รีเซต

ประวัติวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม เทศกาลแห่งความสุข วันประสูติพระเยซูเจ้า

ประวัติวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม เทศกาลแห่งความสุข วันประสูติพระเยซูเจ้า
แมวหง่าว
1 ธันวาคม 2566 ( 11:20 )
79.3K
4

     เมื่อเอ่ยถึง วันคริสต์มาส (Christmas) หลายๆ คนคงนึกถึงคุณลุงซานตาคลอส หิ้วถุงของขวัญสีแดงใบใหญ่ นั่งรถลากด้วยกวางเรนเดียร์พร้อมกับบทเพลงจิงเกิลเบลส์ อ้าว แล้วคุณลุงท่าทางใจดีคนนี้เขามีความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์ยังไงล่ะนี่ ? วันนี้เราจะมาคลายข้อสงสัยกันครับ

 

 

ประวัติวันคริสต์มาส วันประสูติพระเยซู

 

ความเป็นมาวันคริสต์มาส

 

     คำว่า คริสต์มาส ภาษาอังกฤษเขียนว่า Christmas มาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า “Christes Maesse” แปลว่า บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า โดยพบคำนี้ครั้งแรกในเอกสารโบราณในปี ค.ศ.1038 ภายหลังแปรเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas สำหรับประวัติความเป็นมาของวันคริต์มาส ซึ่งเป็นวันเกิดของพระเยซูนั้น ตามหลักฐานในพระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในสมัยที่จักรพรรดิซีซ่าร์ ออกัสตัสแห่งโรมัน ทรงสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยฝ่ายคีรีนิอัส เจ้าเมืองซีเรียก็ขานรับนโยบาย อย่างไรก็ตามในพระคัมภีร์ไม่ได้ระบุว่าพระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร

 

     คำทักทายที่เราได้ฟังบ่อย ๆ ในเทศกาลนี้คือ Merry Christmas คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณแปลว่า สันติสุขและความสงบทางใจ เพราะฉะนั้นคำนี้จึงเป็นคำที่ใช้อวยพรคนอื่นขอให้เขาได้รับสันติสุข และความสงบทางใจเนื่องในโอกาสเทศกาลคริสต์มาสนั่นเองครับ

 

ความเป็นมาวันคริสต์มาส พระเยซู

 

     วันคริสต์มาสนั้นเป็นวันที่ชาวคริสต์เฉลิมฉลอง ถือเป็นช่วงเวลาแห่งงานรื่นเริง การมอบความรักให้แก่กัน วันแห่งครอบครัว และการร่วมกลุ่มกัน ในงานรื่นเริงนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการฉลองวันคริสต์มาส เรื่องราวที่เกี่ยวกับวันคริสต์มาส นั้นได้มีการกล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิลโดยคำสอนของนักบุญลุกซ์ และนักบุญ แมททิว ในขณะที่เกิดพายุขึ้น โจเซฟและแมรี่ได้พยายามหาที่กำบัง จนกระทั่งมาถึงเมืองเบธเลเฮม ได้พบกับเจ้าของโรงแรมในเมืองนั้นแต่ไม่มีห้องว่างเลย เขาจึงได้ให้ทั้งสองนั้นไปพักอยู่ที่คอกสัตว์ และหลังจากนั้นพระเยซูก็ได้ประสูติ มีดวงดาวปรากฏขึ้นอยู่เหนือคอกสัตว์ที่ทั้งสองนั้นได้พักอยู่ ดวงดาวนี้เองที่เป็นแสงนำให้ผู้คนมายังพระเยซูน้อย หลังจาก 12 วันหลังจากได้ประสูติแล้ว ได้มีพระราชา 3 องค์ประทานของขวัญแก่ทารกนั้น

 

ความเป็นมาของ ซานตาคลอส santa claus

 

 

     ที่นี้ก็มาถึงพระเอกของท้องเรื่องกันบ้าง ซานตาคลอส เป็นจุดเด่นหรือสัญลักษณ์ที่เด็กและผู้คนนิยมมากที่สุดในเทศกาลคริสต์มาส แต่แท้ที่จริงแล้ว ซานตาคลอสแทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้เลย ชื่อซานตาคลอส มาจากชื่อ นักบุญนิโคลาส ซึ่งเป็นนักบุญที่ชาวฮอลแลนด์นับถือ เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของเด็กๆ นักบุญองค์นี้เป็นสังฆราชของไมรา (อยู่ในประเทศตุรกี ปัจจุบัน) มีชีวิตอยู่ราวศตวรรษที่ 4 เมื่อชาวฮอลแลนด์กลุ่มหนึ่งอพยพไปอยู่ในสหรัฐก็ยังรักษาประเพณีนี้ไว้ คือฉลองนักบุญนิโคลาส ในวันที่ 6 ธันวาคม ซึ่งหมายถึงนักบุญนี้จะมาเยี่ยมเด็กๆ และเอาของขวัญมาให้ เด็กอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูกหลานของชาวฮอลแลนด์ที่อพยพมาก็รู้สึกอยากมีส่วนร่วมในประเพณีแบบนี้บ้างเพื่อรับของขวัญ ประเพณีนี้จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปในอเมริกา

 

