รีเซต

กินเจ 2567 ไหว้ขอพรเทพเจ้า 9 ศาลเจ้าดัง วัดจีน เสริมดวง ไหว้แล้วดี

กินเจ 2567 ไหว้ขอพรเทพเจ้า 9 ศาลเจ้าดัง วัดจีน เสริมดวง ไหว้แล้วดี
เอิงเอย
3 ตุลาคม 2567 ( 10:42 )
26.4K
14

       นอกจากการละเว้นการทานเนื้อสัตว์ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ถือศีลแล้ว กินเจ 2567 นี้ เราชวนไป ไหว้ขอพรเทพเจ้า กับ 9 ศาลเจ้าดัง วัดจีน เสริมดวง เพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิต สมหวัง สมปรารถนากันทุกคน ทั้ง สุขภาพ ครอบครัว การการ และการเงิน ค่ะ

azcrilez / Shutterstock.com

ไหว้ขอพรเทพเจ้า 9 ศาลเจ้าดัง กินเจ 2567

 

1. ศาลเจ้ากะทู้ ภูเก็ต

 

 

      ศาลเจ้ากะทู้ เดิมชื่อ ศาลเจ้ากิ๊วหองหยา ตั้งอยู่ที่อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เรียกตามภาษาจีนว่า “ฉ้ายตึ๋ง” หมายถึงสถานที่ประกอบการกินผักอันศักดิ์สิทธิ์ของของ กิ๊วอ๋องต่ายเต่ ที่นี่จึงเปรียบเสมือนพระราชวังของกิ๊วอ๋องต่ายเต่โดยเฉพาะ ไม่เหมือนกับศาลเจ้าอื่นๆ มีความเชื่อที่ว่า มาขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นี่เพื่อช่วยปกปักรักษา คุ้มครองชีวิต ความเป็นอยู่รุ่งเรือง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

 

erkaly / Shutterstock.com


       อีกทั้งที่นี่ยังเป็น จุดเริ่มต้นของประเพณีกินผักขึ้นเป็นครั้งแรก ที่บ้านกะทู้อีกด้วย เนื่องจากคณะงิ้วเดินทางมาจากประเทศจีน มาแสดงงิ้วอยู่ที่บ้านกะทู้เป็นระยะเวลานาน เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยรวมไปถึงชาวเมืองด้วย หัวหน้าคณะงิ้วจึงนึกขึ้นได้ว่าลืมทำพิธีเจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ซึ่งเคยปฏิบัติติดต่อกันมานานทุกปีที่ มณฑลกังไส ประเทศจีน จึงตัดสินใจทำพิธีกินผักอย่างง่ายๆ บนโรงงิ้ว ต่อมาโรคภัยไข้เจ็บ ก็ค่อยทุเลาหายไป ทำให้ชาวกะทู้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา

 

  • ที่อยู่ : 37/1 หมู่ที่ 4 ถนนวิชิตสงคราม ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
  • พิกัด : https://maps.app.goo.gl/Qdxn9KgNoJsn1yqL8
  • เปิดให้เข้าชม : 09.00-16.30 น.
  • โทร : 0-7620-2245 
  • เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/Kathushrine

================

 

2. ศาลเจ้าโจวซือกง ตลาดน้อย กรุงเทพฯ

 

 

      ศาลเจ้าโจวซือกง ตลาดน้อย เป็นศาลเจ้าเก่าแก่อายุประมาณ 200 ปี สถาปัตยกรรมของศาลเจ้าแห่งนี้ เป็นแบบปลายราชวงศ์ชิง ตั้งอยู่ที่ ตลาดน้อย ย่านยาวราช ของกรุงเทพฯ ที่นี่มีชื่อเสียงด้านการจัดประเพณีกินเจได้ยิ่งใหญ่ตามประเพณีจีนโบราณ และต่อเนื่องมากว่าหลายร้อยปี อีกทั้งที่นี่ยังเป็นศูนย์กลางของชาวจีนฮกเกี้ยนในกรุงเทพฯ อีกด้วยค่ะ

 

 

       ที่นี่มี เทพเจ้าโจวซือกง (พระหมอ) หรือที่ ชาวตลาดน้อยเรียก หลวงปู่โจวซือกง ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาอย่างมากของชาวจีนฮกเกี้ยนประดิษฐานอยู่ มีความเชื่อในการขอพรให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นองค์ที่ศักดิ์สิทธิ์มากๆ

      ด้านในศาลเจ้ายังเป็นที่ประดิษฐานของ องค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่มีความเชื่อว่า บนบานศาลกล่าวสิ่งใด ต่างก็สำเร็จสมหวังไปตามๆ กัน และมี องค์ไฉซิ้งเอี้ย เทพเจ้าโชคลาภของจีน ที่ขอพรด้านเงินทอง และโชคลาภอีกด้วยค่ะ

