ระฆังใบมหึมาถูกกระทุ้งตีอย่างแรง เสียงของมันดังก้องกังวาฬไปทั่วคุ้งวัด Zojoji ขณะที่บน Tokyo tower ได้ปรากฏตัวเลขดิจิตอลขนาดยักษ์ “2020” อันเป็นการส่งสัญญาณให้ทราบว่าเวลานี้เราได้ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว บรรยากาศการนับถอยหลังส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของที่นี่เป็นไปอย่างเรียบง่าย มิได้ส่งเสียงกันอย่างเอิกเกริก หรือจุดพลุไฟสว่างไสวกันอย่างอึกทึก แต่ภายใต้กฎเกณฑ์ความเรียบง่ายนี้ทำให้ผมได้สัมผัสกับอะไรบางอย่าง และผมก็เชื่อว่ามันน่าจะเป็นคำตอบของบรรดาคำถามที่ว่า อะไรคือการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด ระเบียบวินัยของคนในชาติสร้างได้อย่างไร มารยาททางสังคมเป็นเรื่องยากหรือไม่ ทำอย่างไรคนในชาติจึงคิดถึงส่วนรวมเป็นลำดับแรก นวัตกรรมและความสร้างสรรค์ทำไมจึงมีอยู่ทุกซอกมุม ทั้งหมดนี้ทำให้ผมต้องเดินทางมาเสาะหาคำตอบถึงที่นี่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระฆังวัด Zojoji ในยามบ่ายก่อนเข้าสู่พิธีในค่ำคืนของวันปีใหม่ ภาพถ่ายโดยผู้เขียน บริเวณหน้าวัด Zojoji ในเย็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ภาพถ่ายโดยผู้เขียน ผู้คนมุ่งหน้าไปยังวัด Zojoji เพื่อร่วมฉลองคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ภาพถ่ายโดยผู้เขียน เป็นที่ทราบกันดีว่าหลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นทนต่อแรงเสียดทานจากโลกภายนอกไม่ไหวจนทำให้ต้องเปิดประเทศในช่วงปี ค.ศ. 1853 หลังจากดำเนินนโยบายปิดประเทศและอยู่อย่างโดดเดี่ยวมาเกือบ 200 ปี ซึ่งจากการเปิดประเทศในครั้งนั้นส่งผลให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างรวดเร็วด้วยวิทยาการและเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง ความน่าสนใจนั้นอยู่ที่ตลอดระยะเวลาของการปิดประเทศ ญี่ปุ่นได้พัฒนาตัวเองอย่างเงียบๆ แม้จะโดดเดี่ยวตนเอง ไม่ติดต่อสื่อสารกับโลกนอก ไม่รับวิทยากร หรือเจรจาติดต่อค้าขายกลับใคร แต่ด้วยความมุ่งมั่นและเพียรพยายาม และความมีระเบียบวินัยจึงทำให้ประเทศไม่เคยหยุดนิ่งในแง่ของการพัฒนา ภาพตึกสูงระฟ้าของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน ภาพถ่ายโดยผู้เขียน ภาพของโตเกียวทาวเวอร์สีแดงโดดเด่น ตั้งอยู่ท่ามกลางตึกสูงระฟ้าของกรุงโตเกียว ภาพถ่ายโดยผู้เขียน จะว่าไปการโดดเดี่ยวตนเองนี้กลับกลายเป็นผลดีต่อประเทศญี่ปุ่นเอง เพราะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้พึ่งตนเองให้มากที่สุด ได้ทบทวนตนเอง ได้รู้จักตนเองว่าอะไรเหมาะ อะไรควรที่จะนำมาใช้กับประเทศ อะไรคือจุดด้อยและจะพัฒนาได้อย่างไร ส่วนจุดเด่นจะพัฒนาอย่างไรให้ยิ่งใหญ่ การบ่มเพาะประเทศในครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ส่งผลให้การเปิดประเทศของญี่ปุ่นในครั้งนั้นสร้างความตื่นตะลึงแก่ผู้คนไปทั่วโลก แต่ทว่าการเจริญเติบโตอย่างสุดขีดนี้ได้สร้างความเหิมเกริมให้ญี่ปุ่นกระทั่งทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นจักรวรรดิซึ่งมีชัยชนะเหนือหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียผ่านการทำศึกสงคราม ด้วยความเหิมเกริมนี้ได้ฉุดให้ญี่ปุ่นต้องพบกับหายนะ เมื่อต้องพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในสงครามมหาเอเชียบูรพาในปี ค.