  • สีของวันคริสต์มาสนั้นมี 3 สีด้วยกัน คือ เขียว, แดง, และทอง ด้วยความเชื่อว่า สีเขียวหมายถึงชีวิต แดงคือโลหิต และทองคือชีวิตอันเป็นนิรันดร์

 

 

     ส่วนอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่จะขาดไปเสียมิได้ก็คือ ต้นคริสต์มาส ที่ตามตำนานกล่าวไว้ว่า ในสมัยโบราณ “ต้นคริสต์มาส” หมายถึง ต้นไม้ในสวนสวรรค์ ซึ่งอาดัมและอีฟไปหยิบผลไม้มากินและทำบาป ไม่เชื่อฟังพระเจ้า (ปฐก.3:1-6) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ชาวคริสต์แสดงละครถึงความหมายของคริสต์มาส และเอาต้นไม้ต้นหนึ่งไว้ตรงกลางเพื่อประดับฉาก เป็นการแสดงถึงบาปกำเนิดของอาดัมและเอวา ต้นไม้ที่ใช้นั้นเป็นต้นสน เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่หาง่ายที่สุดในประเทศนั้น

 

     การแสดงละครคริสต์มาสแบบนี้มีมาเป็นเวลาช้านานหลายร้อยปี จนถึงศตวรรษที่ 15 พระสังฆราชหลายแห่งได้ห้ามแสดง เนื่องจากการแสดงนั้น กลายเป็นการเล่นเหมือนลิเกล้อชาวบ้าน ผู้ปกครองบ้านเมือง และศาสนา ซึ่งไม่ตรงกับบรรยากาศของการฉลอง ชาวบ้านรู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสดูละครสนุกๆ แบบนั้นอีก จึงไปสนุกกันที่บ้านของตน โดยเอาต้นไม้มาไว้ที่บ้าน หลังจากนั้นก็เริ่มมีการแขวนลูกแอปเปิ้ล ขนม และของขวัญอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

 

     แม้ว่าประเพณีการตั้งต้นคริสต์มาสมีความเป็นมาดังกล่าว ชาวคริสต์ในสมัยนี้ก็ยังนิยมทำกันอยู่เพราะเห็นว่ามีความหมายถึงพระเยซูเจ้า ผู้เปรียบเสมือนต้นไม้แห่งชีวิต (ปฐก.2:9) ที่เขียวสดเสมอในทุกฤดูกาล ซึ่งหมายถึง นิรันดรภาพของพระเยซูเจ้า และนอกจากนั้นยังหมายถึงความสว่างของพระองค์ เสมือนแสงเทียนที่ส่องในความมืด ทั้งยังหมายถึงความชื่นชมยินดี และความสามัคคีที่พระเยซูเจ้าประทานให้ เพราะต้นไม้นั้นเป็นจุดรวมของครอบครัวในเทศกาลนั้น

 

ประเพณีและสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาส

 

 

ต้นคริสต์มาส

     ประเพณีที่สำคัญที่สุดคือการตกแต่งต้นคริสต์มาส ซึ่งเริ่มต้นจากการวางต้นที่ได้รับการประดับแต่งในบ้าน เตรียมเสร็จสมบูรณ์ด้วยรูปภาพของพระเยซู, ดอกไม้, และอุปกรณ์ตกแต่งที่สวยงาม

 

ของขวัญ

     การแลกของขวัญเป็นส่วนสำคัญของวันนี้ ผู้คนทั่วโลกจะมอบของให้กันเป็นสัญลักษณ์ของความรัก และความเอื้อเฟื้อ โดยจะนิยมนำของขวัญใส่ในถุงหรือกล่องสีแดง

 

อาหารและเครื่องดื่ม

     มื้อเย็นในวันคริสต์มาสมักมีอาหารพิเศษ และขนมหวานต่างๆ เช่น ไก่งวงอบ, Eggnog ซึ่งมื้ออาหารในวันนี้ถือเป็นเวลาที่ครอบครัวจะได้มารวมตัว แบ่งปันความสุขซึ่งกันและกัน

 

joy to the world จอยทูเดอะเวิลด์ เพลงประจำเทศกาลคริสต์มาส

 

    สำหรับเพลงที่เราจะได้ยินบ่อยๆ ในช่วงวันคริสต์มาส และเป็นหนึ่งในเพลงสวดนมัสการพระเกียรติ และชัยชนะของพระคริสต์ และเพื่อการรับเสด็จการกลับมาอีกครั้งของพระคริสต์ในวันพิพากษาโลก นั่นคือ Joy to the World จอยทูเดอะเวิลด์ หรือ พระทรงบังเกิด (คาทอลิก) หรือ ความสุขเปรมปรีดิ์มีแก่ชาวโลก (โปรเตสแตนต์) ประพันธ์เนื้อร้องโดย สาธุคุณไอแซก วัตต์ส (Isaac Watts) นักเทศน์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ช่วงปี ค.ศ.1719 หลังจาจกเนื้อหาเพลงนี้ถือกำเนิดขึ้นมาร่วมร้อยปี ถึงได้ผู้แต่งทำนอง โดย โลเวลล์ เมสัน (Lowell Mason) นักแต่งเพลงในสหรัฐฯ เป็นผู้นำบทกวี Joy To The World มาใส่ทำนองดังที่ได้ยินกันติดหูกันทุกวันนี้

==============