รู้จัก ฉนวนกาซา ดินแดนพิพาทนับร้อยปี คืออะไร อยู่ที่ไหน?
ฉนวนกาซา หนึ่งในชื่อสถานที่ที่หลายคนตั้งแต่เกิดมาน่าจะเคยได้ยินผ่านหูมาหลายรอบ และทุกครั้งก็มักจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องสงคราม หรือข้อพิพาทในแถบตะวันออกกลางอยู่เสมอ เรามารู้จักพื้นที่ตรงนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า ว่าเหตุใดพื้นที่เล็กๆ กินอาณาเขตเพียง 360 ตารางกิโลเมตรถึงได้กลายมาเป็นเขตแดนพิพาทอยู่จนถึงทุกวันนี้
- เปิดประวัติ อิสราเอล ดินแดนแห่งพันธสัญญาคานาอัน
- เยรูซาเล็ม ประวัติ เมืองศักดิ์สิทธิ์ กว่าพันปี ของ 3 ศาสนา
ฉนวนกาซา คืออะไร อยู่ตรงไหนบนแผนที่โลก?
ฉนวนกาซา ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในตะวันออกกลาง อาณาเขตทางตะวันตกเฉียงใต้ติดกับอียิปต์ ทางเหนือ และตะวันออกติดกับประเทศอิสราเอล ทางตะวันตกติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งพื้นที่นี้ถูกกำหนดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ หลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกในปี 1948 ให้เป็นคล้าย ๆ เขตกันชนระหว่างคู่อริทั้ง 2 ฝ่าย
By Gringer, CC BY-SA 3.0
หลังปี 1948 ฉนวนกาซ่าถูกปกครองโดยอียิปต์ แต่อียิปต์ก็ไม่ได้ผนวกรวมเอาดินแดนส่วนนี้เป็นของตน จนกระทั่งอิสราเอลชนะสงครามหกวัน ในปี 1967 (ซึ่งอิสราเอลสามารถยึดครองดินแดนของอาหรับได้มากมาย) ทำให้ฉนวนกาซ่าเป็นหนึ่งในดินแดนที่อิสราเอลเข้ายึดครอง อย่างไรก็ตาม อิสราเอล และปาเลสไตน์ได้ทำสนธิสัญญาออสโลร่วมกันในปี 1993 ซึ่งส่วนหนึ่งในข้อตกลงนั้นคือ การอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองตัวเอง (อย่างจำกัด) ในเขตฉนวนกาซา
ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในกาซ่าถึง 3 ใน 4 เป็นผู้อพยพลี้ภัยที่อาศัยอยู่ตามแคมป์ที่สหประชาชาติจัดไว้ให้ ส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยเหล่านี้เกิดในพื้นที่ฉนวนกาซ่า แต่ก็มีบางส่วนที่อพยพมาตั้งแต่หลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรก
ในทางภูมิศาสตร์แล้ว ฉนวนกาซาถือเป็นดินแดนของปาเลสไตน์ แต่ก็ยังไม่มีชาติใดให้การรับรองฉนวนกาซาว่าเป็นดินแดนที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง บางส่วนได้ถือว่าฉนวนกาซาเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของอิสราเอล ซึ่งอิสราเอลได้ให้การปฏิเสธหลังจากถอนทหารไปเมื่อ ค.ศ. 2005 อย่างไรก็ตามอิสราเอลได้ควบคุมการเข้าออกฉนวนกาซาทั้งทางน้ำและทางอากาศ
====================
ชาวปาเลสไตน์คือใคร เหตุใดถึงมาอยู่ในพื้นที่นี้ ?
