รีเซต

ประวัติวันสงกรานต์ สงกรานต์ 2567 ตำนาน นางสงกรานต์ ที่มาปีใหม่ไทย ที่ต้องรู้!

ประวัติวันสงกรานต์ สงกรานต์ 2567 ตำนาน นางสงกรานต์ ที่มาปีใหม่ไทย ที่ต้องรู้!
เอิงเอย
3 เมษายน 2567 ( 10:37 )
84.2K
1

      สงกรานต์ 2567 ที่กำลังจะถึงนี้ ถือเป็น วันปีใหม่ไทย ค่ะ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า นอกจาก การเล่นน้ำ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ แล้ว สงกรานต์ มีที่มาอย่างไร นางสงกรานต์ มีที่มาอย่างไร ตามเรามารู้จักเรื่องราวของ ประวัติวันสงกรานต์ ที่มาของประเพณีสงกรานต์ ต่างๆ ที่คนไทยต้องรู้ กันได้เลยค่ะ

ประวัติวันสงกรานต์ ประเพณีไทย ปีใหม่ไทย

 

      วันสงกรานต์ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณคู่กับ วันตรุษ จึงเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นั่นเองค่ะ

      โดยคำว่า "สงกรานต์" เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง "การเคลื่อนย้าย" เป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี คือ การเคลื่อนขึ้นปีใหม่ ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

Nongluk Singhachotsukpat / Shutterstock.com

 

      อีกทั้ง สงกรานต์ ยังเป็น วัฒนธรรมร่วม ของทั้งประเทศไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา ชนกลุ่มน้อยชาวไทในเวียดนาม มณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกา และทางตะวันออกของประเทศอินเดียค่ะ โดยมีการสันนิษฐานว่า เป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลมาจาก เทศกาลโฮลี ของประเทศอินเดียนั่นเอง ซึ่งปกติแล้ว เทศกาลโฮลี จะจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม โดยจะสาดผงสีใส่กันอย่างสนุกสนาน

      ในแต่ละประเทศที่มีประเพณีสงกรานต์นั้น ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนดัดแปลงให้ต่างจากเดิมไป ทั้ง พิธีสงกรานต์ รูปแบบ และอื่นๆ ค่ะ โดย สงกรานต์ในประเทศไทย เรานั้น กำหนดให้ เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และยังเป็นวันหยุดราชการอีกด้วย

 

สงกรานต์ไทย มรดกโลกวัฒนธรรม

    ยูเนสโก (UNESCO)  ประกาศขึ้นทะเบียน สงกรานต์ไทย เป็น มรดกโลกวัฒนธรรม ในที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วย การสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ที่ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา ในวันที่ 6 ธันวาคม 2566 (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival)

 

ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย

 

Sukpaiboonwat / Shutterstock.com

 

     ก่อนที่ประเทศไทยเรานั้นจะถือ “วันสงกรานต์” เป็น “ปีใหม่ไทย” สมัยโบราณ คนไทยเราจะถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ค่ะ เพราะถือว่าฤดูหนาว เป็นการเริ่มต้นปี โดยจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม

      ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ วันปีใหม่ไทยจึงเป็น วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 หรือประมาณเดือนเมษายน ต่อมาในปี พ.ศ.2432 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน

     จนมาถึง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในปี พ.ศ.2483 ได้ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่จนปัจจุบัน ซึ่งเป็นการนับแบบสากล แต่อย่างไรก็ตาม คนไทยในหลายภูมิภาค ก็ยังยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่อยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ค่ะ และต่อมาก็มีการกำหนดให้วันสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายนนั่นเอง

 

artapartment / Shutterstock.com

 

โดยคนไทยในแต่ละภาค จะเรียกวันสงกรานต์ต่างๆ กันออกไปตามนี้ค่ะ

ภาคกลาง

  • วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์
  • วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา
  • วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก คือ วันเริ่มจุลศักราชใหม่

