รีเซต

นครเมกกะ Mecca ซาอุดิอาระเบีย มหานครศักดิ์สิทธิ์ศาสนาอิสลาม

นครเมกกะ Mecca ซาอุดิอาระเบีย มหานครศักดิ์สิทธิ์ศาสนาอิสลาม
แมวหง่าว
8 กรกฎาคม 2565 ( 18:40 )
25.9K

     ทุกๆ ปีเราจะได้ชมภาพความยิ่งใหญ่ของกลุ่มผู้แสวงบุญนับล้านชีวิตที่ไปยัง ณ เมกกะ หรือ มักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย นครศักดิ์สิทธิ์หรือพระนครชุมทิศของโลกอิสลามเพื่อร่วมประกอบพิธีฮัจญ์ ในช่วงเดือนที่ 12 ของปฏิทินอิสลาม (ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) ที่แม้จะยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ไม่อาจยับยั้งแรงศรัทธาได้

 

 

นครเมกกะ Mecca ซาอุดิอาระเบีย มหานครศักดิ์สิทธิ์ศาสนาอิสลาม

 

ประวัติ ข้อมูลเบื้องต้นของนครเมกกะ

 

ภาพพาโนรามาของเมืองมักกะฮ์ เมกกะ ซาอุดีอาระเบีย พ.ศ. 2388 By Khalili Collections / CC-BY-SA 3.0 IGO

 

     เมกกะ มีชื่อเต็มว่า มักกะตุลมุกัรเราะมะฮ์ (อาหรับ: مكة المكرمة‎) นอกจากนี้ยังมีชื่ออื่นอีก เช่น อุมมุลกุรอ และบักกะฮ์ เป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ในซาอุดีอาระเบีย ห่างจากเมืองท่าญิดดะฮ์ (Jeddah) 73 กิโลเมตร อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 277 เมตร และห่างจากทะเลแดง 80 กิโลเมตร ที่นี่เป็นที่นับถือของชาวมุสลิมในฐานะบ้านเกิดของศาสดา มูฮัมหมัด บิน อับดุลลาห์ (Muhammad ibn Abdullah) และเป็นที่ที่ชาวมุสลิมเชื่อว่าคัมภีร์กุรอานถูกเปิดเผยต่อมูฮัมหมัดเป็นครั้งแรก ณ ถ้ำฮิรา (Hira) บนยอดเขาจาบาล อัล-นูร์ (Jabal al-Nur)

 

 

     ที่นี่ยังมี หะร็อมมักกะห์ หรือข้อหวงห้ามของนครเมกกะ บริเวณรอบๆ มีสิ่งที่ห้ามทำ เช่น ห้ามตัดต้นไม้ ห้ามล่าสัตว์ ห้ามต่อสู้กันนอกจากเพื่อป้องกันตัว และห้ามผู้ที่ไม่ศรัทธาเข้าไปในบริเวณนั้น ขอบเขตบริเวณหวงห้ามรอบๆ นครเมกกะมีรัศมีไม่เท่ากัน เช่นในทิศทางไปเมืองมะดีนะห์ ประมาณ 5 กม. ทิศทางด้านประเทศอิรัก ประมาณ 11 กม. ด้านฏออิฟ ประมาณ 11 กม. ด้านญิอ์รอนะฮ์ ประมาณ 14.5 กม. และด้านเมืองท่าญิดดะฮ์ ประมาณ 16 กม.

 

     ชาวสยามในสมัยโบราณ เคยเรียกเมกกะว่า กบิลพัสดุ์ เนื่องจากเมื่อก่อนไม่สามารถแยกแยะชาติพันธุ์ของแขกกลุ่มต่าง ๆ ที่เข้ามายังสยามได้ว่าแตกต่างกันอย่างไรระหว่าง พราหมณ์ ฮินดู ซิกข์ แขกเจ้าเซ็น แขกสุหนี่ แขกจาม แขกมลายู แขกอาหรับ แขกมัวร์ แขกตุรกี และแขก เปอร์เซีย นั่นจึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าชาวมุสลิมเดินทางไปเมืองกบิลพัสดุ์ในอินเดียเพื่อแสวงบุญ (อ้างอิง : https://www.silpa-mag.com/history/article_74741)

 

พิธีฮัจญ์คืออะไร?

