รีเซต

ประวัติวันอัฏฐมีบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ประวัติวันอัฏฐมีบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
เอิงเอย
20 พฤษภาคม 2565 ( 17:45 )
34.6K

      วันอัฏฐมีบูชา 2565 ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญในพระพุทธศานา คือ เป็นวันวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานค่ะ ตามเรามารู้จัก ประวัติวันอัฏฐมีบูชา การถวายพระเพลิงพระบรมศพในพุทธประวัติ และระลึกถึงพระพุทธคุณ ในวันนี้กันค่ะ

ประวัติวันอัฏฐมีบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วันอัฏฐมีบูชา 2565

 

      วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับ วันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 คือ วันถวายพระเพลิง พระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน ถือเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่งเลยทีเดียวค่ะ

      เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว 8 วัน มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมี พระมหากัสสปเถระ เป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดี แห่งกรุงกุสินารา วันนั้นเป็นวันหนึ่งที่ชาวพุทธต้องมีความสังเวชสลดใจ และโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสูญเสียแห่งพระพุทธสรีระ

 

 

      เมื่อวันอัฏฐมีบูชานั้น เวียนมาในแต่ละปี พุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาจะพร้อมกันประกอบพิธีบูชาขึ้นเป็นการเฉพาะภายในวัด สืบทอดถือปฏิบัติกันต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ค่ะ

 

พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่ กรุงกุสินารา ตามพุทธประวัติ

 

      กุสินารา เป็น สังเวชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐอุตระประเทศ ประเทศอินเดีย ที่นี่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ค่ะ

      ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินารา ตั้งอยู่ในแคว้นมัลละ และสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์ อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ นั่นเอง

 

 

      หลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ 8

     เจ้ามัลลกษัตริย์ จัดบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิดที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราตลอด 7 วัน และให้เจ้ามัลละ ระดับหัวหน้า 8 คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออกของพระนครเพื่อถวายพระเพลิง โดยทำตามวิธีปฏิบัติพระสรีระตามที่พระอานนท์เถระบอกคือ

      ห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด จากนั้นอัญเชิญ พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า 4 คน สระสรงเกล้า และนุ่งห่มผ้าใหม่ พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจทำให้ไฟติดได้

      พระอนุรุทธะ พระเถระ แจ้งว่า "เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอ พระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ 500 รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้" และเมื่อภิกษุหมู่ 500 รูปโดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงแล้ว ไฟจึงลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด

 

 

     หลังจากที่พระเพลิงเผาซึ่งเผาไหม้พระพุทธสรีระดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่างๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ

     และเมื่อบรรดากษัตริย์จากแคว้นต่างๆ ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่กรุงกุสินารา จึงได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำกลับมาสักการะยังแคว้นของตน แต่ก็ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งและเตรียมทำสงครามกัน

      แต่ในสุด โทณพราหมณ์ ได้เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อยุติความขัดแย้งโดยเสนอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งกษัตริย์แต่ละเมืองทรงสร้างเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามเมืองต่างๆ ดังนี้

  • กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองเวสาลี
  • กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองกบิลพัสดุ์
  • กษัตริย์ถูลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองอัลลกัปปะ
  • กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองรามคาม
  • มหาพราหมณ์ สร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองเวฏฐทีปกะ
  • กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองปาวา
  • พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองราชคฤห์
  • มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่ เมืองกุสินารา
  • กษัตริย์เมืองโมริยะ ทรงสร้างสถูปบรรจุพระอังคาร (อังคารสถูป) ที่ เมืองปิปผลิวัน
  • โทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุ ที่ เมืองกุสินารา


      ทำให้ต่อมา เมืองกุสินารา กลายเป็นเมืองสำคัญศูนย์กลางแห่งการสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน เหล่ามัลลกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์และวิหารเป็นจำนวนมากไว้รอบๆสถูปใหญ่ คือ มหาปรินิพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และมหาสถูปนี้แห่งได้กลายเป็นศูนย์กลางของปูชนียสถานอื่นๆ ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้นอีกด้วย

      ในปัจจุบัน ชาวพุทธทั่วโลกได้มาก่อสร้างวัดไว้มากมายในเมืองกุสินาราแห่นี้ โดยมีวัดไทยที่นั่นด้วยค่ะ ซึ่งมีชื่อว่า วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์

 

สถูปปรินิพพาน

 

 

      สถูปปรินิพพาน เป็นศานสถานสำคัญในเมืองกุสินารา โดยมีลักษณะเป็นสถูปแบบทรงโอคว่ำ สร้างโดย พระเจ้าอโศกมหาราช บนสถูปมียอมมน มีฉัตรสามชั้น และมี มหาปรินิพพานวิหาร ตั้งอยู่ด้านหน้าในฐานเดียวกันกับสถูปปรินิพพาน

      ภายในประดิษฐาน พระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือพระพุทธรูปนอนบรรทมตะแคงเบื้องขวา ศิลปะมถุรา มีพุทธลักษณะอันพิเศษคือเหมือนคนนอนหลับธรรมดา แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานจากไปอย่างผู้หมดกังวลในโลกทั้งปวงแล้ว ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้มีอายุกว่า 1,500 ปีเลยทีเดียวค่ะ

 

มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิง

       มกุฏพันธนเจดีย์ ตั้งอยู่ห่างจากปรินิพพานสถูป 1 กิโลเมตร ชาวท้องถิ่นเรียกกันว่า รัมภาร์สถูป เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ โดยเป็นเนินดินก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดีให้ชาวพุทธได้มาเยี่ยมชม และสักการะบูชา

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก

https://www.rama.mahidol.ac.th

http://www.dhammathai.org

https://www.onab.go.th