ประวัติ เทศกาลกินเจ งานถือศีลกินผัก ของลูกหลานชาวจีน ที่คนจีนไม่ได้กิน ?
เข้าถึงช่วง เทศกาลกินเจ เราจะทราบกันดีว่างานในไทยนี่จะคึกคักครื้นเครงกันมาก โดยเฉพาะตามที่อยู่ของลูกหลานชาวจีนอย่าง เยาวราช ที่จะเห็นธงสีเหลือง ตัวอักษรสีแดงประดับกันทั่วทั้งแถบ แต่สิ่งที่หลายๆ คนสงสัยก็คือ แล้ว งานกินเจในประเทศจีน เองล่ะ หน้าตาแตกต่างจากของเรามากไหม? จัดกันยิ่งใหญ่อลังการ มีการแห่ขบวนคนทรงอย่างเราหรือเปล่า?
- กินเจ 2567 เช็คลิสต์ 10 ข้อควรปฏิบัติในช่วง เทศกาลกินเจ ดูไว้ได้บุญ
- กินเจ 2567 ไหว้ขอพรเทพเจ้า 9 ศาลเจ้าดัง วัดจีน เสริมดวง ไหว้แล้วดี
ประวัติ เทศกาลกินเจ
สรุปสั้นๆ ตรงนี้ก่อนว่า "ไม่มี" ครับ ถ้าคุณไปเที่ยวจีน ฮ่องกง ไต้หวัน แล้วคิดว่าจะพบกับธงสีเหลืองประดับประดาทั่วไปอย่างไทยนั้น คงต้องผิดหวังแน่ๆ ถามคนที่นั่นหลายๆ คนยังงงด้วยซ้ำว่ามันคือเทศกาลอะไร
อ้าว ไหนบอกว่าเป็นเทศกาลของลูกหลานชาวจีนไง ใช่ครับ ที่มาของเทศกาลนี้ก็มาจากชาวจีนจริงๆ เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้ทำกันอย่างแพร่หลาย หรือเป็นเทศกาลใหญ่ที่มีประเพณีร่วมกันทั่วโลกเหมือนอย่างวันตรุษจีน เอาเป็นว่าก่อนจะทำความรู้จักจุดเริ่มต้นของเทศกาลกินเจในไทย เรามาทำความเข้าใจเรื่องราวในเมืองจีนกันให้มากขึ้นก่อนดีกว่าครับ
ที่มาของเทศกาลกินเจในประเทศจีน
ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลมาก แค่ข้ามจากมณฑลหนึ่งไปอีกมณฑลหนึ่งก็แทบจะเหมือนคนละประเทศกันแล้ว ไม่ว่าจะภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อต่างๆ ที่ถ้าไปถามคนจีนเองยังงง เช่น ไปถามคนจีนทางเหนือเรื่องติ่มซำ เขาก็จะไม่รู้จัก (จุดกำเนิดอยู่แถวฮ่องกง กวางตุ้ง) ไปถามเรื่องคนจีนไม่กินเนื้อเพราะนับถือเจ้าแม่กวนอิมไหม เขาก็งง เพราะที่นั่นกินกันเป็นล่ำเป็นสันมาก
ในทำนองเดียวกัน การกินเจนั้นเป็นเรื่องเฉพาะถิ่น ไม่ได้ทำกันทั่วทั้งประเทศ คนจีนที่กินเจส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน และแต้จิ๋ว อยู่ในมณฑลฟูเจี้ยน ซึ่งชาวจีนในละแวกนี้ก็มักอพยพย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเค้าจะไม่เรียกว่าเทศกาลกินเจ แต่จะเรียกว่า เทศกาลเฉลิมฉลองของพระราชาธิราชทั้ง 9 (Nine Emperor Gods Festival) หรือ 九皇大帝 ในประเทศจีนเองแม้จะพอมีอยู่บ้างแต่ก็หายากมากๆ แล้ว เป็นประเพณีแบบลัทธิเต๋ารวม 9 วัน กำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือ เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี
เมื่อตำนานไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว
ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่เมืองจีน จึงปรากฏตำนานความเชื่อที่ผูกโยงกับพระพุทธเจ้า 7 พระองค์และพระโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ เรียกว่า กิ้วอ้วงฮุดโจ้ว ในภาษาจีนแต้จิ๋ว และกินเจกันเพื่อสักการบูชาทั้ง 9 พระองค์นี้