 

  • ที่อยู่ : ซอยภาณุรังษี (ข้างวัดปทุมคงคา) ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
  • พิกัด : https://maps.app.goo.gl/4hx6N97Jd6uv49iV8
  • เปิดให้เข้าชม : 07.00-17.00 น.
  • โทร : 0-2266-3768
  • เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/ChowSueKongTJK

================

 

3. ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า กรุงเทพฯ

 

GIPP24 / Shutterstock.com

 

       ศาลเจ้าพ่อเสือ หรือ ตั่วเหล่าเอี๊ย ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ในย่านเสาชิงช้า ใจกลางกรุงเทพฯ เป็นศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วเก่าแก่มีอายุมากว่า 100 ปีแล้ว และเป็นที่ประดิษฐาน เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ หรือ เจ้าพ่อเสือ ที่เคารพนับถือของทั้งชาวไทย และชาวจีน และมีชื่อเสียงในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้าที่คอยปกป้องอภิบาล และปราบปรามศัตรูค่ะ ใครที่มากราบไหว้ขอพรจะโชคดี ชีวิตมีแต่รุ่ง เทพเจ้าคุ้มครองทั้งในเรื่องสุขภาพ ครอบครัว และการงาน

 

GIPP24 / Shutterstock.com

 

       นอกจากนี้ ภายในศาลเจ้าพ่อเสือ ยังตกแต่งด้วยโบราณวัตถุ ซึ่งบางชิ้นมีอายุกว่า 100 ปี โดยเปิดให้เข้าเยี่ยมชมทุกวัน

 

================

 

4. ศาลเจ้ากวนอู เกาะสมุย สุราษฏร์ธานี

 

finchfocus / Shutterstock.com


       ศาลเจ้ากวนอู เกาะสมุย หรือเดิมชื่อ ศาลเจ้าหน้าค่าย เป็นสถานที่ประดิษฐาน องค์เทพเจ้ากวนอู เนื้อโลหะสัมริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีความสูงถึง 16 เมตร ศาลเจ้ากวนอูแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาถึง 160 ปี เป็นที่ยึดเหนียวจิตใจของคนจีนจากเกาะไหหลำ ประเทศจีน ที่เดินทางย้านถิ่นด้วยเรือสำเภามาตั้งรกรากบนเกาะสมุยเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วค่ะ

 

finchfocus / Shutterstock.com

 

     เทพเจ้ากวนอูนั้น เป็นเทพแห่งความซื้อสัตย์ และความกล้าหาญ มีความเชื่อกันว่าการรบูชาเทพเจ้ากวนอูจะนำมาซึ่งโชคลาภและความร่ำรวย

 

================

 

5. วัดเล่งเน่ยยี่ เยาวราช กรุงเทพฯ

 

Phongsak Meedaenphai / Shutterstock.com

 

     วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดมังกร เป็นวัดจีนที่มีชื่อเสียงอีกแห่งของกรุงเทพฯ ย่านเยาวราช เป็นที่เคารพนับถือของทั้งคนไทย และคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2414 ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมแบบจีนตอนใต้ ตามแบบฉบับช่างสกุลแต้จิ๋ว ที่นี่จึงเป็นศูนย์กลางในการจัดงานของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในเทศกาลต่างๆ ทั้งตรุษจีนและเทศกาลกินเจค่ะ

 

1EYEman / Shutterstock.com

 

       พระประธานของวัด คือ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุพุทธะ ทั้งหมด 3 องค์ หรือ ซำป้อหุกโจ้ว มีเทพเจ้าต่างๆ หลายองค์ เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา หรือ ไท้ส่วย เอี๊ยะ เทพเจ้าแห่งยาหรือหมอเทวดา หั่วท้อเซียงซือกง และที่นิยมไหว้ขอพรมากคือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ จุดเด่นของวัดนี้คือ การไหว้พระแก้ชง ซึ่งทั้งชาวไทย และชาวจีนนิยมไปแก้ปีชงกันเป็นจำนวนมาก

 

  • ที่อยู่ : ถนนเจริญกรุง ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 ถนนมังกร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
  • พิกัด : https://maps.app.goo.gl/51Hf5feDsDuVHub9A
  • เปิดให้เข้าชม : 08.00-17.00 น.
  • โทร : 0-2222-3975
  • เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/Wat.Mangkonkamalawat.Temple

================

 

6. ศาลเจ้านาจา หรือ ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ อ่างศิลา ชลบุรี

 

 

     ศาลเจ้านาจา หรือ ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ สร้างมา 20 กว่าปี และเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการสร้าง วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม ขึ้นซึ่งมีความหมายถึงที่สถิตของทวยเทพเจ้าทั้งหลายขึ้นในภายหลัง ตัววิหารมีการก่อสร้างแบบสไตล์จีน รวมทั้งเครื่องตกแต่งประดับอาคารต่างๆ งดงาม

