รีเซต

Harmandir Sahib วิหารทองคำ อินเดีย ศาสนสถานสำคัญศาสนาซิกข์

Harmandir Sahib วิหารทองคำ อินเดีย ศาสนสถานสำคัญศาสนาซิกข์
Muzika
5 ธันวาคม 2565 ( 14:50 )
1.8K

     1 ในสถานที่สำคัญที่หากได้ไปเที่ยวอินเดียล่ะก็ควรหาโอกาศไปเยือนซักครั้ง นั่นคือที่ วิหารทองคำ ฮัรมันดิร ซาฮิบ Harmandir Sahib ศาสนสถานสีทองอร่ามตาอยู่กลางสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ และยังเป็นที่ที่มีความสำคัญสูงสุดของชาวซิกข์อีกด้วย

 

 

วิหารทองคำ ฮัรมันดิร ซาฮิบ หรือ วิหารอัมริตสาร์  ศาสนสถานสำคัญศาสนาซิกข์

 

ภาพถ่ายวิหารทองคำ ปีค.ศ.1880

 

     ฮัรมันดิร ซาฮิบ มีความหมายว่า สถานที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้า ตั้งอยู่ที่เมืองอมฤตสระ รัฐปัญจาบ ทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย ที่นี่เป็นดั่งสัญลักษณ์สูงสุด และศูนย์รวมทางจิตใจของชาวซิกข์ ที่สักครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องเดินทางมาถวายสักการะเมื่อมีโอกาส แม้จะเป็นที่ที่สำคัญมากๆ แต่ก็เปิดรับศาสนิกชนจากทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา และทุกเวลา (ที่นี่เปิดให้เข้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง) จึงทำให้เราได้เห็นภาพของผู้คนเดินทางเข้ามาเยี่ยมชม สักการะกันอย่างไม่ขาดสายตลอดทุกๆ วัน

 

     ส่วนของวิหารหลักนั้นจะประดิษฐานอยู่กลางสระน้ำสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความยาวด้านละ 150 เมตร และมีบริเวณลานกว้างรอบสระเป็นทางเดินกว้าง 18 เมตร ทางเดินไปสู่วิหารกลางสระน้ำยาว 60 เมตร โดยรอบนอกมีประตูเข้า-ออกทั้งสี่ทิศ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเปิดกว้างให้ทุกคน จะมาเวลาไหนก็สามารถเข้ามาสักการะได้จากทุกทิศทาง

 

ประวัติ การก่อสร้างวิหารทองคำ

 

     วิหารฮัรมันดิร ซาฮิบ สร้างโดย คุรุรามดาส (Guru Ram Das) ในปี ค.ศ. 1577 มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เก็บรักษาพระมหาคำภีร์อันเป็นหลักธรรมสูงสุดจากองค์พระศาสดา และให้เป็นศูนย์รวมของชาวซิกข์ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 30 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์ การก่อสร้างจะผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบฮินดู และมุสลิม 

 

Matyas Rehak / Shutterstock.com

 

     ต่อมา คุรุอาร์จัน (Guru Arjan) ซึ่งทรงเป็นคุรุศาสดาองค์ที่ 5 ทรงดำเนินการขุดสระซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม อมฤตสระ ซึ่งสามารถลงไปอาบน้ำ ชำระล้างร่ายกายได้ โดยชาวซิกข์เชื่อว่าเป็นการชำระล้างจิตวิญญาณ และว่ากันว่าถ้าใครเจ็บป่วยแล้วได้มาอาบน้ำ หรือดื่มกินน้ำจากที่นี่ จะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ

 

ภาพมหาราชา รันจิต สิงห์ และวิหารทองคำ

 

     วิหารแห่งนี้เรียกได้ว่าผ่านร้อนผ่านหนาวจากหลายเหตุการณ์ หลายยุคสมัย เพราะถูกโจมตีทำลายมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทั้งจากกองทัพมุสลิมของอาณาจักรในอัฟกานิสถาน หรือจากจักรวรรดิโมกุลกระทั่ง ปีค.ศ. 1762 มหาราชา พระนามว่า รันจิต สิงห์ (Maharaja Ranjit Singh) ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิซิกข์ ได้ทรงบูรณะวิหารใหม่ครั้งใหญ่ โดยประดับด้วยหินอ่อน และทองแดงในปี ค.ศ. 1809 และประดับภายนอกด้วยทองคำเปลวในปี ค.ศ. 1830 ทำให้วิหารแห่งนี้ได้รับชื่อว่าเป็น วิหารทองคำ นับแต่นั้นมา

 

     ปัจจุบัน นอกจากนักแสวงบุญชาวซิกข์แล้ว เมืองอัมริตสาร์ยังเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั้งในอินเดีย และทั่วโลกมากกว่า 100,000 คนต่อสัปดาห์ ทุกๆ คนสามารถเข้าไปสักการะภายในได้โดยมีเพียงข้อกำหนดว่าจะต้องถอดรองเท้า และคลุมศรีษะให้เรียบร้อย (ในกรณีที่ไม่ได้โพกผ้าสวมศรีษะเช่นชาวซิกข์) ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการมาเยือนคือ ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม ซึ่งมีอากาศเย็นสบาย

====================