หลายคนอาจจะยังไม่รู้นะครับ ว่า"แม่น้ำสาละวินนั้น เป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไหลผ่านประเทศไทยและมีความเย็นตลอดปี" หลายคนอาจสงสัยและมีคำถามอีกครั้งว่า ทำไมแม่น้ำสาละวินถึงเย็นตลอดปีล่ะ จะบอกว่าที่แม่น้ำสาละวินมีความเย็นตลอดปีนั้น เป็นเพราะว่าต้นกำเนิดของแม่น้ำสาละวินนั้น มาจากการหลอมละลายของหิมะบนเทือกบนเขาหิมาลัยในทิเบต ไหลรวมกับลำธารน้อยใหญ่ก่อนจะก่อกำเนิดเป็นแม่น้ำนานาชาติ ไหลมาทางมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ไหลผ่านทางรัฐฉาน รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า และไหลผ่านมาทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่อำเภอแม่สะเรียง ก่อนจะไหลลงไปบรรจบกับแม่น้ำเมยที่บ้านสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนจะไหลกลับคืนไปประเทศพม่าที่อ่าวเมาะตะมะและไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียในที่สุด สำหรับแม่น้ำสาละวินนั้น เป็นแม่น้ำที่มีความยาวทั้งหมด 2,800 กิโลเมตร จัดเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์รองจากแม่น้ำโขงและเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับที่ 26 ของโลก จัดเป็นแม่น้ำอีกสายหนึ่งที่ยังคงมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ โดยตลอดสองฟากฝั่งทั้งประเทศไทยและประเทศพม่านั้น มีต้นไม้นานาพันธุ์ที่ขึ้นตามริมฝั่งทั้งสองของแม่น้ำ พันธุ์ปลาต่าง ๆ โดยเฉพาะ ปลาคม และปลาคัง ซึ่งเป็นปลาที่ชาวบ้านจับได้บ่อยช่วงฤดูน้ำหลาก การนั่งเรือในลำน้ำสาละวิน ในช่วงระหว่างวันที่ 30 -31 พฤษภาคม 2567 ทางผู้เขียนและคณะได้มีโอกาสมาเยือนแม่น้ำสาละวินอีกครั้ง โดยจุดมุ่งหมายหลักในทริปของเราคือ การเยี่ยมเยือนพี่น้องและเด็ก ๆ ในหมู่บ้านท่าตาฝั่ง เพื่อให้ทราบถึงวิถีชีวิตในการพึ่งพาทรัพยากรในแม่น้ำสาละวิน โดยเราออกเดินทางตั้งแต่เช้าของวันที่ 30 พฤษภาคม 67 โดยจุดเริ่มต้นจากอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วเดินทางต่อด้วยรถยนต์อีกประมาณ 55 กิโลเมตร โดยใช้เวลาชั่วโมงเศษ ก็ถึงท่าเรือที่บ้านแม่สามแลบ โดยทีมงานนั่งเรือจาก*หมู่บ้านแม่สามแลบเดินทางขึ้นไปยัง**หมู่บ้านท่าตาฝั่ง ใช้เวลาประมาณเกือบชั่วโมง ก็ถึงยังหมู่บ้าน ซึ่งก่อนที่จะเข้าไปยังหมู่บ้านท่าตาฝั่งนั้น ทีมงานพวกเราได้มีโอกาสไปเยี่ยมพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มาอาศัยริมแม่น้ำสาละวินฝั่งประเทศพม่า ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านท่าตาฝั่ง เราได้เข้าไปเยี่ยมให้กำลังใจและเยี่ยมชมวิถีชีวิต จึงทำให้เห็นถึงความลำบากในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ ที่สถานพยาบาลยังไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย รวมถึงเวชภัณฑ์ยาสำหรับใช้รักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วย ด้านอาหารนั้น ยังขาดแคลนข้าวสารและอาหารที่จำเป็น ชาวบ้านอยู่ด้วยกันจำนวนมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่เนื่องจากพื้นที่ทำกินที่มีจำกัด ประกอบกับในช่วงนี้เกิดภาวะสงครามกลางเมืองระหว่างชนกลุ่มน้อยและทหารพม่า จึงไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามฤดูกาล ชาวบ้านที่มาอาศัยอยู่ที่นี่ ได้แต่รอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือผู้ใจบุญในการบริจาคข้าวและอาหารเท่านั้น ด้านการศึกษาของเด็ก ๆ ก็ยังขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น แต่ยังคงมีการเรียนการสอนตามยถากรรมไม่มีหลักสูตรที่ชัดเจน จึงทำให้เห็นถึงความยากลำบากของชาวบ้านที่อยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองของที่นี่ พูดคุยกับเด็ก ๆ เยาวชนและกลุ่มแม่บ้าน (ภาพข้างล่าง) หลังจากที่เราไปเยี่ยมเสร็จแล้ว ทีมงานของเราก็กลับมายังหมู่บ้านท่าตาฝั่ง ตอนเย็นวันนั้นเราก็ได้พูดคุยกับกลุ่มเด็ก ๆ เยาวชน ได้ทราบถึงการทำกิจกรรมของเด็ก ๆ ในเรื่องการดูแลปกปักรักษาแม่น้ำสาละวิน ส่วนเช้าวันรุ่งขึ้นวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ก็ได้ไปพูดคุยกับกลุ่มแม่บ้าน ทำให้ได้ทราบถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงบทบาทของผู้หญิงในชีวิตประจำวันด้วย พอพูดคุยกับกลุ่มแม่บ้านได้สักครู่ใหญ่ ๆ ตอนสาย ๆ วันนั้น ทีมงานเราก็เดินทางกลับออกมาจากหมู่บ้านท่าตาฝั่งโดยรถยนต์ สำหรับการเดินทางโดยรถยนต์จากหมู่บ้านท่าตาฝั่งถึงบ้านแม่สามแลบนั้น จะใช้เวลามากกว่าทางเรือประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งเราก็เดินทางกลับออกมาอย่างปลอดภัย จากการเดินทางทริปของทีมงานเราในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นถึงความสวยงามของธรรมชาติริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน รวมถึงวิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ยังคงอาศัยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติในการหล่อเลี้ยงชีวิต โดยเฉพาะช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน ถือเป็นช่วงฤดูทองสำหรับการเพาะปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ หลายครอบครัวก็อาศัยการหาปลาสาละวินมาขาย เป็นรายได้ในการดูแลสมาชิกในครอบครัวด้วย อีกทั้งยังได้ทราบถึงว่า "ภาวะสงครามนั้นทำลายซึ่งทุกสิ่ง แม้กระทั่งชีวิตของมนุษย์ที่เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในโลกจักรวาล"* บ้านแม่สามแลบ ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ** บ้านท่าตาฝั่ง ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื้อหาและภาพโดย:loylom ผู้เขียน อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !