจะต้องล้างมือตามขั้นตอน ดังนี้

 

การล้างมือที่บ่อน้ำในศาลเจ้าญี่ปุ่น

 

  • 2.1 ล้างมือซ้าย ใช้มือขวาถือกระบวย
  • 2.2 ล้างมือขวา ใช้มือซ้ายถือกระบวย
  • 2.3 ตักน้ำใส่มือ บ้วนปาก (ห้ามดื่มตรงๆ จากกระบวย)
  • 2.4 จับกระบวยตั้งขึ้น เพื่อให้น้ำที่เหลือไหลลงมาล้างกระบวย นำกลับไปวางที่เดิมถือเป็นอันเสร็จขั้นตอนชำระล้างร่างกาย

 

3. วิธีไหว้

 

 

     หลังจากล้างไม้ล้างมือเรียบร้อย เมื่อเข้าไปในศาลเจ้า จะมีกล่องใหญ่ มีช่องแบ่งเป็นร่อง ไว้สำหรับโยนเหรียญลงไปหลังจากไหว้ขอพรเสร็จ (คนญี่ปุ่นนิยมใช้เหรียญ 5 เยน ในการโยน เพราะว่า คำว่า 5 เยน (5円) ของญี่ปุ่น จะออกเสียง go-en ซึ่งไปพ้องเสียงกับคำว่า ご縁 ซึ่งให้อารมณ์เหมือนจะมีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาหา) บางศาลจะมีเชือก และกระดิ่งให้สั่นด้วย

ขั้นตอนการไหว้ศาลเจ้า มีดังนี้

  • 3.1 ถ้ามีเชือกและกระดิ่ง ให้เขย่า แล้วโยนเหรียญเงินลงไป
  • 3.2 โค้งคำนับ (ประมาณ 90 องศา) 2 ครั้ง
  • 3.3 ตบมือ 2 ครั้ง แล้วขอพร
  • 3.4 ขอเสร็จแล้วก็โค้งคำนับอีก 1 ที เป็นอันเสร็จ (จำได้มั้ยเนี่ย)
    *ศาลเจ้า Izumo Taisha , ศาลเจ้า Usahachi-mangu โค้งคำนับ 2 / ปรบมือ 4 / โค้งคำนับ 1*

 

     ส่วนการไหว้ที่วัดนั้นจะคล้ายกับศาลเจ้า แต่ถ้ามีกระดิ่งกับเชือกให้สั่นก่อน แล้วโยนเหรียญ แล้วโค้งแค่ 1 ที ก็ขอพรได้เลย *ไม่ต้องปรบมือ*

 

4. สิ่งศักดิ์สิทธิ์, สิ่งเคารพ

 

 

     ถ้าเป็นศาลเจ้าจะบูชาสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงเทพญี่ปุ่น เช่น สัตว์ต่างๆ กระจก ดาบ หิน ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น ศาลเจ้า Fushimi Inari ที่เกียวโต จะมีรูปปั้นสุนัขจิ้งจอกเต็มไปหมด นั่นเพราะทางศาสนาชินโตเชื่อกันว่าสุนัขจิ้งจอกเป็น ผู้นำสาสน์ของเทพอินาริ นั่นเอง

 

 

     สำหรับวัด ก็แน่นอนว่าตามรูปแบบของเราก็ต้องเป็นพระพุทธรูปอยู่แล้ว ซึ่งก็แล้วแต่วัดด้วยว่าเป็นนิกายไหน ก็จะมีทั้งพระพุทธรูป พระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ต่างๆ

 

5. ผู้เผยแพร่ศาสนา

 

 

     ข้อนี้ดูไม่ยาก หากเป็นวัดก็จะมีพระสงฆ์ หรือแม่ชีพำนักอยู่ ส่วนศาลเจ้าก็จะมีมิโกะ (Miko) เป็นผู้ทำพิธีกรรมต่างๆ

 

 

     ไหนๆ พูดถึงมิโกะแล้ว ก็อยากจะขอลงรายละเอียดอีกสักนิด มิโกะนั้นทำหน้าที่เป็น สื่อกลาง ระหว่างเทพเจ้ากับผู้คน (สมัยก่อนสงวนสิทธิ์ไว้เฉพาะสาวพรหมจรรย์ด้วย) ซึ่งปัจจุบันการเป็นมิโกะกลายเป็นงานพาร์ทไทม์แบบหนึ่งไปแล้ว ศาลเจ้าต่างๆ จะจ้างมาเพื่อคอยให้คำแนะนำ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าชม แต่ก็มีบ้างบางแห่งที่ยังมีมิโกะแท้ๆ อยู่

 

Em7 / Shutterstock.com

 

     แถมท้ายอีกเล็กน้อย หลังจากไหว้พระขอพรกันเสร็จแล้ว ก็อย่าลืมแวะซื้อเครื่องรางของขลัง (โอมาโมริ) ประจำวัด, ศาลเจ้ากันด้วยนะ นับเป็นอีกหนึ่งอย่างที่จะบอกว่าวัดหรือศาลเจ้านั้นมีชื่อเสียงในด้านไหน ที่สำคัญนอกจากศักดิ์สิทธิ์แล้วยังน่ารักอีกด้วย ให้กำลังจะไปเที่ยวก็อย่าลืมแวะซื้อติดไม้ติดมือมาด้วยล่ะ

====================