Val_Yankin / Shutterstock.com
หลายคนอาจยังสงสัยอยู่ ว่าพื้นที่นี้เกิดขึ้นมาจากสงครามอาหรับ-อิสราเอล แล้วชาวปาเลสไตน์มาจากไหน คำว่าปาเลสไตน์นั้นใช้เรียกชื่อลูกหลานของขาวอาหรับเดิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ ที่ต้องอพยพหนีออกไปตอนที่เกิดสงครามในปี 1948
ปัจจุบันอิสราเอลยังควบคุมการเข้า-ออกฉนวนกาซาจากภายนอก โดยมาตรการปิดล้อมกาซานี้มีเป้าหมายเพื่อต้องการโดดเดี่ยวกาซา ให้ชาวปาเลสไตน์ในกาซาเจอปัญหาความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ จำกัดการนำเข้าอาหารการกิน ยารักษาโรค วัสดุก่อสร้าง และสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ด่านพรมแดนต่างๆ ทั้งที่จะข้ามไปอียิปต์ และอิสราเอลก็ถูกปิด สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนเปรียบเสมือนถูกลงโทษอยู่ในคุกเปิด
ฉนวนกาซาในปัจจุบันอยู่ในการปกครองของกลุ่มขบวนการฮามาส เป็นกลุ่มต่อต้านอิสราเอลซึ่งมีความเข้มแข็ง และถูกจัดตั้งอย่างเป็นระบบ โดยมีจุดมุ่งหมายคือการสร้างรัฐปาเลสไตน์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง บนแผ่นดินเดิมก่อนที่จะเป็นรัฐอิสราเอล ทำให้อิสราเอลต้องใช้กำลังเข้ามาโจมตีกาซาอย่างที่เราเห็นกันในสถานการณ์ปัจจุบัน
====================
ทำไมชาวอิสราเอลจึงต้องการเข้ามาครอบครองฉนวนกาซา
GERSHBERG Yuri / Shutterstock.com
ทางด้านอิสราเอลนั้นต้องเล่าย้อนไปถึงสมัยปี 1917 ก่อนที่จะมีการก่อตั้งชาติอิสราเอล ประเทศอังกฤษเข้ามาโค่นจักรวรรดิออตโตมัน โดยสัญญาจะยกแผ่นดินบริเวณนี้ให้กับชาวอาหรับที่อยู่เดิม และยกแผ่นดินให้ผู้อพยพชาวยิวด้วย จึงเท่ากับว่าอังกฤษสัญญาไว้กับทั้งชาวปาเลสไตน์อาหรับ และชาวยิว โดยไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าทั้ง 2 ฝ่ายนี้ต้องการจะครอบครองแผ่นดินเดียวกัน
หลังจากอังกฤษปลดปล่อยเยรูซาเล็มจากผู้ปกครองออตโตมันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มเกิดการอพยพหลั่งไหลเข้ามาของชาวยิวเป็นจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่นี้ เพราะต้องการหลบหนีการการข่มเหงจากชาติต่างๆ ในแถบยุโรป ในเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายต่างต้องการพื้นที่เดียวกัน จึงเกิดสงครามอาหรับ-ยิว เกิดขึ้นช่วงปี 1947-1948 (ยิวประกาศอิสรภาพ และตั้งรัฐอิสราเอล) สุดท้ายยุติลงด้วยการที่อิสราเอลควบคุมดินแดนปาเลสไตน์ได้เป็นส่วนใหญ่
จึงเห็นได้ว่าความต้องการครอบครองพื้นที่ที่มีทั้งสองฝ่ายนี้ ไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลงเลย เพราะต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์เป็นเจ้าของแผ่นดินปาเลสไตน์อย่างเต็มที่นั่นเอง
====================
สงคราม 6 วัน (Six Day War)
สงครามระหว่างอาหรับ – อิสราเอลครั้งต่อมาเกิดขึ้นในปี 1967 ที่รู้จักกันในชื่อ สงคราม 6 วัน เมื่ออิสราเอลเข้ายึดเยรูซาเล็มตะวันออก เขตเวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา พื้นที่ส่วนใหญ่ของที่ราบสูงโกลันของซีเรีย และแหลมไซนายเอาไว้ได้ โดยมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง รับรองให้ดินแดนแถบนี้เป็นของอิสราเอล จากนั้นชาวปาเลสไตน์ก็ถูกขับไล่อีกครั้ง จนเกิดองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ขึ้นมา โดยมุ่งโจมตี และทำลายอิสราเอลในทุกทาง
จวบจนถึงปัจจุบันนี้ทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังคงยิงจรวดโจมตีใส่กันไปมา ฝั่งอิสราเอลยังคงดำเนินการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่อยู่เรื่อยๆ แม้นานาชาติเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการใช้ความรุนแรง และการขับไล่แล้วก็ตาม และก็ยังไม่มีทีท่าว่าความขัดแย้งนี้จะจบลงในเร็ววัน
อ้างอิงข้อมูล :
ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<