คำแรกที่จุเชื่อว่า หลายคนต้องแปลกใจ คือ อุทกสีมาคืออะไร? แปลตามตัวคือ อุทก แปลว่าน้ำ สีมา คือ ขอบเขต รวมกันคือ ขอบเขตน้ำ โดยปกติแล้วเรามักจะเห็นโบสถ์ที่สร้างกลางน้ำ ตามลัทธิลังกาวงศ์ที่ส่งผ่านมาจากมอญ สุโขทัย ไปจนถึงล้านนา แต่นั่นก็มีเพียงแค่โบสถ์ที่สร้างอยู่กลางน้ำ โดยมีความเชื่อว่าน้ำเปรียบเหมือนความบริสุทธิ์ และอีกความเชื่อหนึ่งคือ เปรียบเหมือนเขาพระสุเมรที่ตั้งอยู่กลางห้วงนที แต่สำหรับวัดสีกาสมุด ที่เป็นวัดร้างนี้ ไม่เพียงโบสถ์ที่อยู่กลางน้ำ แต่ทั้งวัดที่มีทั้งโบสถ์ วิหาร เจดีย์ ที่อยู่บนเกาะโดยมีน้ำล้อบรอบ ซึ่งจุยังไม่เคยเห็นวัดไหนที่อยู่กลางน้ำอย่างชัดเจนเท่าวัดนี้มาก่อน ส่วนชื่อวัดที่ชื่อสีกาสมุด มีการสันนิษฐานว่า อาจเป็นสีกา หรือผู้หยิงสร้าง สมุด มาจากคำว่าสมุทรที่แปลว่าน้ำ แต่อีกการสันนิษฐานหนึ่ง อาจจะมาจาก การสร้างของขุนนางขุนหนึ่งที่มี ราชทินนามที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดาร ว่า ศรีกาฬสมุด แล้วเพี้ยนเป็นสีกาสมุดก็ได้ วัดสีกาสมุดเป็นวัดขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดมเหยงคณ์ ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเจดีย์เป็นประธานของวัด ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธานเป็นอุโบสถ ตามเอกสารที่ปรากฏ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น แต่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่หลักฐานการสร้างเจดีย์ประธานของวัดไว้กึ่งกลางแผนผัง มีวิหารขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า ส่วนโบสถ์มีความสำคัญน้อยและตั้งอยู่ตำแหน่งด้านหลังของเจดีย์ประธาน เป็นแผนผังของการสร้างวัดในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในเอกสารพงศาวดาร ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พบว่ามีการบูรณะวัดเก่า คือ วัดมเหยงคณ์ วัดกุฎีดาว นักวิชาการจึงเชื่อกันว่า วัดสีกาสมุด ก็น่าจะได้รับการบูรณะในคราวเดียวกันด้วย เพราะปรากฏหลักฐานสำคัญคือ เจดีย์ทรงระฆังบนฐานประทักษิณเตี้ยๆ ที่ฐานของเจดีย์มีซุ้มปูนปั้นลักษณะเดียวกันกับเจดีย์ช้างล้อม วัดมเหยงคณ์ และซุ้มในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ โดยช่องที่ฐานเจดีย์ที่วัดนี้เป็นซุ้มกลีบบัวที่น่าจะบรรจุพระพุทธรูป และวัดนี้ก็คงเหมือนกับวัดอื่นๆ อีกหลายวัดของกรุงศรีอยุธยาที่ถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ สำหรับใครที่อยากจะมาดูอุทกสีมาที่เหลืออยู่ของวัดสีกาสมุด สามารถเดินทางมาได้ง่ายๆ จากป้ายทางเข้าวัดมเหยงคณ์ วัดสีกาสมุดจะอยู่ก่อนถึงลานจอดรถ ในปัจจุบันนี้ วัดสีกาสมุดมักจะถูกใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมของผู้ที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดมเหยงคณ์อยู่เสมอ เพราะมีความเงียบสงบและร่มรื่น