ภาคเหนือ ล้านนา

  • วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันสังขารล่อง หมายถึงอายุสิ้นไปอีกปี
  • วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเน่า” เป็นวันห้ามพูดจาหยาบคาย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ไม่เจริญ
  • วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันพญาวัน คือ วันเปลี่ยนศกใหม่

ภาคใต้

  • วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันเจ้าเมืองเก่า หรือ วันส่งเจ้าเมืองเก่า เพราะมีความเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์
  • วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันว่าง คือวันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง โดยทุกคนจะไปทำบุญที่วัด
  • วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันรับเจ้าเมืองใหม่ คือวันรับเทวดาองค์ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิม

 

พิธีสงกรานต์ การรดน้ำดำหัว

 

 

      ประเพณีสงกรานต์ดั้งเดิม จะมีพิธีสงกรานต์ที่ปฏิบัติกันในครอบครัวค่ะ โดยจะมีการใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลักในพิธี เนื่องจาก การคำนวณทางดาราศาสตร์ที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน จึงใช้น้ำมารดให้แก่กันเพื่อความสดชื่นในหน้าร้อนนั่นเอง โดยหลักๆ แล้ว จะมีพิธีสงกรานต์ คือ

  1. การสรงน้ำพระ ทั้งที่บ้าน และที่วัด เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงการทำบุญตักบาตรไหว้พระ
  2. การรดน้ำ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน
  3. การรดน้ำผู้ใหญ่ เป็นการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์
  4. การดำหัว เป็นพิธีสงกรานต์ทางภาคเหนือ โดยจะคล้ายกับการรดน้ำผู้ใหญ่ในภาคกลาง เป็นการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่
  5. การขนทรายเข้าวัด มีความเชื่อว่า เพื่อคามเป็นมงคล ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองมากมายเหมือนเม็ดทรายที่ขนเข้าวัด และอีกความเชื่อก็คือ การนำทรายที่ติดเท้าออกวัด เป็นบาป จึงขนทรายเข้าวัดเพื่อไม่ให้เป็นบาปนั่นเอง

 


นางสงกรานต์

      เชื่อว่า คนไทยทุกคนรู้จัก "นางสงกรานต์" แต่เราอาจจะยังไม่รู้ว่า นางสงกรานต์ มีที่มาจากไหน? เรามาค่อยๆ ดูกันค่ะ

      โดยตำนานเกี่ยวกับนางสงกรานต์นั้น ได้มีปรากฏในศิลาจารึกที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน โดยย่อว่า เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ

 

ตำนานนางสงกรานต์

 

 

      ธรรมบาลกุมาร เป็นเทพบุตรที่พระอินทร์ประทานให้ลงไปเกิดในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อโตขึ้นก็ได้เรียนรู้ภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เพียง 7 ขวบ จึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่คนทั้งหลาย จนวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสียเอง โดยธรรมบาลกุมารได้ขอตอบคำถามใน 7 วัน

      เมื่อถึงเวลา ท้าวกบิลพรหม ก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ทำให้ท้าวกบิลพรหมแพ้ในการตอบคำถามครั้งนี้ และก่อนจะตัดเศียร ท้าวกบิลพรหม ได้เรียก ธิดาทั้ง 7 องค์ ซึ่งเป็นนางฟ้า ให้เอาพานมารองรับ เนื่องจากเศียรของท้าวกบิลพรหมเป็นที่รวมแห่งความไม่ดีทั้งปวง ถ้าวางไว้บนแผ่นดินไฟจะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง

     ธิดาทั้ง 7 จึงมีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลเศียรของท้าวกบิลพรหม และในทุกๆ ปี ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม แห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ จึงเป็นที่มาของ นางสงกรานต์ โดยแต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์นั่นเอง

 

 

ชื่อของ นางสงกรานต์ ทั้ง 7 วัน

      เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ โดยนางสงกรานต์มีชื่อดังนี้

  • ทุงษเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์
  • โคราดเทวี นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์
  • รากษสเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร
  • มัณฑาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพุธ
  • กิริณีเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี
  • กิมิทาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์
  • มโหทรเทวี นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์