ประวัติ จังหวัดพิจิตร เมืองชาละวัน แดนประวัติศาสตร์ ที่น่าไปค้นหา
จังหวัดพิจิตร เมืองชาละวัน ที่เต็มไปด้วยผู้คนน่ารัก และยังมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายดั้งเดิม รวมถึงยังเป็นจังหวัดเก่าแก่ เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์มากมายอีกด้วยค่ะ วันนี้เราเลยจะบอกถึง ประวัติความเป็นมาของพิจิตร กัน ว่าเมื่อก่อนนั้น ที่นี่เป็นมาอย่างไรกันบ้าง
พิจิตร ที่เที่ยวภาคกลาง จังหวัดเล็กๆ แต่มีอะไรดีมากมาย
ประวัติ จังหวัดพิจิตร
จังหวัดพิจิตร เป็นจังหวัดที่เก่าแก่มากจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยเลยค่ะ โดยมีมาตั้งแต่ในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว เชื่อกันว่าเจ้ากาญจนกุมาร (พระยาโคตระบอง) โอรสพระยาโคตมเทวราช เป็นผู้สร้างเมืองนี้ขึ้นมาค่ะ ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 1601 นั่นเองค่ะ และยังเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วย เพราะเป็น สถานที่ประสูติของพระเจ้าเสือ หรือ พระศรีสรรเพชญ์ที่ 8 และเป็นเมืองที่ให้กำเนิดนักปราชญ์ราชบัณฑิต อย่าง พระโหราธิบดี บิดาของศรีปราชญ์นั่นเอง
เมื่อก่อนนั้น จะมีหลายชื่อเรียกด้วยกัน ทั้ง เมืองสระหลวง เมืองโอฆะบุรี เมืองชัยบวร และ เมืองปากยม โดยทั้งหมดนี้เป็นดินแดนในเขต จังหวัดพิจิตร ที่อยู่ในที่ราบลุ่มตอนใต้ของภาคเหนือ ในดินแดนสุวรรณภูมินั่นเองค่ะ ซึ่งบริเวณนี้ ยังเป็นบริเวณที่ลำน้ำยมและลำน้ำน่านไหลผ่านอีกด้วย ทำให้เต็มไปด้วยห้วย หนอง คลอง บึง ถือได้ว่าเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำการเกษตรอย่างมาก เพราะเป็นดินตะกอนที่เกิดจากน้ำท่วมทับถมทุกปี และยังมีปลาชุกชุมอีกด้วย
ส่วนในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พอได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นแบบจตุสดมภ์นั้น ก็ทำให้เกิดการแบ่งหัวเมืองออกเป็นหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา ซึ่ง เมืองพิจิตร ก็มีฐานะเป็นเมืองตรีนั่นเองค่ะ ทำให้มีความสำคัญต่อทางการทหารและการปกครองอย่างมากเลย
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 นั้น ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนเรื่อง ไกรทอง ซึ่งมีการใช้เมืองพิจิตรเป็นแหล่งกำเนิดของเรื่องราวอีกด้วย ด้วยความที่เมืองพิจิตร มีแหล่งน้ำมากและจระเข้ชุกชุมนั่นเองค่ะ ถัดมาในปี พ.ศ. 2435 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ได้นำรูปแบบการปกครองระบบเทศภิบาลมาใช้ และมีการจัดตั้งมณฑลพิษณุโลก เป็นมณฑลแรก ซึ่งประกอบด้วย 5 เมือง คือ เมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย และ เมืองพิจิตร ค่ะ
Tossapon Nakjarung / Shutterstock.com
ตราประจำจังหวัดพิจิตร
ตราประจำจังหวัดพิจิตร จะเป็นรูปของ สระและต้นโพธิ์ ซึ่งสระนั้นจะหมายถึง เมืองสระหลวง ที่เป็นชื่อเดิมของจังหวัด และ ต้นโพธิ์ ก็หมายถึง วัดโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 8 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามขึ้น ที่ ตำบลโพธิ์ประทับช้าง ในช่วงที่ได้เสด็จมาคล้องช้างเมืองพิจิตร เลยไปเยี่ยมมาตุภูมิเดิมที่หมู่บ้านโพธิ์ประทับช้างนั่นเองค่ะ
คำขวัญจังหวัดพิจิตร
“ ถิ่นประสูติพระเจ้าเสือ แข่งเรือยาวประเพณี พระเครื่องดีหลวงพ่อเงิน เพลิดเพลินบึงสีไฟ ศูนย์รวมใจหลวงพ่อเพชร รสเด็ดส้มท่าข่อย ข้าวเจ้าอร่อยลือเลื่อง ตำนานเมืองชาละวัน ”
อย่างที่รู้กันดีกว่าที่นี่เป็นจังหวัดประสูติของ พระเจ้าเสือ หรือ สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 8 นั่นเองค่ะ ซึ่งจังหวัดพิจิตรนั้น ก็จะดังในเรื่องของ หลวงพ่อเงิน พระดังของจังหวัด วัดบางคลาน ประเพณีแข่งขันเรือยาว ส้มโอท่าข่อย ผลไม้ขึ้นชื่อนั่นเอง และยังมี หลวงพ่อเพชร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองพิจิตร รวมไปถึงที่เที่ยวดัง อย่าง บึงสีไฟ แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ของประเทศไทย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดและที่อยู่ของนกมากมายหลายชนิด ยังเป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวมากเป็นอันดับสามของภาคเหนือ และมีตำนานพื้นบ้านอย่าง ชาละวัน ที่ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องรู้จักเช่นกันค่ะ
สถานที่ท่องเที่ยวใน จังหวัดพิจิตร
ไม่ว่าใครๆ ที่เดินทางมา พิจิตร นั้นก็ต้องตามมาเที่ยวที่ดังต่างๆ เพราะเต็มไปด้วย วัดสวยๆ แหล่งประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น บึงสีไฟ ตลาดเก่าวังกรด วัดโพธิ์ประทับช้าง วัดท่าหลวง อุทยานเมืองเก่าพิจิตร และที่เที่ยวถ่ายรูป อย่าง สถานีรถไฟพิจิตร เป็นต้นค่ะ นอกจากนี้ยังมีประเพณีชื่อดังที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เช่น ประเพณีแข่งเรือยาว ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ ประเพณีมะม่วงดัง มะปรางเด่น อีกด้วยค่ะ
อ้างอิง http://www.phichit.go.th/
ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<