ชายสามโบสถ์พาไปไหว้พระ 7 วัดในจังหวัดน่าน 5 วัดอยู่ในตัวเมือง 2 วัดอยู่ในเส้นทางท่องเที่ยว ไปน่านต้องเช็คอินครับขอจัดคอนเทนต์การตะเวนไหว้พระเพื่อเสริมสิริมงคล ใน EP1 นี้ผมพาไปจังหวัดน่านครับ เผื่อเป็นประโยชน์กับผู้ไปเยือน ทั้งหมด 7 วัด จำนวน 5 วัดอยู่ในตัวเมือง บางวัดเดินถึงกันได้เลย ส่วนอีก 2 วัดต้องเดินทาง แต่ก็อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวที่ต้องผ่านอยู่แล้ว เช่นวัดภูเก็ต อยู่ใน อ.ปัว และวัดพระธาตุแช่แห้งออกนอกเมืองไปไม่ไกล จังหวัดน่านแม้จะอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง แต่งานศิลปะทางพุทธศิลป์ ก็เป็นศิลปะล้านนา เหมือนจังหวัดทางภาคเหนือทั้งหมด ไปชมความของศิลปะล้านนากันครับภาพจิตรกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) ในตำนาน ปู่ม่านย่าม่าน "กระซิบรัก" บนผนังด้านทิศตะวันตกของโบสถ์จตุรมุข ที่กรมศิลปากรฟันธงว่าเป็นโบสถ์ 4 ทิศหลังแรกของประเทศไทยวัดภูมินทร์วัดแรกที่พาไปสักการะคือวัดภูมินทร์ วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่าน ซิกเนเจอร์ที่โด่งดังมีชื่อเสียงระดับโลกของวัดนี้คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง (ฮูบแต้ม) ปู่ม่านย่าม่านกระซิบรัก เป็นการจำลองวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ ใครมาเที่ยวน่านไม่เช็คอินกับภาพนี้ถือว่า ไม่ได้มาน่านนะครับ ยังมีภาพเขียนที่น่าสนใจแอบอยู่ข้างประตู บนผนังด้านทิศเหนือ เป็นภาพเขียนชายและหญิงชาวไทยลื้อขนาดเท่าตัวจริงอยู่ด้านข้างซ้ายและขวา เมื่อเปิดประตูภาพเขียนจะถูกบัง ภาพผู้หญิงนุ่งผ้าพื้นเมืองส่วนบนไม่สวมเสื้อ เกล้าผมมวย มือซ้ายกำลังใช้สองนิ้วคีบมวนยา อ่อนช้อยงดงามครับ ส่วนฝ่ายชายสวมใส่เสื้อกางเกงพื้นเมืองจัดเต็มปิดมิดชิด ไว้ผมทรงแสกกลางมหาดไทย พร้อมมือขวาใช้สองนิ้วคีบมวนยาเช่นกัน อีกสองซิกเนเจอร์สำคัญที่ไม่ควรพลาด พระประธานในพระอุโบสถจตุรมุขนี้ก็คือ พระประธานจตุรพักตร์พระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย 4 องค์หันหน้าออกประตูทั้งสี่ทิศของอุโบสถจตุรมุข ทั้ง 4 องค์หันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ชนกัน ประทับอยู่บนฐานชุกชี ตกแต่งด้วยลวดลายไม้แกะสลักสวยงามการออกแบบพระอุโบสถวัดภูมินทร์นี้ถือเป็นแห่งเดียวในโลกและในประเทศไทยคือ ตัวพระอุโบสถจตุรมุขเทินอยู่บนกลางลำตัวของพญานาคที่กำลังแห่แหนพระอุโบสถ หัวพญานาคคู่หันไปทางทิศเหนือบริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ ก่อนถึงบันไดขึ้นโบสถ์ ลำตัวพญานาคทั้งคู่โค้งขึ้น มีประตูลอด ความเชื่อที่มีมาแต่โบราณคือ ถ้าได้เดินลอดประตูใต้ท้องพญานาคคู่นี้จะเป็นมงคลแก่ชีวิตครับพิกัด : วัดภูมินทร์วัดมิ่งเมือง วัดมิ่งเมืองอยู่ใกล้วัดภูมินทร์เดินเลี้ยวซ้ายจากวัดภูมินทร์สัก 100 เมตรก็ถึงแล้ว มีที่จอดรถในวัดพอประมาณ วัดมิ่งเมืองเป็นวัดเก่าแก่เดิมเป็นวัดร้างที่ค้นพบเมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อน ในตอนนั้นพบเสาหลักเมืองในซากวิหารเก่า วัดนี้จึงมีเสาหลักเมืองอยู่ด้านหน้าโบสถ์ ตัวโบสถ์ได้ถูกบูรณะจัดสร้างขึ้นมาใหม่ บูรณะแทนหลังเดิมในปี พ.