 

Evdoha_spb / Shutterstock.com


      ภายในเป็นที่ประดิษฐานของ องค์เทพเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ ซึ่งได้จำลองมาจากมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ประดิษฐานอยู่ที่ชั้นสองของวิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน ผู้คนนิยมมาขอพรเพื่อสิริมงคล

      สำหรับชั้นสามเป็นที่ประดิษฐานของ องค์เง็กเซียนฮ่องเต้ ผู้เป็นใหญ่แห่งสวรรค์ และองค์เทพไท้อื่นๆ ส่วนชั้นบนสุดประดิษฐานพระศรีศากยมุนีพระพุทธเจ้า

 

================

 

7. วัดมังกรบุปผาราม วัดเล่งฮั่วยี่ จันทบุรี

 

 

      วัดมังกรบุปผาราม หรือ วัดเล่งฮั่วยี่ เป็นวัดจีนขนาดใหญ่ในจังหวัดจันทบุรี และถือเป็นตำแหน่งของหางมังกรตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีนอีกด้วย (วัดมังกรกมลาวาส คือ หัวมังกร) สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2520 เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองให้แก่ชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดจันทบุรีค่ะ

 

 

       ภายในพระอุโบสถที่สร้างตามสถาปัตยกรรมแบบจีน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ พระอมิตาภะพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในดินแดนสุขาวดี พระศากยมุนีพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นครูแห่งยารักษาโรค อยู่ในดินแดนศุทธิไวฑูรย์ มีความเชื่อว่า ถ้ามาบูชา นมัสการ ก็จะปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือหายเจ็บป่วยเร็วขึ้นค่ะ

 

  • ที่อยู่ : ถนนสุขุมวิท ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
  • พิกัด : https://maps.app.goo.gl/FXYQoQvAx92TPSkr5
  • เปิดให้เข้าชม : 06.00-18.00 น.
  • โทร : -
  • เว็บไซต์ : -

================

 

8. ศาลเจ้าปุดจ้อ ภูเก็ต

 

Denis Costille / Shutterstock.com

 

     ศาลเจ้าปุดจ้อ หรือ อ๊ามปุดจ้อ เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่อยู่คู่คนภูเก็ตมายาวนานกว่าร้อยปี เป็นที่ประดิษฐาน องค์พระโพธิสัตว์กวนอิม หรือ องค์กวนอิมปุดจ้อ เป็นที่เคารพบูชา คำว่า “ปุดจ้อ” เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนคนภูเก็ตเรียกนามของ พระโพธิสัตว์กวนอิม หรือเจ้าแม่กวนอิม นั่นเอง

 

Denis Costille / Shutterstock.com

 

       ชาวภูเก็ตนิยมมากราบไหว้เพื่อขอพรในช่วงสำคัญต่างๆ ของชีวิต เช่น ในวันแต่งงาน วันมงคลต่างๆ การนำลูกอายุ 1 เดือนมาขอพรจากปุดจ้อให้เด็กเติบโตเป็นเด็กฉลาด เลี้ยงง่าย แข็งแรง เป็นต้น อีกเรื่องหนึ่งที่ที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่งสำหรับศาลเจ้าปุดจ้อคือ การเซียมซีในเรื่องการรักษาโรคต่างๆ โดยเมื่อเซียมซีได้ แล้วก็นำใบเซียมซีไปยังร้านขายยาจีนเพื่อให้ร้านจัดตัวยาแล้วนำมารับประทาน มีหลายคนที่จากโรค จึงทำให้ที่นี่มีความศักดิ์สิทธ์มากๆ ค่ะ

 

================

 

9. ศาลเจ้าหลิมฮู้ไท้ซู่ สามกอง ภูเก็ต

 

Ko Kim / Shutterstock.com

 

      ศาลเจ้าหลิมฮู้ไท้ซู่ สามกอง เดิมเป็นที่ดินของหลวงสุนทรจีนประชา ซึ่งได้ทำการสร้างศาลเจ้าขึ้น พร้อมทั้งมอบ องค์พระไท้ซู่ก้อง และองค์พระอื่นๆ ประดิษฐานไว้ในศาลเจ้า ที่นี่มีการประกอบพิธีประทับทรง โดย องค์พระไท้ซู่ก้อง ได้มาประทับทรงกับม้าทรง และรักษาคนไข้ ชาวบ้านจึงมีความเชื่อและนิยมมาขอพรให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ บางคนซื้อยาจากร้านยาจีน แล้วนำมาให้องค์หลิมฮู้ไท้ซู่ เสกยานั้นให้เป็นยาวิเศษนั่นเอง

 

Gina Smith / Shutterstock.com

 

================