รีเซต

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลักกิโลเมตรที่ 0 ถนนราชดำเนิน ปักหมุดแลนมาร์คกรุงเทพ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลักกิโลเมตรที่ 0 ถนนราชดำเนิน ปักหมุดแลนมาร์คกรุงเทพ
Muzika
20 กรกฎาคม 2563 ( 17:00 )
2.1K
5

     อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หนึ่งในแลนด์มาร์คที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของไทย ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางถนนราชดำเนินมาอย่างยาวนาน และเชื่อว่าหลายๆ คนก็น่าจะเคยผ่านไปมาหลายรอบแล้วเหมือนกัน ไม่ว่าจะเพราะเดินทางผ่านเฉยๆ หรือตั้งใจไปเพื่อถ่ายรูปสวยๆ ในยามค่ำคืนซึ่งแถวนั้นก็มักมีประดับไฟอยู่บ่อยๆ อย่างน้อยเรามาทำความรู้จักอนุสาวรีย์แห่งนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่าครับ

 

 

ประวัติ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

 

     อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งอยู่กึ่งกลางวงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ สร้างขึ้นในสมัยที่จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยตั้งใจว่าให้เป็นที่ที่ชนรุ่นหลังจะได้รำลึกถึงความสามัคคีในชาติ และการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งก็พอดีกับที่บริเวณถนนราชดำเนินกำลังมีการปรับปรุงพื้นที่อยู่พอดี จึงได้ดำเนินการจัดประกวดออกแบบอนุสาวรีย์เพื่อจะได้นำมาจัดสร้างไปพร้อมๆ กันกับถนนราชดำเนิน

 

     ผลการออกแบบที่ได้รับการคัดเลือกเป็นของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล การก่อสร้างเริ่มขึ้นในวันที่ 24 มิ.ย พ.ศ. 2482 และทำพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างและ สิทธิเดช แสงหิรัญ เป็นผู้ช่วยปั้นอนุสาวรีย์

 

หลักกิโลเมตรที่ 0 ของกรุงเทพฯ

     ใกล้ๆ กันกับอนุสาวรีย์ยังเป็นที่ตั้งของ หลักกิโลเมตรที่ 0 ของกรุงเทพฯ ด้วย โดยซ่อนตัวอยู่ในต้นไม้ใหญ่ ปากทางเข้าถนนดินสอ ฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียนสตรีวิทยา พร้อมกับมีแผนที่ทางหลวงประเทศไทยขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน ซึ่งมีรายละเอียดและข้อมูลเขียนให้อ่าน

 

 

     กิโลเมตรที่ 0 ของทางหลวงแผ่นดินสายประธาน หมายเลข 1 หมายเลข 3 และ หมายเลข 4 เริ่มจากที่ "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" ถนนราชดำเนินกลาง แยกไปตามถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ จนถึงจุดเริ่มต้นทางหลวงแผ่นดินสายประธาน คือ ถนนพหลโยธินจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปลายทางที่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ถนนสุขุมวิทจากสี่แยกเพลินจิต ปลายทางที่จังหวัดตราด และถนนเพชรเกษม เริ่มจากสะพานเนาวจำเนียรเขตบางกอกใหญ่ ปลายทางที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

 

หลักกิโลเมตรที่ 0 กรุงเทพ

 

     ต่อมามีทางหลวงแผ่นดินสายประธานหมายเลข 2 คือ ถนนมิตรภาพ เริ่มต้นจากจังหวัดสระบุรีไปสะพานมิตรภาพจังหวัดหนองคาย นับ กม. 0 ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทับถนนพหลโยธินช่วงกรุงเทพฯ - สระบุรี แล้วจึงแยกออกเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2

 

ความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

     นอกเหนือจากความสวยงามแล้ว ทุกๆ เหลี่ยม ทุกๆ มุมของที่นี่ยังสร้างโดยแฝงข้อมูลทางประวัติศาสตร์อยู่ด้วย ดังต่อไปนี้ครับ

 

Kittipong Chararoj / Shutterstock.com

 

  • ปีกทั้ง 4 ด้าน หมายถึงบุคคลในคณะราษฎร ประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ พ่อค้า และประชาชน มีความสูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (24 มิถุนายน 2475)

  • ส่วนฐานของปีกทั้ง 4 ด้านจะมีรูปปั้นลายนูนสูง บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของคณะราษฎร์ ช่วงที่นัดหมาย และแยกย้ายกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

  • ปืนใหญ่จำนวน 75 กระบอก (ปากกระบอกปืนฝังลงดิน) โดยรอบฐานของอนุสาวรีย์ที่มีโซ่เหล็กร้อยไว้ หมายถึงปีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เลข 75 เป็นเลขท้ายสองหลักของปี พ.ศ. 2475) ส่วนโซ่ที่ร้อยไว้ด้วยกันหมายถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงของคณะปฏิวัติ

  • ตรงกลางเป็นสมุดไทยที่สื่อถึงรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ตั้งอยู่บนยอดป้อม ตัวอนุสาวรีย์มีความสูง 3 เมตร หนัก 3 ตัน หมายถึง เดือน 3 หรือ เดือนมิถุนายน (นับตามแบบปฏิทินไทย ซึ่งตอนนั้นนับเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) ซึ่งตรงกับเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยนั้น นอกจากนั้นยังรวมหมายถึง อำนาจอธิปไตย ทั้ง 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญ ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อีกด้วย

  • พระขรรค์ที่ประตูทั้ง 6 เล่ม นั้นก็หมายถึง หลักการบริหารประเทศ 6 ประการของคณะราษฎร

  • อ่างตรงฐานปีกทั้ง 4 ด้านเป็นรูปงูใหญ่ หมายถึง ปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นปีมะโรง หรือ ปีงูใหญ่

 

 

     จะเห็นได้ว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยอย่างมาก และมักถูกเลือกเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่บ่อยครั้ง นับเป็นอีกหนึ่งมรดกสำคัญอันทรงคุณค่าของประเทศไทย

===============

 

รวมที่เที่ยว ที่พัก อัพเดทเทรนด์ ฟินทั่วไทยและต่างประเทศ

อ่านง่าย สบายกว่าที่เคย! บนแอปพลิเคชัน ทรูไอดี

ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!