เชอร์โนบิล Chernobyl เมืองสยอง ที่ ยูเครน คนกลายพันธุ์ โศกนาฏกรรม แห่งประวัติศาสตร์โลก
หลายคนอาจจะเคยเห็น หรือได้ยินเรื่องราวอันน่าสยดสยองของ เชอร์โนบิล (Chernobyl) ใน ยูเครน (Ukraine) มาแล้วบ้าง ตามภาพต่างๆ ในหน้าอินเตอร์เน็ต หรือ หนังสยองขวัญที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของเชอร์โนบิล แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงของโศกนาฏกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในความรุนแรงที่สุดของประวัติศาสตร์โลก
เชอร์โนบิล ยูเครน เมืองร้าง สยองขวัญ ?
เชอร์โนบิล (Chernobyl) ตั้งอยู่ในเขตของ เมืองพริเพียต (Pripyat) ประเทศยูเครน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในสมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต ความน่าสะพรึงกลัว ได้เกิดขึ้นหลังจากอุบัติเหตุครั้งประวัติศาสตร์ในวันที่ 26 เมษายน 1986 เมื่อเครื่องปฏิกรณ์ตัวที่ 4 เกิดเหตุระเบิดขึ้นในระหว่างการทดสอบความปลอดภัยในภาวะฉุกเฉิน
อุบัติเหตุจากการทดสอบดังกล่าว เป็นผลมาจากการออกแบบที่บกพร่อง การขาดความชำนาญ รวมถึงการประสานงานของเจ้าหน้าที่ และกลายเป็นเหตุโศกนาฏกรรมช็อคโลกที่เรียกได้ว่า รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก จัดอันดับความรุนแรงไว้ที่ระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ ที่ทำให้มีเหยื่อทั้งสังเวยชีวิต ป่วยเป็นโรคมะเร็ง กลายพันธุ์ผ่าเหล่า หรือ พิการไปเป็นจำนวนมาก
ผลจากการระเบิดหลายครั้ง ทำให้ทั้งเหล็กและคอนกรีต ที่สร้างครอบเครื่องปฏิกรณ์แตกกระจาย ปล่อยกัมมันตรังสีพวยพุ่งขึ้นสู่บรรยากาศ ปกคลุมทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ ทางการยูเครน เบลารุส และรัสเซีย ต้องอพยพประชากรมากกว่า 336,000 คน ออกจากพื้นที่อย่างฉุกเฉิน มีผู้ได้รับผลกระทบจากการระเบิดโดยตรงมากกว่า 600,000 คน มีผู้เสียชีวิตทันทีหลังการเกิดระเบิด 56 คน แต่ผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจากการสัมผัสกัมมันตรังสีอาจสูงถึง 4,000 คน
ดูคลิป
ปริมาณของรังสีที่แพร่กระจายออกมาจากการระเบิดครั้งนี้ มีอานุภาพมากกว่ารังสีจากระเบิดปรมาณูที่ถล่มใส่เมืองนางาซากิ และฮิโรชิม่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างน้อย 200 เท่า และลอยสู่ชั้นบรรยากาศยาวนานถึง 10 วัน เมืองพริเพียตจึงถูกทิ้งร้างเนื่องจากระดับการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีที่อยู่ในปริมาณสูง แต่ก็ไม่ทันการณ์แม้จะมีการอพยพชาวเมืองออกจากพื้นที่ทันทีภายในสองวันหลังเกิดเหตุการณ์ ซึ่งในช่วงเวลานั้นหลายคนได้รับรังสีปนเปื้อนในระดับสูงไปแล้ว
Forgotten Chernobyl / Shutterstock.com
บริเวณป่าโดยรอบพื้นที่ที่เกิดการระเบิด มีชื่อใหม่ว่า “ป่าแดง” เนื่องจากรังสีนิวเคลียร์ทำให้ใบไม้กลายเป็นสีน้ำตาลแดงแทบทั้งหมด นอกจากนี้สัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในละแวก 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ก็มีอัตราการตายก่อนอายุขัยสูงมากขึ้น อีกทั้งยังมียีนที่ผิดปกติ ไม่ใช่แค่ในสัตว์เท่านั้น แต่รังสีนิวเคลียร์ยังมีอานุภาพส่งถึงคนอีกด้วย ตัวอย่างก็คือ ตาของนักดับเพลิงที่ชื่อ "วลาดิมีร์ ปราวิก" เปลี่ยนจากสีน้ำตาลเป็นสีฟ้า อย่างน่าตกใจ
แม้ในช่วงแรกรัฐบาลโซเวียตจะปกปิดเรื่องที่เกิดขึ้น และประกาศว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ส่วนการแพร่ระบาดของกัมมันตภาพรังสีก็มีปริมาณเท่ากับเครื่องเอ็กซ์เรย์เท่านั้น แต่การปนเปื้อนระดับสูงนี้ได้ส่งผลอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากประชาชนในพื้นที่ที่เริ่มมีอาการผิดปกติต่างๆ การกลายพันธุ์ โรคมะเร็งร้ายที่คร่าชีวิตชาวเมือง ทำให้ประเทศสวีเดนเป็นประเทศแรกที่ประกาศต่อชาวโลกถึงหายนะจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล
แม้จะผ่านมานานกว่า 30 ปี ในทุกวันนี้ เชอร์โนบิล เมืองพริเพียต ยังคงถูกทิ้งร้าง เนื่องจากต้องกำจัดพลูโตเนียมที่แพร่กระจายปกคลุมไปทุกหนแห่ง โดยคาดว่าต้องใช้เวลามากกว่า 300 ปี เพื่อให้เมืองกลับมาดังเดิม
ภัยมืดจากผลกระทบของกัมมันตภาพรังสี ยังทำร้ายชีวิตผู้คนที่อาศัยใกล้เมืองเชอร์โนบิลต่อไป เด็กจำนวนมากเกิดมาพร้อมกับโรคแต่กำเนิด มีการกลายพันธุ์ในยีน หรือโรคมะเร็งหายาก และยังคาดว่ากัมมันตภาพรังสีจะส่งต่อไปยังอีกหลายชั่วอายุคน
====================