อีกเรื่องเล่าหนึ่ง การกินเจในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 1 ถึงขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 (ตามปฏิทินจันทรคติ) นั้น วัตถุประสงค์เดิม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถือศีลตามหลักคำสอนทางศาสนา แต่เพื่อรำลึกถึงวีรบุรุษที่ลุกขึ้นมาโค่นล้มราชวงศ์ชิง และกอบกู้ราชวงศ์หมิง เมี่อประมาณสองสามร้อยปีก่อน หลังจากที่ชาวแมนจูยึดครองราชวงศ์หมิง และสถาปนาราชวงศ์ชิง ชาวฮั่นซึ่งเป็นลูกหลานราชวงศ์หมิงยังมีใจคิดก่อการกบฏเพื่อฟื้นฟูอำนาจทางการเมืองของราชวงศ์หมิงให้กลับคืนมา แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะถูกทางการปราบปรามด้วยมาตรการอย่างเหี้ยมโหดเด็ดขาด จึงมีผู้พลีชีพไปกับการในครั้งนั้นจำนวนไม่น้อย การกินเจจึงเป็นการรำลึกถึงวีรบุรุษเหล่านี้
ขึ้นฝั่งยังแดนอุษาคเนย์
ภาพงานแต่งของชาวเปอรานากัน หรือกลุ่มลูกครึ่งจีน-มลายู หรือ บาบ๋า-ย่าหยา
เมื่อชาวจีนอพยพมาถึงแถบนี้ (ปีนัง ภูเก็ต) ก็นำเอาเทศกาลกินเจติดมาด้วย โดยมีการผสมผสานหลอมรวมเข้ากับรูปแบบความเชื่อของท้องถิ่น กลายมาเป็นเทศกาลกินเจแบบเฉพาะของลูกหลานชาวจีนในประเทศไทย สำหรับในประเทศจีนนั้นเทศกาลนี้กลับหายไป เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านการปกครองสู่คอมมิวนิสต์ รัฐบาลได้ทำลายหนังสือเรียน และเกือบทุกอย่างที่เกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนา จนค่อยๆ เลือนหายไปจากจีนแผ่นดินใหญ่ในที่สุด
ทางด้านชาวจีนฮกเกี้ยนโพ้นทะเลในสิงคโปร์ ฮ่องกง ก็ถูกปกครองโดยอังกฤษมาก่อน ประเพณีเก่าแก่จึงหายไป เป็นสังคมแบบสมัยใหม่มากขึ้น ส่วนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็เป็นประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม จึงไม่แปลกที่จะไม่ได้จัดเทศกาลกินเจกัน ดังนั้นมันจึงรุ่งเรือง และปฎิบัติสืบต่อกันมามากที่สุดในประเทศไทย นั่นเองครับ
เจี๊ยะฉ่าย ประเพณีถือศีลกินผักแห่งภูเก็ต
phadungsak sawasdee / Shutterstock.com
เมื่อมาถึงเมืองไทยแล้ว ศูนย์กลางของงานที่ยิ่งใหญ่ และชาวต่างชาติรู้จักมากที่สุด นอกเหนือจากถนนเยาวราชแล้ว เห็นจะเป็นประเพณีถือศีลกินผัก หรือ เจี๊ยะฉ่าย ที่จังหวัดภูเก็ตนั่นเองครับ ใน พ.ศ.2368 มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า พระยาถลาง ได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านเก็ตโฮ่ ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ดีบุก แต่ตอนนั้นยังเป็นป่าทึบ ชุมชุกด้วยไข้มาเลเรีย ต่อมามีคณะงิ้วปั่วฮี่ จากเมืองจีนมาเปิดการแสดง ชาวคณะได้เกิดล้มป่วยลง คณะงิ้วจึงได้ประกอบพิธีกินผักขึ้น เพื่อบวงสรวงเทพเจ้า ‘กิ๋วฮ๋องไต่เต่’ และ ‘ยกอ๋องซ่งเต่’ การณ์ปรากฏว่า โรคภัยไข้เจ็บได้หายไปหมดสิ้น จากนั้นมา ชาวกะทู้เกิดความศรัทธาสูงสุด จึงประกอบพิธีกินผักขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) รวม 9 วัน 9 คืน มาเป็นประจำทุกปี จนถึงทุกวันนี้
นอกเหนือจากการกินเจปกติแล้ว ยังมีอีกสิ่งที่พิเศษกว่าก็คือ ขบวนแห่จากม้าทรง เมื่อเชิญเทพประทับร่างแล้ว แต่ละองค์จะสำแดงอิทธิฤทธิ์แตกต่างกันไป โดยทุกองค์เน้นที่การทรมานตนเอง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้กับผู้ถือศีลกินผัก ตามความเชื่อว่า ‘กิ้วอ๋องไต่เต่’ (ราชาผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า) จะเป็นผู้รับเคราะห์แทน
Studio849 / Shutterstock.com
สรุปอีกครั้งก็คือ เทศกาลถือศีลกินเจในเมืองไทยนั้น เกิดจากการรับเอาวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเลแล้วนับมาปรับให้เข้ากับท้องถิ่นของเรา กลายมาเป็นเทศกาลที่มีรูปแบบเฉพาะตัวในที่สุดครับ
===============