รีเซต

เปิดประวัติ คลองสุเอซ Suez Canal อียิปต์ ทางลัดเชื่อมเอเชียสู่ยุโรป

เปิดประวัติ คลองสุเอซ Suez Canal อียิปต์ ทางลัดเชื่อมเอเชียสู่ยุโรป
Muzika
26 มีนาคม 2564 ( 16:30 )
13.5K
1

     ถ้าจะให้พูดถึงคลองขุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก คงไม่มีที่ไหนจะทำให้เราเห็นศักยภาพของมนุษย์โลกได้ดีเท่ากับ คลองสุเอซ (Suez Canal) แห่งประเทศอียิปต์ได้อีกต่อไปแล้ว ด้วยระยะทางที่ยาวพอๆ กับระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปหัวหิน เชื่อมระหว่างทวีปยุโรป และทวีปเอเชียเข้าด้วยกัน ช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางทางเรือที่แต่ก่อนต้องลงไปอ้อมทางใต้ของทวีปแอฟริกา วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับคลองแห่งนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า ว่าก่อนที่จะกลายเป็นคลองตันในวันนี้ คลองสุเอซนั้นมีหน้าตาเป็นยังไง

 

 

คลองสุเอซ คลองสำคัญที่สุดของโลก

 

ที่มา ประวัติการสร้างคลองสุเอซ  

 


ภาพวาดคลองสุเอซ ปี ค.ศ. 1881

 

     ที่นี่ตั้งอยู่ระหว่าง พอร์ตซาอิด ฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และบริเวณคอคอดที่ เมืองสุเอซ ประเทศอียิปต์บนฝั่งทะเลแดง ด้วยระยะทาง 193.3 กิโลเมตร แม้จะฟังดูยาวไกล แต่การแล่นเรือผ่านเส้นทางนี้จะย่นระยะทางได้มากถึง 40% เลยทีเดียว ใช้เวลาประมาณ 13 ชั่วโมงก็ข้ามทวีปไปเรียบร้อย 

 

คลองสุเอซ Suez Canal อียิปต์

 

     แต่ก่อนนั้น การเดินทางค้าขายระหว่างประเทศในฟากเอเชีย และยุโรป จำเป็นจะต้องแล่นอ้อมผ่าน แหลมกู๊ดโฮป ที่ตั้งอยู่ตอนปลายสุดของทวีปแอฟริกา และเป็นจุดที่แบ่งระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะต้องใช้เวลาถึง 24 วัน ยิ่งใช้เวลานานก็ยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงได้เกิดแนวคิดที่จะขุดคลองสุเอซขึ้น โดยเกิดจากความร่วมมือของอียิปต์กับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1859 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ของไทย) และเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1869 โดยมีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศให้เรือของทุกชาติสามารถใช้คลองนี้ได้ ไม่ว่าในยามสงบหรือยามสงคราม

====================

 

วิกฤตการณ์ ศึกชิงคลอง

 

ภาพวันเปิดคลองสุเอซ ปี 1869

 

     แน่นอนว่าความสงบไม่เคยอยู่ได้นาน ด้วยความที่เป็นคลองที่ใครๆ ก็ต้องแล่นผ่าน สร้างผลประโยชน์ และรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ผู้ครอบครอง เส้นทางเดินเรือนี้จึงพบกับปัญหาอยู่เรื่อยมา ได้แก่

  • ปี ค.ศ. 1882 อียิปต์เกิดความไม่สงบภายในประเทศ อังกฤษจึงใช้โอกาสนี้ในการเข้ายึดครองอียิปต์รวมถึงคลองสุเอซด้วย โดยมีฝรั่งเศสเป็นผู้สนับสนุน แต่หลังจากนั้นไม่นาน อังกฤษและฝรั่งเศสก็ขัดแย้งกันเองเรื่องผลประโยชน์ สุดท้ายก็จบลงตรงที่ทั้ง 2 ประเทศต้องร่วมตกลงใน อนุสัญญาคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งมีผลทำให้คลองสุเอซเป็นดินแดนเป็นกลาง

  • ปี ค.ศ. 1956 รัฐบาลอียิปต์ในสมัยของนายกรัฐมตรี กามาล อับเดล นัสเซอร์ ก็เข้ามายึดกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของร่วมของอังกฤษกับฝรั่งเศสมาเป็นของรัฐซะเอง ด้วยเหตุผลว่าต้องหารายได้มาเป็นทุนในการสร้างเขื่อนอัสวาน ทางอังกฤษกับฝรั่งเศสจึงจับมือกันโดยดึงอิสราเอลเข้ามาร่วมด้วย เพราะอิสราเอลนั้นถูกอียิปต์กีดกันไม่ให้ใช้คลองสุเอซมานานแล้ว สุดท้ายเรื่องราวลุกลาม เกิดเป็นวิกฤติการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis) กลายเป็นสงครามระหว่างประเทศครั้งใหญ่ สุดท้ายอียิปต์ที่กำลังโดยรุมก็เลยตอบโต้ด้วยการจมเรือปิดคลองสุเอซซะเลย ผลก็คือเดือดร้อนกันไปทั้งโลก จนองค์การสหประชาชาติต้องเข้ามาช่วยในการไกล่เกลี่ย อังกฤษ ฝรั่งเศสและอิสราเอลยอมถินกำลังออกจากคาบสมุทรซีนายไปในที่สุด

  • ปี ค.ศ. 1967 - 1975 วิกฤตคลองสุเอซเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเป็นการสู้รบกันระหว่างอิสราเอล และชาติอาหรับ ซึ่งครั้งนี้อียิปต์ก็ปิดคลองไม่ให้เรือของอิสราเอลผ่านเช่นเดิม ยื้อกันนาน 8 ปี เหตุการณ์จึงสงบลง

====================

 

คลองสุเอซในปัจจุบัน 

 

 

     ปัจจุบันคลองสุเอซกลับมาเป็นของประเทศอียิปต์แล้ว ภายใต้ชื่อ Suez Canal Company ซึ่งดำเนินกิจการมายาวนานถึง 160 ปีแล้ว ในแต่ละปีจะมีเรือผ่านคลองนี้ประมาณ 25,000 ลำ ขนถ่ายสินค้าคิดเป็นจำนวน 14% ของการขนส่งทางเรือทั้งหมดของโลก โดยคลองสามารถรับเรือที่มีน้ำหนักขนส่งได้มากถึง 150,000 ตัน ความกว้างของเรือที่สามารถผ่านได้คือไม่เกิน 16 เมตร

 

     ล่าสุดทางอียิปต์ยังประกาศพัฒนาคลองสุเอซครั้งใหญ่ โดยนอกจากการขยายคลองสายเดิมแล้ว ยังมีการขุดคลองเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสาย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในปี ค.ศ. 2023 และน่าจะทำให้คลองสุเอซสามารถรองรับปริมาณเรือต่อวันได้มากขึ้น และลดเวลาการเดินทางได้มากกว่าเดิมอีกด้วย โดยจะมีการก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งภาคการผลิต โลจิสติกส์ อู่ซ่อมเรือ และอื่นๆ นับว่าคลองสุเอซนั้นจะยังมีความสำคัญต่อการค้าโลกเป็นอย่างมากไปอีกนานแสนนาน

====================