คุณเชื่อไหมว่าสิ่งที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ดีที่สุดคือหลักฐานทางสถาปัตยกรรม ซึ่งมันเป็นตัวบ่งบอกถึงร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของยุคนั้น ยิ่งสถาปัตยกรรมในรูปแบบของโบราณสถานจะเป็นตัวบ่งบอกที่ดีที่สุด เพราะมีทั้งตัวสิ่งก่อสร้างและศิลปะภายใน ดังนั้นเราอาจสรุปได้ว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เกิดมาจากสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์ในยุคนั้นมีความเชื่อและความศรัทธาในการที่จะก่อสร้างโบราณสถานสักแห่งหนึ่ง ซึ่งในวันนี้ผู้เขียนขอพาทุกท่านย้อนรอยไปในยุคเก่าแก่ที่มีอารยธรรมความเชื่อแบบขอมโบราณในยุคเก่า ถ้าคุณพร้อมแล้วไปกันเลยค่ะ ภาพถ่าย:โดยผู้เขียน อารยธรรมขอมในสมัยโบราณมักมีความเชื่อในเรื่องของศาสนาพราหมณ์มาเกี่ยวข้องในการสร้างศาสนสถาน ซึ่งในประเทศไทยนั้นมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีศิลปะในรูปแบบของขอมอยู่ 3 แห่งคือ ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ , ปราสาทหินเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ , ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และในวันนี้ผู้เขียนจะพาทุกท่านย้อนอดีตไปด้วยกันโดยเริ่มจากสถานที่แรก ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้เขียนเชื่อว่าทุกท่านคงรู้จักชื่อเสียงของปราสาทแห่งนี้ดี เพราะเป็นปราสาทที่ถูกยกให้มีความสวยงามมากที่สุดในประเทศไทย หากมองในเรื่องของทำเลที่ตั้งนั้นต้องบอกว่า เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ชาญฉลาดที่สุด ปราสาทหินพนมรุ้งนั้นตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิททำให้การก่อสร้างถูกออกแบบมาให้มีความสมบูรณ์ดุจดังเขาพระสุเมรุ ที่เป็นที่ประดับของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ หากมองในเรื่องของศิลปะทรงของปราสาทมีชื่อเรียกว่า ศิขระ ซึ่งหมายถึงภูเขา เป็นศิลปะในแบบเขมรหรือขอม ที่มีความนิยมในการสร้างศาสนสถาน เพราะภูเขานั้นเปรียบเสมือนความหนักแน่น ความแข็งแกร่ง ของเทพเจ้า ที่สำคัญเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์นั้นมีอยู่ 3 องค์ คือ พระพรหม ผู้สร้างโลก พระนารายณ์ ผู้รักษาและปกปัก พระศิวะ ผู้ทำลายและล้างโลก ซึ่งปราสาทหินพนมรุ้งนั้นถูกสร้างถวายแด่พระศิวะ เพราะมีสิ่งที่ใช้สักการะอยู่ในปรางประธาน คือ ศิวลึงค์ และฐานโยนี ที่ใช้ในการทำพิธีถวายแด่องค์พระศิวะ นอกจากนี้ยังมีการสลักหน้าบัน เป็นรูปพระศิวะเพื่อเป็นการสรรเสริญพระศิววะ ศาสนสถานแห่งนี้เมื่อเข้าไปท่านจะรู้สึกเหมือนกำลังเดินทางเข้าสู่สรวงสวรรค์เพื่อไปพบกับเทพเจ้า ด้วยมีการทำสะพานและบันไดนาค เพื่อเป็นการกั้นระหว่างโลกมนุษย์และโลกของเทพ ทำให้เมื่อเราเข้าไปแล้วรู้สึกเหมือนอยู่คนละโลก ภาพถ่าย:โดยผู้เขียน ปราสาทหินเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ชื่อว่าเมืองต่ำหลายคนคงสงสัยใช่ไหมคะว่าทำไม จริงๆแล้วเป็นการตั้งชื่อตามทำเลที่ตั้ง หากเทียบกับปราสาททั้ง 3 จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าปราสาทแห่งนี้สร้างอยู่ในพื้นที่ที่ต่ำที่สุด แต่ยังคงรูปแบบเขาพระสุเมรุ ยังไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างเพื่อจุดประสงค์ใด แต่มีการคาดการณ์ว่าน่าจะสร้างถวายแด่องค์พระศิวะ เพราะพบศิวลึงค์และฐานโยนี รวมถึงมีการสลักหน้าบันเป็นรูปพระนางอุมา ชายาของพระศิวะ นอกจากนี้ยังมีภาพจำลักของการอวตารปรางค์ต่างๆของพระนารายณ์ เช่น พระกฤษณะปราบนาคกาลิยะ พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ แม้ปราสาทหินเมืองต่ำจะไม่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงแต่ภายในนั้นก็ยังคงรูปแบบในศิลปะของขอมอยู่เช่นเดิม ที่สำคัญภายในปราสาทแห่งนี้ยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มีพญานาคล้อมรอบ เชื่อว่าอาจสร้างให้เป็นที่อยู่ของพญานาค ในการก่อสร้างนั้นมักมีการใช้หินทรายสีขาวและสีชมพูมาก่อสร้างเพื่อง่ายต่อการสลักลวดลายเพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเชื่อและความศรัทธา ภาพถ่าย:โดยผู้เขียน ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา คำว่าพิมายหรือวิมายะปุระ เป็นชื่อในภาษาเขมร พบหลักฐานในศิลาจากรึกปราสาทของพระขรรค์ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติการก่อสร้างตามคำสั่งของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่อสร้างอโรคยาศาล หรือที่พักให้กับผู้เดินทาง ปราสาทหินพิมายมีรูปแบบการสร้างที่หันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งเชื่อว่าอาจหันหน้าไปทางเมืองหลวง และมีการพบว่าพิมายเป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางราชมัคคา หรือเส้นทางการค้าในสมัยโบราณ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นศาสนสถานแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่า เรื่องราวแห่งความรัก ระหว่างท้าวพรมทัต นางอรพิม ท้าวปาจิ ที่ชาวบ้านแถวนั้นต่างเล่าขานว่า ในอดีตเมืองแห่งนี้ถูกปกครองโดยท้าวพรมทัต เมืองแห่งนี้สุขสงบเรื่อยมาจนกระทั่งได้พบกับสาวงามคนหนึ่งชื่ออรพิม แต่บังเอิญว่านางอรพิมนี้ดันมีเจ้าของหัวใจอยู่แล้วคือท้าวปาจิ ผู้เป็นบุตรกษัตริย์ต่างเมือง ที่ออกเดินทางตามหานางที่ถูกทำนายโดยโหร บุคลิกลักษณะนั้นตรงกับนางอรพิมจึงได้มีการหมั้นหมายไว้ และท้าวปาจิเองมีการให้คำสัญญาว่าจะไปบอกพ่อกับแม่ให้มาสู่ขออย่างเป็นทางการแล้วจะไปรับ ทำให้นางอรพิมรออย่างตั้งใจ จนกระทั้งท้าวพรมทัตเรียกพบตัวเพื่อจะทำการสู่ขอ แต่นางอรพิมปฏิเสธบอกว่าต้องรอพี่มาก่อนจึงจะสามารถให้คำตอบได้ ซึ่งพี่ที่ว่าก็คือท้าวปาจินั้นเอง จนในที่สุดท้าวปาจิได้เดินทางมาถึง เมื่อทราบเรื่องทั้งสองจึงวางแผนฆ่าท้าวพรมทัตเพื่อพากันหนี จึงเป็นที่มาของพิมายหรือพี่มาแล้ว ที่เรียกเพี้ยนมาตามปากชาวบ้าน แต่ส่วนหนึ่งในเรื่องเล่านั้นก็ปรากฎ ปรางค์หรือเมรุพรมทัตให้เห็นจึงอาจสรุปได้ว้าอาจเป็นที่เฝ้าศพของท้าวพรมทัตที่ถูกลอบฆ่าก็เป็นได้ แต่หากพูดถึงภายในตัวศาสนสถานนั้นหากท่านเข้าไปจะพบพระพุทธรูปตั้งทับฐานโยนี ซึ่งเชื่อกันว่าอาจมีการล่มสลายของอาณาจักรขอมทำให้ศิลปะของขอมถูกทับด้วยรูปเคารพอย่างอื่นแทน ทั้งนี้ผู้เขียนหวังว่าทั้ง 3 ปราสาทนั้นจะเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของอารยธรรมขอมที่มีในประเทศไทยและทำให้ทุกท่านอยากออกเดินทางเพื่อไปพิสูจน์ความจริง ด้วยการไปเห็นกับตา ยิ่งหากท่านได้ศึกษาเรื่องราวไปแล้วจะทำให้การเดินทางของท่าน ไม่ใช้การเดินทางที่ศูนย์เปล่า แต่เป็นการเดินทางที่มีเรื่องราวเป็นตัวนำพา ไปพบกับภาพแห่งความจริงย้อนไปสู่ความเจริญในศิลปะศาสนสถานขนาดใหญ่แห่งอารยธรรมขอม.