 

 

     พิธีฮัจญ์ คือ 1 ใน 5 หลักปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิมที่มีความสามารถจะต้องปฏิบัติอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต โดยที่ว่า ความสามารถ นั้นหมายถึง มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ และปัจจัยที่จำเป็นสำหรับใช้ในการเดินทางไปประกอบพิธี เช่น เงินทอง และอาหาร โดยไม่ต้องเป็นหนี้สินหรือสร้างความเดือดร้อนต่อบุคคล

 

     ในการประกอบพิธีฮัจญ์ ชาวมุสลิมจะยืนต่อหน้า กะบะฮ์ แล้วกล่าวสรรเสริญพระเจ้า รวมทั้งสวดภาวนา กล่าวคำขอพรและคำวิงวอนต่อพระองค์ ซึ่งที่ตั้งของกะบะฮ์นั้นถือเป็น กิมละฮ์ หรือทิศที่มุสลิมต้องหินหน้าไปในเวลาละหมาด

 

     แต่ละปี จะมีชาวมุสลิมกว่า 2.5 ล้านคน จากทั่วทุกสารทิศ ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ จะเดินทางมาประกอบพิธี ต้องใช้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมากกว่า 120,000 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อีกมากกว่า 30,000 คน เพื่อให้การดูแลประชาชนตลอดพิธี

 

มัสยิดอัลฮะรอม Masjid al-Haram ศาสนสถานสำคัญของเมกกะ

 

 

     มัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นอาคารเดี่ยวที่แพงที่สุดในโลก มูลค่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นที่ตั้งของพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดสองประการ นั่นคือ ฮัจญ์ (Hajj) และอุมเราะห์ (Umrah) ซึ่งตามประเพณีของศาสนาอิสลาม การละหมาดในมัสยิดแห่งนี้จะเท่ากับการละหมาด 100,000 ครั้งในมัสยิดอื่นๆ ทั่วโลก โดยลักษณะของมัสยิดนี้เป็นลักษณะทรงแปดเหลี่ยมบริเวณกว้าง โดยมีกะบะฮ์ตั้งอยู่ตรงกลาง เวลาละหมาดก็จะหันหน้าเข้าสู่กะบะฮ์เป็นจุดเดียวกัน

 

     ด้านกะบะฮ์ (Ka’bah) นั้น เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง 15 เมตร กว้าง 10.5 เมตร ยาว 12 เมตร มีลักษณะเป็นห้องโถง มีประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถัดจากประตูไปในมุมเดียวกันมีหินดำที่เรียกว่า หะญะรุลอัสวัค หรือ อัลฮะญัร อัลอัสวัด วางอยู่ที่ผนังระดับสูงจากพื้น 1.50 เมตร หินดำนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 ซม. ผู้ไปแสวงบุญที่นี่จะต้องจบหรือสัมผัสหินดำนี้ในขณะวนรอบ ซึ่งหินดำนี้เป็นหินที่นักวิทยาศาสตร์มองว่าเป็นหินอุกกาบาต (meteorite) หรือไม่ก็เป็นหินที่มีแหล่งกำเนิดเดียวกันกับหินอุกกาบาต เนื่องจากองค์ประกอบและธาตุบางชนิดเป็นธาตุที่ไม่พบในโลกของเรานั่นเอง

 

หินดำมีความสำคัญอย่างไร?

 

หินดำ (ตรงกลาง ไม่ใช่ตรงที่เป็นที่ครอบด้วยเงิน) ที่ติดอยู่กับกะอ์บะฮ์

โดย Amerrycan Muslim, CC BY-SA 3.0

 

     หินดำ (อาหรับ: الحجر الأسود‎) หินสีดำที่ประดับอยู่ ณ ส่วนมุมของกะบะฮ์ ลักษณะทรงกลมรี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 ซม. ล้อมกรอบด้วยเงิน ปัจจุบันหินดำได้แตกออกเป็น 8 ก้อนเล็ก ๆ จากที่เมื่อก่อนเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ก้อนเดียว เกิดจากหลายสาเหตุ เช่นน้ำท่วม และการโจรกรรม

 

     ตามความเชื่อของชาวมุสลิม เชื่อว่าว่าเป็นหินที่ตกมาจากสวรรค์ มีสีขาวเหมือนน้ำนม ต่อมาเนื่องจากถูกมลทิน และบาปของผู้ที่มาสัมผัส จึงทำให้หินนี้กลายเป็นสีดำ ถูกพบโดยอับราฮัม (อิบรอฮีม) และอิชมาเอล (อิสมาอีล) บุตรชายของท่าน ในขณะกำลังหาหินเพื่อนำมาก่อสร้างกะบะฮ์ โดยท่านทั้งสองตระหนักเห็นในคุณค่าของหินดำ จึงได้นำหินดำมาประดิษฐานยังที่แห่งนี้

====================