ทำบุญวันเกิดเสริมสิริมงคลที่วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร เมื่อนึกถึงวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลายคนก็คงมีรายชื่อของวัดอยู่ในใจกันบ้างแล้ว ที่จะมาทำบุญ ไหว้พระ ขอพร สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองและคนในครอบครัว เช่น รายการไหว้พระ 9 วัด ตามที่ได้รับการแนะนำมาจากบุคคลรอบข้าง ข้อมูลของในโลกออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยในครั้งนี้ผู้เขียนจะทำการแนะนำอีกวัดหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่ทราบกันมาก่อน ว่าวัดนี้อยู่ตรงไหนภายในเกาะเมืองอยุธยา และอาจจะไม่ทราบถึงประวัติความสำคัญที่มีคุณค่าทั้งทางสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ของวัดนี้ ที่มีการผสมผสานของสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาและจิตกรรมฝาผนังศิลปในสมัยรัตนโกสินทร์เข้าไว้ด้วยกันไ้ด้อย่างลงตัว และมีความสำคัญอย่างยิ่งซึ่งวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหารนี้เป็นวัดประจำราชวงศ์จักรี เป็นเวลาในช่วงเช้าวันหนึ่งในเดือนกันยายนซึ่งเป็นวันเกิดของผู้เขียน ได้เดินทางมาถึงวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ใช้ระยะเวลาเพียงไม่นานนักขับรถยนต์จากบ้านของผู้เขียนซึ่งอยู่ในตัวเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อากาศในวันนั้นเย็นสบายกำลังดีมีลมพัดเข้ามาบริเวณวัดเป็นระยะ โชคดีที่เป็นวันธรรมดาทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวพลุกพล่านมากนัก ทำให้ผู้เขียนและคุณแม่ได้มีโอกาสได้ถ่ายภาพและเดินสำรวจ ชื่นชมความงามภายบริเวณวัดโดยรอบ ในโบสภ์ และพระวิหารของวัดได้กันอย่างเต็มที่ จุดที่น่าสนใจ ซุ้มประตูทางเข้าหน้าวัดจะปรากฎพระราชลัญจกรพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทำความรู้จัก ชื่่อ: วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร (Wat Suwandararam) ที่ตั้ง: ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเภท: พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร พิกัด: Location สามารถใช้ Google Maps ในการการหาตำแหน่งของวัดได้เลย (หรือเมื่อขับรถข้ามสะพานเข้าเกาะเมืองอยุธยาเข้ามาแล้วให้ชิดซ้ายเข้าสู่ถนนอู่ทอง บนถนนรอบเมืองที่จะไปป้อมเพชร จะพบป้ายของวัดและทางเข้าอยู่ทางด้านขวามือ) ตามประวัติมีการบันทึกไว้ว่า... วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร เดิมในสมัยอยุธยา มีชื่อว่า "วัดทอง" ตั้งอยู่บริเวณป้อมเพชร ภายในเขตกำแพงกรุงศรีอยุธยาในทางทิศใต้ โดยพระอัยกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อ พ.ศ. 2310 พม่าได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก บ้านเมืองวัดต่างๆ ภายในราชธานีได้ถูกพม่าเผาทำลาย วัดทองก็เช่นเดียวกัน โดยวัดถูกทิ้งร้างมานานถึง 18 ปี และเมื่อ พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แล้วนั้น ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดทองทั้งหมดขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2328 ซึ่งในการบูรณะครั้งนั้นพระอนุชา กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้ทรงร่วมปฏิสังขรณ์และก่อสร้างพระอุโบสถ พระเจดีย์ และหมู่กุฏิทั้งหมดด้วย เมื่อการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ พระองค์ได้มีการพระราชทานนามใหม่ของวัดแห่งนี้ตามชื่อของพระราชบิดา (ทองดี) และชื่อของพระราชมารดา (ดาวเรือง) ว่า “วัดสุวรรณดาราราม” หลังจากที่ได้เดินชมความสวยงามภายในกำแพงของวัดเสร็จแล้วผู้เขียนจึงได้เข้าสู่โบสถ์เพื่อสักการะองค์พระประธานเพื่อขอพรในวันเกิด โดยสถาปัตยกรรมของโบสถ์จะมีลักษณะคล้ายเรือสำเภา หรือ แบบตกท้องช้าง ซึ่งเป้นเอกลักษณ์ของโบสถ์ตั้งแต่ครั้งอยุธยาตอนต้นที่หาชมได้ยาก "(ก่อนเดินเข้าไปภายในโบสถ์ แม่ของผู้เขียนเล่าให้ฟังว่าในสมัยก่อนคนอยุธยามีความเชื่อว่าหากต้องการขอให้ไม่โดนเกณฑ์เป็นทหาร ชาวบ้านมักจะมาทำการบนบานขอที่วัดนี้ ซึ่งผู้ที่ขอกับองค์พระประธานไว้ จะต้องทำการแก้บนด้วยการร้องเสียบแบบม้าและทำกริยาลักษณะแบบควบม้าวิ่งวนไปรอบๆ พระอุโบสถ จำนวนตามรอบที่ตนเองได้สัญญาไว้)" เมื่อเข้ามาภายในโบสถ์ เราจะพบกับองค์พระประธานที่ได้จำลองแบบขยายส่วนมาจาก พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระแก้วมรกต ที่ประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบเหนือพระรัตนบัลลังก์ที่ประดับกระจกสี โดยด้านซ้าย และขวาเป็นที่ประดิษฐานนพดลมหาเศวตรฉัตร เพดานพระอุโบสถเป็นไม้จำหลักลายดวงดาราบนพื้นสีแดง ลงรักปิดทองประดับกระจกตรงกลางเป็นดาวประธาน ล้อมรอบด้วยดาวบริวาร 12 ดวง อีกหนึ่งสิ่งที่สวยงามสะดุดตาเป็นอย่างยิ่งภายในโบสถ์และพระวิหารของวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร คือ จิตกรรมฝาผนัง ที่ถูกวาดขึ้นครั้งแรกของประเทศไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยมีอายุกว่า 200 ปี เป็นภาพจิตกรรมที่วิจิตรงดงามและเป็นศิลปในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยภาพเขียนที่ปรากฏทัั้งหมดเป็นการบอกเล่าถึงเรื่องพุทธประวัติ ไตรภูมิ และทศชาติชาดก ภาพจิตกรรมฝาผนัง อายุกว่า 200 ปี จิตดรรมภายในโบสถ์และพระวิหารได้ถูกแบ่งเป็นสองส่วน ด้านบน ของผนังภายในพระอุโบสถ รายล้อมไปด้วยภาพของเทพพนมร้อยองค์ที่ลอยอยู่ในวิมาน ถ้าสังเกตุดีๆ จะพบว่า เทพพนมจะมีขนาดลดหลั่นกันไปตามระยะใกล้-ไกล ซึ่งเป็นลักษณะของทัศนียภาพแบบตะวันตก ด้านล่าง ของผนังภายในโบสถ์จะเป็นภาพเรื่องราวของมหาเวสสันดรชาดกและสุวรรณสามชาดก บอกเล่าเรื่องราวภายลายเส้นที่วิจิตรบรรจงโดยงานช่างที่มีฝีมือในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เที่ยวชมได้ไม่รู้เบื่อความงดงามของสถาปัตยกรรมไทย ความงดงามที่เราได้พบเห็นของวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ในวันนี้เกิดจากความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ในสมัยอยุธยาสืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่คงไว้ซึ่งความงดงามทางสถาปัตยกรรมและจิตนกรรม และได้รับการทำนุบำรุงรักษาผ่านกาลเวลาให้พวกเราคนรุ่นหลังได้สามารถชืนชมและได้สัมผัสกับความงามในอดีตที่เหลือเพียงหนึ่งเดียวในปัจจุบัน หากใครที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้เดินทางมา หรือเคยมาอยุธยาแล้วยังไม่เคยมาที่่วัดนี้ ผู้เขียนอยากเชิญชวนให้ทุกคนได้ลองมาเห็นว่าโบสถ์แบบท้องเรือสำเภานั้นเป็นอย่างไร และมาสัมผัสกับจิตกรรมฝาผนังที่งมีอายุกว่าสองร้อยปีด้วยตาของตัวเอง