รีเซต

ประวัติประเทศกาตาร์ ไข่มุกแห่งเปอร์เซีย ดินแดนร่ำรวยแห่งตะวันออกกลาง

ประวัติประเทศกาตาร์ ไข่มุกแห่งเปอร์เซีย ดินแดนร่ำรวยแห่งตะวันออกกลาง
Muzika
29 กรกฎาคม 2565 ( 15:57 )
30K

     อย่างที่เราพอจะรู้กันอยู่แล้ว ว่าในปี 2022 นี้ กาตาร์ ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ บอลโลก 2022 ที่ กรุงโดฮา งานใหญ่ขนาดนี้เชื่อว่าน่าจะดึงดูดให้นักเดินทางจากทั่วทุกสารทิศต่างจับจ้องมายังแดนที่ได้ชื่อว่าเป็น ไข่มุกแห่งเปอร์เซีย เป็นแน่แท้ แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็มีเสน่ห์ในแบบของตะวันออกกลาง ครั้งนี้เราจึงอยากจะมาแนะนำ ประวัติประเทศกาตาร์ ให้รู้จักกับที่นี่กันให้มากกว่าเดิมครับ

 

ข้อมูลทั่วไป ประเทศกาตาร์ หรือ รัฐกาตาร์

 

กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ หรือ รัฐกาตาร์

By Mohamod Fasil, CC BY 2.0

 

     กาตาร์ ชื่อทางการคือ รัฐกาตาร์ (อาหรับ: دولة قطر) เป็นประเทศที่ปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีเจ้าผู้ครองรัฐ (Emir) เป็นประมุข มีเมืองหลางคือ กรุงโดฮา (Doha) ตั้งอยู่บนคาบสมุทรขนาดเล็กที่เป็นแหลมยื่นจากชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรอาระเบีย พรมแดนทิศใต้ และทิศตะวันตกติดกับซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับบาห์เรน ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายแห้งแล้ง ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุหนี่ รองลงมาคือศาสนาคริสต์ ใช้ภาษาอารบิกเป็นภาษาราชการ  และมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ มีประชากรทั้งหมดประมาณ 3 ล้านคน (ข้อมูล ณ ปี 2561)

 

     กาตาร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อหัวสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีรายได้ประชาชาติ (GNI) ต่อหัวสูงที่สุดเป็นอันดับ 6 ทั้งยังเป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงก๊าซ ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญเป็นประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย

 

ตั้งแต่ปี 2014 กาตาร์ แบ่งการปกครองออกเป็น 8 เขตเทศบาล หรือ baladiyah ดังต่อไปนี้

 

By Karte: NordNordWest, Lizenz: Creative Commons by-sa-3.0 de

 

 เทศบาล
(Baladiyah)
เทศบาลประชากร
(2015)
พื้นที่
(กม. 2 )
พื้นที่
(mi 2 )
1อัล ชามาลทิศเหนือ8,794859.8331.9
2อัลคอร์อัลคอร์202,0311,613.3622.8
3อัล-ชาฮานียาอัล ชาฮานียา187,5713,309.01,277.6
4อืม ศาลาอืม ศาลา90,835318.4122.9
5อัล ดาเยนดาเยน54,339290.2112.0
6อัดดะวะฮ์ (โดฮา)โดฮา956,457202.778.3
7อัล เรย์ยานไรอัน605,7122,450946.0
8อัล วาคราห์อัล วาครา299,0372,577.7995.2
  กาตาร์2,404,77611,621.14,486.7

 

 

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป ประเทศกาตาร์

 

No8 / Shutterstock.com

 

     ในสมัยโบราณ กาตาร์ได้รับการขนานนามว่าเป็นศูนย์เพาะพันธุ์ม้า และอูฐที่มีชื่อเสียง รวมถึงเป็นศูนย์กลางของการซื้อขายไข่มุกรอบคาบสมุทรกาตาร์ เดิมมีผู้ปกครองคือ ราชวงศ์อัล ทานี (Al-Thani) ที่ปกครองกาตาร์ตั้งแต่สมัยกลางศตวรรษที่ 19 ก่อนที่จะตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ในบาห์เรน, อิหร่าน และจักรวรรดิออตโตมันในภายหลัง

 

     กาตาร์อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันของชาวเติร์ก (หรือประเทศตุรเคียในปัจจุบัน) กระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศอังกฤษได้เข้ามามีอิทธิพล โดยได้ทำสนธิสัญญาปี พ.ศ. 2459 (ค.ศ. 1916) กับกาตาร์ มีผลทำให้กาตาร์อยู่ภายใต้การคุ้มครองของอังกฤษ โดยอังกฤษดูแลกิจการระหว่างประเทศของกาตาร์ และต้องป้องกันกาตาร์จากการถูกรุกรานจากภายนอก และต่อมาสนธิสัญญาปี พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) ได้ขยายการคุ้มครองของอังกฤษออกไปทุกๆ ด้าน

 

ภาพเมืองเก่าโดฮา มกราคม ค.ศ. 1904

 

     ความสนใจของอังกฤษในกาตาร์เริ่มเปลี่ยนไปหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังการเป็นเอกราชของอินเดีย การสร้างปากีสถานในปี 2490 และการพัฒนาน้ำมันในกาตาร์ ในปี ค.ศ. 1949 ทำให้รายได้จากน้ำมันกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ การค้าไข่มุกเริ่มลดลง รายได้เหล่านี้ถูกใช้เพื่อเป็นทุนในการขยายและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของกาตาร์ให้ทันสมัยขึ้น 

 

     ปีพ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) รัฐบาลอังกฤษประกาศจะถอนตัวออกจากภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียภายในปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) กาตาร์จึงพยายามรวมตัวเป็นสหพันธรัฐกับบาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กาตาร์เป็นเอกราชเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) โดยอังกฤษได้ยกเลิกสนธิสัญญาปี พ.ศ. 2459 (ค.ศ. 1916) และได้มีการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพระหว่างกันแทน

 

     ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) Shaikh Khalifa Bin Hamad Al – Thani ได้ทำรัฐประหารสำเร็จโดยปราศจากการนองเลือด และต่อมา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) Shaikh Hamad Bin Khalifa Al – Thani พระโอรส ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นมกุฎราชกุมารของกาตาร์ ก็ได้ยึดอำนาจการปกครองและตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองรัฐองค์ใหม่

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างกาตาร์กับประเทศไทย

 

 Benny Marty / Shutterstock.com

 

     ประเทศไทยกับรัฐกาตาร์ ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2523 โดยประเทศไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา ในปี 2545 ต่อมาในปี 2547 กาตาร์ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในไทย ซึ่งความสัมพันธ์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่น

 

     ทางด้านเศรษฐกิจ ไทยส่งออกสินค้าไปยังกาตาร์ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญคือ ยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้า เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ อลูมิเนียม เครื่องจักรกล อัญมณี และเครื่องประดับ ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากกาตาร์ ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ ปัจจุบันมีคนไทยทำงานอยู่ในกาตาร์หลายพันคน โดยร้อยละ 90 ทำงานในภาคการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมพลังงาน ส่วนที่เหลืออยู่ในภาคบริการ

 

 

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศกาตาร์ (สิ่งของที่ต้องสำแดง)

 

 

     อ้างอิงตามประกาศโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา (วันที่29 ก.ค. 2565) ได้ออกข้อปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศไว้ ดังนี้

 

     บุคคลใดที่เดินทางเข้ามาหรือออกจากประเทศกาตาร์ และครอบครองเงินตรา พันธบัตร ตราสารเปลี่ยนมือ โลหะมีค่า หรือหินมีค่า ที่มีมูลค่าเกินกว่า 50,000 กาตาร์ริยาล หรือเทียบเท่าในสกุลเงินอื่น (ประมาณ 420,000 บาท) จะต้องกรอกแบบฟอร์มสำแดงสิ่งของศุลกากร และให้รายละเอียดอื่นๆ ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรร้องขอ

 

สิ่งของที่ต้องสำแดง

  • เงินตรา ทั้งสกุลเงินกาตาร์ริยาล และสกุลเงินอื่น
  • ตราสารเปลี่ยนมือ ได้แก่ ตราสารทางการเงินในลักษณะที่มีผู้ถือ เช้น เช็คเดินทาง เช็คเงินสด ตั๋วสัญญาใช้เงิน และหนังสือสั่งจ่ายเงินทุกประเภท ทั้งที่อยู่ในรูปแบบตราสารเปลี่ยนมือ ตราสารทางการเงินที่มีข้อความไม่สมบูรณ์ซึ่งรวมถึงเช็ค ตั๋วสัญญาใช้เงิน และหนังสือสั่งจ่ายเงินที่ลงนามแล้วแต่ไม่ระบุชื่อผู้รับเงิน
  • โลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ เงิน แพลทินัม (platinum) และวัตถุมีค่าอื่นๆ 
  • หินมีค่า อาทิ เพชร หยก ทับทิม แซฟไฟร์ และไข่มุก เป็นต้น

 

*การไม่สำแดง การให้ข้อมูลเท็จ หรือปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรเกี่ยวกับที่มาของเงินตรา ตราสารทางการเงิน และตราสารเปลี่ยนมือ โลหะมีค่า หรือหินมีค่าดังกล่าวข้างต้น อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี หรือปรับอย่างต่ำ 100,000 กาตาร์ริยาล (ประมาณ 850,000 บาท) และสูงสุดไม่เกิน 500,000 กาตาร์ริยาล (ประมาณ 4,200,000 บาท) หรือ 2 เท่าของทรัพย์สินที่ไม่สำแดงขึ้นอยู่กับมูลค่าใดที่มีค่าสูงกว่า และยึดทรัพย์ดังกล่าว

ข้อมูลอ้างอิง : doha.thaiembassy.org/th

====================