ในเขตพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ดจังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อในหลายหมูบ้าน โดยมีหมู่บ้านที่มีชาวไตลื้ออาศัยอยู่หนาแน่นไม่น้อยกว่าหมูบ้านอื่น ๆ คือ ที่บ้านลวงเหนือ นอกจากนั้นยังมีวัดศรีมุงเมืองซึ่งมีประวัติการก่อตั้งและเรื่องราวที่สำคัญต่อชุมชน คณะสงฆ์และชาวไตลื้ออย่างมาก จึงถือว่าเป็นอีกวัดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวเมื่อมาเชียงใหม่ ควรจะมาทำบุญ เรียนรู้วิถีความเชื่อและศิลปะ รวมถึงสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ด้วย ชุมชนของชาวไตลื้อที่นี่ถือว่ามีขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เดิมนั้นอพยพมาจากเมืองลวง ในสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ประเทศจีน ราว พ.ศ. 1932 โดยตำนานเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า วัดศรีมุงเมืองหรือวัดบ้านลวงเหนือ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1944 โดยพญาสามฝั่งแกน กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา นับถึงปีปัจจุบัน มีอายุถึง 619 ปีแล้ว (พ.ศ. 2563) หนึ่งในเจ้าอาวาสที่สำคัญของวัดแห่งนี้ คือ ครูบาอภิชัย คำมูล โดยท่านรับความนับถือจากชาวเชียงใหม่อย่างมากและนับว่าเป็นเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายของวัดที่สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เมื่อท่านมรณภาพในปี พ.ศ. 2464 คือ 99 ปีที่แล้ว วัดศรีมุงเมืองก็ได้ถูกญัตติเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย โดยพระนพีสีพิศาลคุณ(มหาปิง)และการผลักดันของหมื่นบุญเรืองวรพงษ์ กำนันตำบลลวงเหนือ เมื่อสักการะซุ้มพระอุปคุตด้านหน้าแล้ว ก็จะต้องเดินผ่านซุ้มประตูสีขาวที่สวยงามด้วยลายปูนปั้นสุดอลังการ หรือซุ้มประตูโขงแบบล้านนา และเดินขึ้นบันไดอีกเล็กน้อย ผ่านม่านโซ่ที่ประตูเข้าไป ก็จะพบกับภายในวิหารที่งดงาม มีเสาขนาดใหญ่ท่อนล่างสีดำ ท่อนบนปิดทองสวยงาม ด้านข้างประดับด้วยตุง 12 นักษัตร เพดานกลางเป็นตุงใส่ธนบัตรยาวประมาณ 100 แถวจำนวน 6 อัน หน้าต่างลงรักปิดทองเป็นรูปเทวดาประณีตและสวยงาม ผนังด้านในวิหารประดับด้วยประติมากรรมพระพุทธรูป 555 องค์ ปางลีลาสีทองแบบนูนสูงบนกำแพงทางรองพื้นสีดำทำให้องค์พระมีความโดดเด่นและสวยงามมากขึ้นไปอีก ตรงกลางมีพระอุปคุตให้กราบไหว้บูชา ด้านขวาของพระประธานเป็นธรรมมาสน์ทรงปราสาทและอาสน์สงฆ์ ที่โดดเด่นที่สุดก็น่าจะเป็นวิหารนี่แหละครับ ตัวหลังคาออกแบบผสมผสานไตลื้อแบบทรงโรงและฮ่างหงส์ ประดับด้วยตัวลวง(สัตว์ในตำนาน มีสี่ขาอย่างมังกร มีหูมีปีกและมีเขาเหมือนกวาง) โดยเชื่อว่า ตัวลวงจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ที่หน้าบันของวิหาร ติดตั้งรูปตราสัญลักษณ์เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และนกยูงเพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ของเมืองสิบสองปันนา มีจุดที่น่าเรียนรู้อีก 1 จุด คือ องค์เจดีย์ทรงระฆังสีทองสวยงาม ตัวฐานเป็นแบบเขียง 4 เหลี่ยม มีสิงห์อยู่ทั้ง 4 มุม และมีชั้น 3 ชั้นโดยชั้นที่ 1 มีเจดีย์บริวาร 8 องค์ ชั้นที่ 2 มีประดับด้วยรูปปั้นนรสิงห์ ชั้นที่ 3 ประดับด้วยหม้อดอกไม้ เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปและถัดจากนั้นขึ้นไปจะมีลักษณะคล้ายเจดีย์แบบพม่าทั่วไป ปัจจุบัน พื้นที่ของวัดแม้จะไม่กว้างใหญ่มาก แต่สะอาดและเป็นระเบียบ ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ มีอาคารและสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนาที่งดงามและคงความเป็นอัตลักษณ์ของชาวไตลื้อผสานกับศิลปะแบบพม่าไว้เป็นอย่างดี ได้แก่ ซุ้มประตู โบสถ์ วิหาร กุฎีพระ ศาลาบาตร หอฉันและศาลาอเนกประสงค์ รวมถึงปูชนียวัตถุสำคัญภายในวัดที่เลอค่าน่าชมสักครั้ง ได้แก่ เจดีย์สีทองศิลปะแบบไตลื้อผสมพม่าพร้อมกับเจดีย์บริวาร พระประธานในอุโบสถ พระประธานในวิหาร และพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิเพชร โดยทั้งหมดสร้างขึ้นในแบบศิลปะไตลื้อและพม่า สิ่งก่อสร้างและความงดงามทั้งหมดที่ปรากฏในวัดนี้ แสดงถึงศรัทธาของชาวไตลื้อเมืองลวงและบารมีของเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันรวมถึงคณะศรัทธาทั่วไปที่ได้อุดหนุนค้ำจุนและรักษาวิถีอัตลักษณ์ไตลื้อไว้อย่างน่าชื่นชม...แบบนี้ก็ต้องไปชื่นชมกันสักครั้งนะครับ พิกัด : 18.879547, 99.124543 ที่ตั้ง : วัดศรีมุงเมือง เลขที่ 157 หมู่ที่ 4 ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ วันเวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน เวลา 06.00-17.00 น. ภาพประกอบทั้งหมดถ่ายโดยผู้เขียน : อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ฟรี