รีเซต

วิสาขบูชา สักการะ 4 สังเวชนียสถาน อินเดีย-เนปาล พุทธสถานสำคัญ

วิสาขบูชา สักการะ 4 สังเวชนียสถาน อินเดีย-เนปาล พุทธสถานสำคัญ
Muzika
23 พฤษภาคม 2566 ( 15:10 )
95.9K

     สังเวชนียสถาน ทั้ง 4 แห่งนั้นนับว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ชาวพุทธผู้ศรัทธา ตั้งใจว่าจะต้องเดินทางไปสักการะให้ได้สักครั้งในชีวิต เป็นการตามรอยพระพุทธเจ้าในดินแดนต้นกำเนิดศาสนาพุทธยังสถานที่ทั้ง 4 ที่อยู่ในประเทศอินเดีย และเนปาล ซึ่งก็มีความสำคัญตรงกับวันวิสาขบูชา อันได้แก่ วันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่แสดงปฐมเทศนาด้วย นับได้ว่าเป็นการเดินทางเพื่อความตื่นรู้ เบิกบาน และระลึกถึงพระพุทธเจ้าโดยแท้

 

 

สังเวชนียสถาน สถานที่สำคัญทางศาสนาพุทธทั้งสี่

 

ดูละครอินเดียชื่อดัง พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก รับชมออนไลน์ฟรีที่นี่

 

     สังเวชนียสถานสี่แห่งนี้ ท่านว่าเป็นสถานที่ควรไปเคารพสักการะ ควรไปแสวงบุญ เพื่อให้เกิดความสังเวช และเกิดพุทธานุสติ อันจักนำมาซึ่งบุญกุศลและความปลาบปลื้มแช่มชื่นใจ จากเนื้อความในมหาปรินิพพานสูตร แสดงให้เห็นว่าสังเวชนียสถานทั้งสี่นี้ได้เกิดขึ้นโดยคำแนะนำของพระพุทธองค์ ที่ได้ตรัสว่า ผู้ใดระลึกถึงพระองค์ พึงจาริกไปยังสังเวชนียสถานทั้งสี่นี้ (ที่มา : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ) ได้แก่

 

1. ลุมพินีวัน หรือ รุมมินเด

สถานที่ประสูติแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

 

     ลุมพินีวัน ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศเนปาล อยู่ห่างจากชายแดนอินเดีย-เนปาลประมาณ 32 กิโลเมตร ภาษาทางราชการเรียกว่า "รุมมินเด" ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2540

 

     ลุมพินีวันในสมัยโบราณเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ และเมืองเทวทหะ แคว้นโกลิยะ อินเดียสมัยพุทธกาลมีธรรมเนียมว่าฝ่ายหญิงที่แต่งงานออกเรือนไป หากมีครรภ์จะกลับไปคลอดที่บ้านฝ่ายหญิง แต่พระนางสิริมหามายา เดินทางไปไม่ทันจะถึงเทวทหะ ก็เกิดเจ็บท้องจะคลอดกลางทางระหว่างแวะพักที่ลุมพินีวันพอดี เจ้าชายสิทธัตถะจึงประสูติที่นี่ในที่สุด

 

     ประมาณปี พ.ศ.294 พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมานมัสการ ณ ลุมพินีนี้ แล้วทรงสร้างอาราม พระเจดีย์ และเสาศิลาจารึกไว้เป็นสัญลักษณ์ แต่ด้วยกาลเวลาก็ทำให้เสาหิน รวมถึงซากโบราณสถานสำคัญๆ ทั้งหมดถูกดินฝังกลบไป จนในปี พ.ศ. 2438–2439 คณะสำรวจจึงได้ขุดค้นพบเสาศิลาพระเจ้าอโศกในที่สุด รวมถึงซากปรักหักพังจำนวนมาก ซากสถูปกว่า 50 องค์ และซากวิหารอาราม มีอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์ศุงคะ ราชวงศ์กุษาณะ และสมัยคุปตะ (ประมาณ พ.ศ. 300 - 950)

====================

 

2. พุทธคยา 

สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

 

 

     พุทธคยา ในสมัยพุทธกาลนั้นคือตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองคยา แคว้นมคธ ซึ่งมีเมืองราชคฤห์ เป็นเมืองหลวง ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้นี้เรียก ตำบลพุทธคยา ขึ้นอยู่กับจังหวัดคยา (ห่างจากจังหวัดคยา 12 กิโลเมตร) รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2545 แต่ละปีมีชาวพุทธ และผู้สนใจจากทั่วโลกหลั่งไหลมายังพุทธคยาเป็นจำนวนมาก การเดินทางง่าย มีสนามบินคยา อยู่ไม่ไกลจากตัวพุทธคยา เดินทางเพียง 30 นาทีก็ถึงแล้ว

 

     พุทธคยามีอีกชื่อเรียกว่า วัดมหาโพธิ์ เป็นศูนย์รวมของจุดหมายในการแสวงบุญของชาวพุทธผู้มีศรัทธาทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นนิกายไหนก็ตาม โดยมีจุดสำคัญที่เราจะคุ้นตากันมากที่สุดอยู่ที่ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ขนาดใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขาสร้างความร่มรื่นทั่วทั้งบริเวณ ซึ่งนับเป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์รุ่นที่สี่ ปลูกเมื่อพ.ศ. 2423 ที่ยังคงยืนต้นมาจนปัจจุบัน

====================

 

3. ธัมเมกขสถูป สารนาถ

สถานที่แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า

 

 

     ธัมเมกขสถูป อยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ปัจจุบันอยู่ในรัฐอุตระประเทศ ประเทศอินเดีย แคว้นกาสี ซึ่งเมืองพาราณสีนี้อยู่ห่างจากเมืองพุทธคยา สถานที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 200 กิโลเมตร

 

     หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และเทศน์โปรดปัญวัคคีย์จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้ว ทรงพักจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันพร้อมกับเหล่าปัญจวัคคีย์ และทรงประกาศเริ่มต้นส่งให้พระสาวกกลุ่มแรกออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลังจากทรงจำพรรษาแรกแล้ว เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา คือธรรมเมกขสถูป นั่นเอง

====================

 

4. กุสินารา

สถานที่ดับขันธปรินิพพาน

 

 

     กุสินารา ตั้งอยู่ในแคว้นมัลละ ปัจจุบันตั้งอยูในรัฐอุตระประเทศ ประเทศอินเดีย ในสมัยพุทธกาล กุสินาราจัดว่าเป็นเมืองเล็กๆ ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก แต่การที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกที่นี่เป็นที่ปรินิพพาน ทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระสรีระ และพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จักถูกแว่นแคว้นต่าง ๆ แย่งชิงไปทำการบูชา หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็กๆ อย่างเช่นเมืองกุสินารานี้ ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตนมาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม

 

     ต่อมาภายหลัง จึงมีการสร้างสถูปใหญ่ คือ มหาปรินิพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มหาสถูปนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของปูชนียสถานอื่นๆ ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้น ปัจจุบันชาวพุทธทั่วโลกได้มาก่อสร้างวัดไว้มากมาย โดยมีวัดของไทยด้วย ชื่อ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ปัจจุบันชาวไทยที่มาสักการะ ณ กุสินารา นิยมมาพักที่นี่

====================

 

ดูซีรีส์ออนไลน์ พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก

====================