ศ. 1945 การทิ้งระเบิดของอเมริกาในฮิโรชิมาและนางาซากิในครั้งนั้นสร้างความสูญเสียอย่างหนักให้กับญี่ปุ่นว่ากันว่าบ้านเมืองแทบจะไม่เหลืออะไรเลย แต่ใครเลยจะทราบว่า 35 ปีให้หลัง ญี่ปุ่นจะสามารถก้าวกระโดดแบบติดสปริงกลับมาผงาดเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้อีกครั้ง กระบวนการพัฒนาประเทศของญี่ปุ่นจึงกลายเป็นกรณีศึกษาที่หลายประเทศทั่วโลกต่างพูดถึงและถูกหยิบยกนำไปเป็นประเทศต้นแบบในการพัฒนาอย่างไม่ต้องสงสัย ย่านชิบูย่า แหล่ง Shopping ชื่อดังกลางกรุงโตเกียว ภาพถ่ายโดยผู้เขียน เมื่อพูดกันถึงเรื่องการพัฒนาประเทศของญี่ปุ่นแล้ว เราสามารถหยิบยกนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลายกรณี ซึ่งจากการที่ได้วิเคราะห์แล้วพบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ 1. ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ ซึ่งด้วยความเกาะนี้จึงทำให้ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาตนเอง และไม่ค่อยได้สู้รบกับชนชาติอื่นๆ เพื่อแก่งแย่งดินแดนมากนัก ส่วนใหญ่จะมีแต่ทำการค้ากับต่างประเทศ แต่หลังจากมีการแพร่กระจายของศาสนาคริสต์ที่มาพร้อมกับการหลังไหลเข้ามาในประเทศของต่างชาติ โชกุนจึงมีนโยบายปิดประเทศไม่ค้าขายกับต่างชาติเพราะกลัวถูกแทรกซึมจากชาติตะวันตก แต่สุดท้ายก็ถูกบีบให้เปิดประเทศค้าขายอีกในภายหลัง โดยต้องยอมทำสนธิสัญญาที่เอื้อประโยชน์ต่อชาติตะวันตกเป็นอย่างมาก ถนนหน้าวัดอาซานุสะ หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิม ภาพถ่ายโดยผู้เขียน ภายในวัดอาซานุสะ หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิม ภาพถ่ายโดยผู้เขียน 2. ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อ ซึ่งความเชื่อที่ยึดถือกันมาแต่โบราณก็คือ พวกเขาเชื่อว่าเป็นชนชาติเดียวที่สืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์ ชาวญี่ปุ่นจึงทะนงตนในความสำคัญของตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเองว่าไม่ได้ด้อยไปกว่าชาติตะวันตก 3.การไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาตนเองของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในเรื่องของนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และวิทยาการสมัยใหม่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาชาติตะวันตก เช่น การที่ญี่ปุ่นสามารถสร้างสินค้าของตนเองได้เกือบทุกชนิด และได้รับการสนับสนุนจากคนในประเทศอย่างดียิ่ง เมื่อมีสินค้าก็สนับสนุนสินค้าของคนในประเทศก่อน โดยมูลค่าทางการค้าของสินค้าแต่ละชนิดนอกจากจะเป็นการลดการขาดดุลการค้าแล้วยังเป็นการเพิ่มเม็ดเงินเข้าประเทศอีกด้วย เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น หรือกรณีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ของกรุงโตเกียวด้วยการนำขยะมาถมทะเลและรังสรรค์ให้เกิดเป็นเมืองใหม่ที่รู้จักกันในนามของ “เกาะโอไดบะ” ซึ่งกลายเป็น land mark สำคัญในปัจจุบันของกรุงโตเกียว 4. ด้วยพื้นฐานที่มีความเป็นชาตินักสู้สูงมาก ญี่ปุ่นจึงเป็นชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำงานหนัก และทุ่มเทในสิ่งที่ควรทำ ตลอดจนมีความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่สูงมา 5. มีการปลูกฝังความเป็นชนชาติ การคำนึงถึงส่วนร่วม และการสร้างกระแสชาตินิยม ด้วยเพราะไม่ค่อยมีเชื้อชาติมาอื่นปะปนมากนัก ญี่ปุ่นจึงมีความเชื่อในเรื่องความยึดมั่นต่อชาติ ความจงรักภักดีและความซื่อสัตย์ ทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก วัดพระใหญ่ไดบุตสี ชานกรุงโตเกียว หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิม ภาพถ่ายโดยผู้เขียน บรรยากาศยามรุ่งอรุณที่ย่านอูเอโนะ (Ueno) ผู้คนเดินขวักไขว่ไปขึ้นรถไฟฟ้าเพื่อไปทำงาน ภาพถ่ายโดยผู้เขียน 6. การที่เคยประสบความพ่ายแพ้ความล้มเหลวอย่างแสนสาหัส เป็นปมสำคัญที่ทำให้คนในประเทศร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาประเทศ ซึ่งถือเป็นจิตวิทยาสังคมที่อาจสร้างขึ้นได้แม้ในประเทศที่ไม่เคยล้มล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ 7. ภายหลังสงครามโลก ญี่ปุ่นมีนโยบายหรือเป้าหมายที่ชัดเจน คือ มุ่งที่เรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก และถูกบริหารประเทศโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว คือพรรค LDP (Liberal Democratic Party) มาตลอดจนถึงช่วงปี ค.