รีเซต

พระราชวังต้องห้าม Forbidden City ที่เที่ยวจีน มรดกยิ่งใหญ่แห่ง แดนมังกร

พระราชวังต้องห้าม Forbidden City ที่เที่ยวจีน มรดกยิ่งใหญ่แห่ง แดนมังกร
SummerB
18 พฤษภาคม 2565 ( 21:30 )
24.8K

         ไฮไลท์ของ กรุงปักกิ่ง ที่เที่ยวจีน จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลยนอกจาก พระราชวังต้องห้าม Forbidden City หรือ กู้กง พระราชวังที่สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่อลังการของประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมจีนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่งดงามน่าชมอยู่หลายจุด ทำให้ที่นี่ได้รับการขึ้นทะเบียน มรดกโลก อันทรงคุณค่าของประเทศจีน วันนี้เราจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ พระราชวังต้องห้าม และประวัติความเป็นมาของที่นี่ จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ตามเรามาเลยค่ะ

 

พระราชวังต้องห้าม Forbidden City

มรดกโลก เมืองจีน

 

ประวัติ พระราชวังต้องห้าม

และการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลก

 

       พระราชวังต้องห้าม (Forbidden City) หรือ กู้กง (故宫) เป็นพระราชวังเก่าแก่ที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์จีนมายาวนานหลายร้อยปี รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจีนด้วย เริ่มต้นที่ จักรพรรดิหย่งเล่อ (Yongle Emperor) จักรพรรดิองค์ที่ 3 ของราชวงศ์หมิง (Ming Dynasty 1368 - 1644) ต้องการย้ายเมืองหลวงจาก หนานจิง (Nanjing) มายัง ปักกิ่ง (Beijing) จึงได้มีการสร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1406 ก่อนจะแล้วเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1420 และได้กลายเป็นที่ประทับของจักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์หมิง ตลอดไปจนถึงราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty 1644 - 1912) 

 

 

       จนกระทั่งปี ค.ศ. 1911 ก็จะได้มีการปฏิวัติครั้งใหญ่ และเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น ทำให้พระราชวังแห่งนี้กลายเป็นสถานที่จองจำของ จักรพรรดิผู่อี๋ (Puyi) จักรพรรดิองค์ที่ 11 และองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิงจนกระทั่งถูกเนรเทศออกไปเมื่อปี ค.ศ. 1924 ถือเป็นการปิดฉากราชวงศ์ชิงโดยสมบูรณ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1925 พระราชวังต้องห้ามก็ได้เปลี่ยนจากสถานที่ประทับของจักรพรรดิมาเป็น พิพิธภัณฑ์กู้กงแห่งชาติ (Palace Museum) ที่จัดแสดงสัมบัติล้ำค่าของประเทศจีน แต่ด้วยภาวะสงคราม และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้สมบัติในพระรางวังได้รับความเสียหายไปหลายส่วน ในปี ค.ศ. 1961 พระราชวังต้องห้ามจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกทางวัฒนธรรม เพื่ออยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาลจีน ก่อนจะได้ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลก (UNESCO World Hertiage Site) เมื่อปี ค.ศ. 1987 ค่ะ

 

ไฮไลท์ พระราชวังต้องห้าม

 

       ปัจจุบันพระราชวังต้องห้ามกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดในปักกิ่ง และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมายจากทั่วโลกเพื่อมาชมความยิ่งใหญ่อลังการของสถาปัตยกรรมจีนโบราณ ด้วยพื้นที่กว่า 720,000 ตารางเมตร หรือ 450 ไร่ พระราชวังต้องห้ามจึงแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ พระราชฐานชั้นนอก (outer court) เขตที่รวมพระที่นั่ง และสถานที่สำเร็จราชการ การทูต และจัดพระราชพิธีต่างๆ และ พระราชฐานชั้นใน (inner court) เขตของตำหนักและที่ประทับของสมาชิกราชวงศ์นั่นเองค่ะ 

 

 

        ก่อนเข้าถึงส่วนของพระราชวัง เราจะพบกับ จัตุรัสเทียนอันเหมิน (Tiananmen Square) สัญลักษณ์ของกรุงปักกิ่งที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์จีนในช่วงศตวรรษที่ 20 อีกทั้งยังเป็นจัตุรัสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย เมื่อผ่านจัตุรัสเทียนอันเหมินไปแล้ว ก็จะพบกับ ประตูอู่ หรือ Meridian Gate ประตูที่ใหญ่ที่สุดในพระราชวังต้องห้าม ด้านหน้าจะมีจัตุรัสขนาดใหญ่ ซึ่งในอดีตเป็นที่รวมตัวของข้าราชการฝ่ายพลเรือนและทหารเพื่อรอรับพระราชโองการหรือประกาศกำหนดการณ์ต่างๆ จากฮ่องเต้ 

 

superjoseph / Shutterstock.com

 

        ไฮไลท์สำคัญที่พลาดไม่ได้เลยคือ พระที่นั่งไท่เหอ (Hall of Supreme Harmony) 1 ใน 3 พระที่นั่งสำคัญที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีต่างๆ นั่นก็คือ พิธีราชาภิเษก และ พิธีอภิเษกสมรส เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพระราชวังต้องห้ามที่สร้างจากไม้ทั้งหลัง ด้านในท้องพระโรงมีขนาดกว้างขวางมาก รวมถึงบัลลังก์มังกรของฮ่องเต้ที่ตั้งอยู่บริเวณตรงกลาง ด้านบนสุดของท้องพระโรง แสดงถึงความยิ่งใหญ่ได้เป็นอย่างดี

 

 

      นอกเหนือจากนั้นแล้ว ภายในพระราชวังยังมีพระที่นั่ง ตำหนัก และสิ่งก่อสร้างที่สำคัญอีกมากมาย เช่น The Palace of Earthly Tranquility, Hall of Mental Cultivation, Palace of Tranquil Longevity, Corner Tower และอื่นๆ อีกมากมายที่แสดงให้เห็นถึงความงดงามของสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ในสมัยราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง นอกจากนี้ยังมีส่วนของพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ และสมบัติล้ำค่าของประเทศ รวมถึงบอกเล่าประวัติความเป็นมา และเรื่องราวต่างๆ ในพระราชวังต้องห้ามอีกด้วย ใครที่มีความสนใจในประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมจีนก็ต้องมาที่นี่เลยค่ะ

 

พิกัด : https://goo.gl/maps/vXzVwE8r6mzaQ57v7