จังหวัดเชียงรายถือว่าเป็นจังหวัดที่มีวัดแนวร่วมสมัย และศิลปินแนวร่วมสมัยเยอะมาก ทั้ง อาจารยฺเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ อ.ถวัลย์ ดัชนี ที่มีผลงานโดดเด่นอย่าง วัดร่องขุ่น และ บ้านดำ อีกทั้งเป็นศิลปินแห่งชาติของไทยด้วย รวมไปถึงศิลปินแนวศิลปะประยุกต์อย่าง สล่านก ที่ก่อสร้างงานศิลปะอันวิจิตรที่ "วัดร่องเสือเต้น" เป็นวัดหนึ่งที่ใครมาเชียงรายแล้วต้องแวะให้ได้ เพื่อมาชมผลงานสถาปัตยกรรมที่โด่งดังไปทั่วโลก อันเนื่องมากจาก เป็นฝีมือของลูกศิษย์ของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ศิลปินระดับชาติ ของไทย พิกัด: หมู่ที่ 2 เลขที่ 306 ถนนแม่กก อำเภอเมืองเชียงราย เชียงราย 57100 Google maps: www.google.com/maps/ เวลาเปิด-ปิด: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00 – 20.00 น. ค่าเข้าชม: ฟรี ความสำคัญ : ที่วัดนี้เป็นผลงานทั้งประติมากรรม การออกแบบแบบร่วมสมัย กล่าวคือเป็นแนวและศิลปินที่สร้างวัดนี้เปนลูกศิษย์ของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ศิลปินระดับชาติ สาขาทัศนศิลป์ 2554 ชื่อ นายพุทธา กาบแก้ว หรือ สล่านก ที่ จบการศึกษาปี 2544 และทำงานที่วัดร่องขุ่น กระทั่งปี 2546 จึงได้ออกมาทำงานเองที่นี่ ซึ่งเป็น เป็นศิลปินท้องถิ่นชาวเชียงราย วันนี้มีความโดดเด่นตรงมองเห็นแต่ไกลว่าเป็นวัดที่มีสีน้ำเงิน และมีประติมากรรม สถาปัตยกรรมอันอ่อนช้อย ทั้งการปั้นปูน การทำหลังคาวัด การประดับตกแต่งสถานที่ ซึ่งมีความสวยงามและโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ทั้งเรื่องของสีมาก อีกทั้งก็เป็นสถานที่เที่ยวของคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งวันที่ผู้เขียนไปปีที่แล้วก็มีชาวต่างชาติมาเป็นทัวร์เยอะมาก เรื่องเล่าตำนานของวัดจากไกด์ : บริเวณวัดที่แห่งนี้มีตำนาน ตอนแรกที่ฟังว่าทำไมถึงชื่อว่า “ร่องเสือเต้น” เป็นเพราะที่นี่มีเสือจริง ๆ โดยจากประวัติ ไกด์เล่าให้ฟังว่า ตรงที่นี้เดิมทีเป็นที่ตั้งของวัดร้าง และไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ มีร่องน้ำและมักชอบเห็นเสือกระโดดข้ามร่องน้ำไปมาของวัด จึงเกิดเป็นที่มาของวัดนี้ และเนื่องจากชาวบ้านละแวกนี้ ละแวกร่องเสือเต้น ยังไม่มีที่ทำบุญหรือวัดที่นี่ จึงได้ร่วมบูรณะวัดแห่งนี้ จึงได้สร้างวัดชื่อว่า “วัดร่องเสือเต้น” จุดที่ 1: วิหารของวัดที่มีสีน้ำเงินภายนอก ดูงดงามและเป็นเอกลักษณ์มาก ทั้งด้านในและด้านนอกวิหาร โดยมี ศิลปะแนวประยุกต์ หรือศิลปะร่วมสมัย โดยใช้โทนสีฟ้า สีน้ำเงิน ข้างในพอเดินเข้ามาพบกับความสงบเย็นมากและชาวต่างชาติก็พากันมาถ่ายรูปพระพุทธรูปสีขาวองค์ใหญ่ ชื่อว่า พระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ เป็นพระประธานสิงห์หนึ่งสีขาวมุก (ชื่อลักษณะแบบพระสิงห์ หนึ่ง คือในศิลปะเชียงแสนมีงานปฏิมากรรมประพุทธรูปถึง 3 สิงห์ซึ่งเราจะแยกประเภทและรูปแบบของพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนว่า สิงห์หนึ่ง สิงห์สอง และสิงห์สาม ไม่ใช่สัตว์หรือสิงห์นะจ๊ะ) สูงถึง 6.50 เมตร หน้าตักกว้าง 5 เมตร และในวิหารเองก็มีงานจิตรกรรม ประติมากรรมที่สื่อถึงศิลปะร่วมสมัยมีความเป็นศิลปะพื้นถิ่นของภาคเหนืองดงามตระการตรา มีลวดลายปูนปั้นแบบต่าง ๆ อ่อนช้อยมาก จุดที่ 2: พระพุทธรูปปางห้ามญาติ ประดิษฐานตรงด้านหลังวิหาร เป็นพระพุทธรูปสีขาว ที่มีความงดงามและสูงใหญ่มาก จุดที่ 3 : ประติมากรรมบันไดพญานาคบริเวณหน้าวิหาร มีความงดงามอ่อนช้อยมาก ซึ่ง ศิลปินสล่านกได้นำเอารูปแบบผลงานของอาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติมาประยุกต์ใช้ ผลงานของอาจารย์ถวัลย์มักสร้างงานจิตรกรรมที่มีรูปสัตว์ดุร้าย น่าเกรงขาม ซึ่งที่นี่พญานาคก็มีสไตล์คล้าย ๆ เหมือนกัน จุดที่ 4: พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีห้าพระองค์ งานสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ที่อยู่หลังพระวิหาร ศิลปะแบบไทยประยุกต์ มีขนาดสูงถึง 20 เมตร โดยบริเวณบนยอดของพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีห้าพระองค์ ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกไว้อีกด้วย ความประทับใจ: เชื่อเลยว่าผู้เขียนได้ไปวัดมาหลายแห่งแล้ว แต่ไม่เคยเห็นวัดที่ชูสีฟ้าและสีน้ำเงินเป็นเอกลักษณ์และงดงามเท่าที่นี่ หากใครมาเชียงรายอยากให้มากันเพราะงานศิลปะประยุกต์ทั้งจิตรกรรมไทย ประติมากรรมไทย สถาปัตยกรรมไทยเป็นเอกลักษณ์และหาดูที่ไหนหรือภาคไหน ๆ ไม่เหมือนที่นี่ และความงดงามขององค์พระขาวที่งดงามอ่อนช้อยมากเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่สำคัญของที่นี่เลยจริง ๆ *ภาพทั้งหมดถ่ายโดยผู้เขียน