ศ. 1990 นโยบายจึงไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปมา ทำให้การสานต่อแนวนโยบายและการบริหารงานเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ 8. การพัฒนาประชากร ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาในทุกๆ บริบท การที่ญี่ปุ่นมีประชากรมากนั้นก็เท่ากับมีโอกาสที่จะมีคนเก่งๆ มากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้สนับสนุนและพัฒนาด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ จริงจัง และต่อเนื่อง เพราะญี่ปุ่นจะมีประชากรเกือบ 130 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประเทศไทยประมาณหนึ่งเท่าตัว ในขณะที่พื้นที่ของประเทศมีน้อยกว่าหลายเท่าตัว ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพประชากรจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ จากประเด็นการวิเคราะห์เราจะเห็นได้ว่า key word สำคัญในแต่ละข้อไม่เพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรของเราได้เท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงการนำมาปรับใช้ในชีวิตของเราเอง แต่ท้ายที่สุดแล้วจะประสบความสำเร็จอย่างงดงามเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ก็ต้องลองนำไปปฏิบัติกันดูครับ ภายในมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งเป็นมหาวิทยาอันดับต้น ๆ ของโลก ภาพถ่ายโดยผู้เขียน เช้าวันสุดท้ายของการเยือนกรุงโตเกียวในครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิและพระบรมวงศานุวงศ์ของญี่ปุ่น ณ พระลานพระราชวังอิมพีเรียล เนื่องในการเสด็จออกมหาสมาคมเพื่อพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชน ครั้นเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิและพระบรมวงศานุวงศ์ปรากฏพระองค์ยังสีหบัญชรแล้ว เสียง “บันไซ” (ทรงพระเจริญ) ดังกึกก้องไปทั่วลานพระราชวังอิมพีเรียล ภาพที่ปรากฏในเบื้องหน้าและความรู้สึกในช่วงขณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายให้รับรสสัมผัสผ่านตัวอักษรได้ เพราะต้องใช้จิตวิญญาณในการเข้าถึง แม้ผมไม่ได้เป็นชาวญี่ปุ่นและไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับประเทศนี้ แต่การที่ประเทศของเราเองก็มีสถาบันพระมหากษัตริย์ มีพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ผมจึงเข้าใจเป็นอย่างดียิ่งถึงความรู้สึกนี้ การมีที่ยึดเหนี่ยวและศูนย์รวมทางจิตใจนี้ก็เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถก้าวพ้นจากความยากลำบากมาได้ ประชาชนชาวญี่ปุ่นจำนวนมากมาเฝ้ารอรับเสด็จสมเด็จพระจักรพรรดิและพระบรมวงศานุวงศ์ของญี่ปุ่น ณ พระลานพระราชวังอิมพีเรียล ภาพถ่ายโดยผู้เขียน เสียง “บันไซ” (ทรงพระเจริญ) ดังกึกก้องไปทั่วลานพระราชวังอิมพีเรียล ภาพถ่ายโดยผู้เขียน การเดินทางเยือนกรุงโตเกียวในครั้งนี้ทำให้ผมได้พบเห็นความเป็นไปในหลากหลายอิริยาบถของผู้คน ได้สัมผัสกับความเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างหาที่ติมิได้ ได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ได้ชื่นชมจารีตและประเพณีอันเก่าแก่ และที่สำคัญที่สุดคือการได้รับกัลยาณไมตรีอันงดงามจากประเทศเจ้าบ้าน ท้ายที่สุดแล้วจุดหมายปลายทางของเรื่องราวการเดินทางของผมในครั้งนี้ ผมต้องขอบคุณประเทศญี่ปุ่น ขอบคุณกรุงโตเกียว ที่ทำให้ผมได้ขบคิดและค้นพบกับการขึ้นของพระอาทิตย์ ซึ่งนับว่างดงามกว่าครั้งใด