การเดินทางครั้งหนึ่งของชีวิต ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ วัดโพธาราม บ้านดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ชุมชนแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ จากการสอบถามชาวบ้านบอกว่า วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ โดยชาวลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ บ้านดงบัง ตั้งอยู่บนโพนสูงล้อมรอบด้วยป่าไม้หนาทึบจึงชื่อว่า “ดงบัง” ประชากรเป็นชาวไทยลาว ตั้งบ้านครั้งแรกที่บ้านเก่าน้อย โดยตั้งพร้อมกับบ้านตาบางเขต อ.ปทุมรัตต์ บริเวณที่ตั้งบ้านดงบัง สันนิษฐานว่า เห็นเมืองเก่า เนื่องจากมีคูน้ำล้อมรอบ มีแท่งศิลาแลงและขุดวัตถุโบราณ กระปุกรูปช้าง และโครงกระดูกจำนวนมาก แต่เดิมมีหอไตรและโบสถ์เก่าสร้างอยู่กลางน้ำหรือที่เรียกกันโดยภาษาพื้นถิ่นว่า “สิมน้ำ” อยู่ทางทิศเหนือของโบสถ์หลังปัจจุบัน เมื่อชำรุดแล้วจึงได้สร้างสิมบกขึ้น โดยพระครูจันดี เจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ เป็นผู้ออกแบบ วัดนี้เดิมมีชื่อว่า “วัดโพธิ์ทอง” มาเปลี่ยนเป็น “วัดโพธาราม” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ รอบบริเวณวัดเป็นชุมชนที่มีประชากรหนาแน่น ตรงข้ามกับหน้าวัดมีสิมน้ำตั้งอยู่ ในวันที่ผู้เขียนเดินทางไปถึง ทางวัดกำลังทำทางเดินเชื่อมต่อกุฏิต่าง ๆ ของวัด ทำให้เห็นการช่วยเหลือกันของคนในชุมชน จากการเดินสำรวจรอบ ๆ ผุ้เขียนพบว่าสิมแห่งนี้มีโครงสร้างเป็นอาคารก่ออิฐสอดินฉาบปูนพื้นเมือง (ปะทาย) เครื่องบนหลังคาใช้โครงสร้างไม้ทั้งหมด เดิมทีมุงกระเบื้องไม้ (แป้นเกล็ด) แล้วมาเปลี่ยนเป็นที่สุดเช่นปัจจุบัน ส่วนปีกนกยื่นแบนรานทำเป็น ๒ ชั้น มีเสาไม้รับตลอด มีประโยชน์ใช้ป้องกันฝนสาดฮูปแต้มได้เต็มที่ เพิ่งได้รับการบูรณะ จากกรมศิลปากรทั้งตัวอาคารและจิตรกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว โครงสร้างและวัสดุของสิมหลังนี้จึงสามารถยืนหยัดต่อไปได้อีกนานทีเดียว ทั้งนี้ต้องให้ทางวัดคอยสอดส่องดูแลอยู่อย่างสม่ำเสมอด้วยอีกทางหนึ่ง จุดเด่นที่สำคัญของวัดโพธาราม คือ ฮูปแต้ม ลวดลายงดงามคนรุ่นใหม่หลายคน รวมถึงตัวผมเองดูครั้งแรก อาจจะดูงง ๆ อยู่บ้าง ดังนั้นหากหลายคนอยากไปเที่ยวชมควรเตรียมข้อมูลเพื่อเป็นพื้นฐานไปบ้าง เพราะจะทำให้เราเข้าใจฮูปแต้มมากขึ้น เรื่องราวที่ปรากฏเป็นฮูปแต้มคือพุทธประวัติ ช่างแต้มคัดเฉพาะตอนที่มีความสำคัญมาถ่ายทอดให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยวางเนื้อหาสาระของภาพแต่ละตอนให้ต่อเนื่องกัน เพื่อโน้มนำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมที่จะก้าวสู่คุณค่าของคุณธรรม ฉากที่เด่นที่สุดได้แก่ภาพตอนถวายพระเพลิง ช่างแต้มมีความรู้สึกว่า พระพุทธเจ้านั้นมิได้อยู่ใกล้เกินคนธรรมดาสามัญจะเอื้อมถึง สังเกตได้จากภาพลักษณะโครงสร้างของพระเมรุมาศนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้ในสภาพจริง คือมีรูปร่าง ลักษณะของรูปแบบที่ทั้งชาวบ้านและชาววัดของอีสานร่วมกันสร้างให้พระเถระผู้ใหญ่เมื่อมรณภาพมีจุดที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการเขียนภาพ การห่มผ้าอังสะทั้งภาพของพระพุทธเจ้าและพระสาวก ภาพพระภิกษุที่หันหน้าไปทางขวาคือหันเข้าสู่พระประธานผ้าคลุมไหล่จะอยู่ทางด้านซ้ายมือ ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติวิสัยการครองผ้าของสงฆ์ หากว่าหันหน้าไปทางซ้ายจะคลุมไหล่ขวานั้นแสดงว่าเป็นความตั้งใจของช่างแต้มเพื่อให้องค์ประกอบภาพแต่ละตอนเกิดความเป็นเอกภาพเกิดความประสานกลมกลืนมากกว่าปกติ