ศ. 2527 เป็นศิลปะล้านนาประยุกต์ ลักษณะเด่นคือลายปูนปั้นสีขาวด้านในพระอุโบสถมีความงดงามไม่แพ้ด้านนอก มีพระประธานองค์ใหญ่และพระประธานองค์รอง รอบผนังโบสถ์ด้านในเป็นภาพเขียนพุทธประวัติ เสาและเพดานตกแต่งโทนสีแดงเข้มและทอง พิกัด : วัดมิ่งเมืองวัดหัวข่วงจริงๆแล้ววัดหัวข่วง ถ้าเดินออกจากวัดภูมินทร์ตรงไปเลยจะผ่านอุโมงค์ต้นลีลาวดีซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน เดินตรงไปอีกถนนจะเจอวัดหัวข่วง เป็นวัดโบราณเก่าแก่มากที่ไม่สามารถระบุสมัยที่สร้างได้ มีเพียงหลักฐานการบูรณะ ในปี พ.ศ. 2425 และ พ.ศ. 2472 ดูปีที่บูรณะก็ร้อยกว่าปีแล้ว เก่ามากจริงๆ สามสิ่งก่อสร้างสำคัญที่ควรเก็บภาพมาเป็นที่ระลึกคือ หอธรรม เจดีย์ และพระอุโบสถ หอธรรมหรือหอไตรสันนิษฐานว่าสร้างมาพร้อมๆ กับวัดเลย ทรงหอไตร เป็นเรือนไม้โบราณยกสูงด้านล่างเป็นปูนทึบ ปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่แต่ยังรักษารูปทรงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่บูรณะทุกส่วนให้สวยงามขึ้น ได้รับการทาสีตกแต่งลวดลายสีทอง สวยงามครับ ส่วนเจดีย์ก็เช่นกันครับ บูรณะทาสีใหม่ แต่รูปทรงและรายละเอียดยังเหมือนเดิมในส่วนพระอุโบสถบูรณะใหม่ในทรงเดิม เพียงแต่ลวดลายเน้นสีทอง โดดเด่นขึ้น ด้านในไม่เน้นลวดลายมากเหมือนวัดอื่น เป็นสีพื้นแดงเข้ม ไม่มีภาพเขียนผนังโบสถ์ ทำให้พระประธานสององค์โดดเด่นมากพระประธานองค์ใหญ่ลงสีกึ่งเหมือนจริง ส่วนพระประธานองค์รอง เป็นโลหะทองเหลืองพิกัด : วัดหัวข่วงวัดศรีพันต้นวัดนี้อยู่ห่างออก จากวัดภูมินทร์ไปทางทิศตะวันตก ชื่อนี้คนทั่วไปอาจจะคิดไปว่า มีเสาจำนวนพันต้นอยู่ในโบสถ์รึเปล่า ความจริงไม่ใช่ครับ ชื่อพันต้นได้มาจากผู้สร้างวัดที่ชื่อ พญาพันต้นครับ ส่วนคำว่า ศรี ข้างหน้า มาจากคำว่า สลี เป็นคำโบราณที่แปลว่า ต้นโพธิ์ เมื่อก่อนมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ภายในวัด ปัจจุบัน ถูกโค่นลงเพราะต้องตัดถนนผ่าน วัดนี้เด่นที่ลายปูนปั้นสีทองด้านนอกโบสถ์ ลักษณะเป็นศิลปะล้านนาประยุกต์ เช่นเดียวกับวัด มิ่งเมือง แต่มีความแตกต่าง ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยการทำสีทองเหลืองอร่ามรับแสงอาทิตย์ยามเช้าที่ด้านหน้าโบสถ์หันไปทางทิศตะวันออกภายในพระอุโบสถ คล้ายวัดในจังหวัดน่านทั่วไป แต่วัดนี้เน้นสีทองเป็นหลัก ถ้าเทียยกับวัดภูมินทร์และวัดมิ่งเมือง สองวัดนั้นเน้นสีแดงเป็นหลัก สีทองเป็นรอง ลายด้านหลังพระประธานเป็นเทพ เทวดา ล่องลอยอยู่เหนือองค์พระพทุทธเจ้า มีความเป็นเอกลักษณ์ พระประธานหลักอยู่ตรงกลางพร้อมลวดลายเขียนผนังเป็นซุ้มเรือนแก้ว มีความแปลกที่องค์พระประธานมีขนาดหน้าตักเล็กกว่าพระประธานองค์รองที่มีขนาดหน้าตักใหญ่พิกัด : วัดศรีพันต้นวัดพระธาตุเขาน้อยวัดพระธาตุเขาน้อย ถือเป็นหนึ่งซิกเนเจอร์ของจังหวัดน่าน เช่นเดียวกับวัดภูมินทร์ที่มีภาพกระซิบรัก ขึ้นเขาน้อยมาไหว้พระต้องมีภาพ "พระพุทธรูปมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน" พระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัว ถ้าโชคดีก็จะมีทะเลหมอกปกคลุมตัวเมือง จากลานชมวิววัดพระธาตุเขาน้อยจุดนี้ สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน ผมไปอยู่หลายวัน ตอนเช้าของทุกวันที่ไปพักที่น่าน ผมจะขับรถขึ้นเขาไปเก็บแสงแช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ก็จะได้ภาพความหลากหลายของท้องฟ้ามาฝากกันครับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่ต้องไปสักการระบูชาคือ องค์พระเจดีย์โบราณเป็นศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า เจดีย์ตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของเขาน้อย ประดิษฐานเคียงคู่กับโบสถ์จตุรมุขทางขึ้นเขาแม้จะแคบแต่รถสวนทางกันได้ ไม่น่าหวาดเสียวมาก ผมเป็นคนต่างถิ่นไปครั้งแรก ก็ไม่มีความน่ากลัว แต่อย่างไรก็ตามต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาทขับรถด้วยความระมัดระวังดีที่สุดครับ ถ้าไม่ขับรถขึ้นไปหน้าวัดก็มีบันไดตรงยาวขึ้นไปถึงลานวัดเลยนะครับ บันไดมีทั้งหมด 303 ขั้น วัดใจผู้มีจิตศรัทธาแรงกล้าครับพิกัด : วัดพระธาตุเขาน้อยวัดพระธาตุแช่แห้งวัดเก่าแก่ตู่บ้านคู่เมืองน่านอายุกว่า 600 ปี องค์พระเจดีย์บุด้วยทองเหลือง มองดูเหลืองอร่ามดุจทองคำ ถูกจัดสร้างขึ้นมาเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ งดงามจัดเป็นโบราณสถานของชาติแห่งหนึ่ง เจดีย์มีฐานบริเวณกว้าง พุทธศาสนิกชนเดินเวียนทักษิณาวัตรได้สะดวก ภายในวิหารที่อยู่ติดกับเจดีย์ทางด้านทิศใต้ของเจดีย์ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารศรีวิชัย ศิลปะล้านนาที่งดงามเป็นพระพุทธรูปคื่บ้านคู่เมืองน่านมายาวนานภายนอกกำแพงแก้วของพระมหาเจดีย์พระธาตุแช่แห้ง มีวิการพระพุทธไสยาสน์สีทองเหลืองอร่ามด้านหน้าวัดมีพระเจดีย์สีขาวชื่อว่าพระมหาเจดีย์ชเวดากอง มีม้าอัสดรเป็นม้ามหามงคล ยืนอารักขาพระเจดีย์อย่างสง่างามวัดพระธาตุแช่แห้งอยู่บนถนนเส้นทางหลวงมหมายเลข 1168 ถ้าวัดภูมินทร์เป็นศูนย์กลาง ออกจากวัดภูมินทร์ไปทางทิศตะวันออกราว 2.7 กิโลเมตรเท่านั้นครับพิกัด : วัดพระธาตุแช่แห้งวัดภูเก็ตวัดสุดท้ายที่จะพรไปนมัสการสักการะขอพรคือวัดภูเก็ต เมื่อก่อนมีความสงสัยเกี่ยวกับชื่อวัดมาก ทำไมวัดตั้งอยู่ในจัวหวัดน่านแท้ๆ แต่ชื่อวัภภูเก็ต ไปถึงวัดถึงได้ร้องอ๋อ ได้รับทราบเรื่องราวจากพระเดชพระคุณพระอาจารย์ในวัด (ลืมสอบถามชื่อท่านกราบขออภัยด้วยครับ)วัดภูเก็ตตั้งตามชื่อหมู่บ้านคือ หมู่บ้านเก็ต ในอำเภอปัว จังหวัดน่าน ที่ตั้งของวัดอยู่บนเนินเขา ทางเหนือที่บนเนินเขาเรียกกันว่า ดอย หรือ ภู ดังนั้นจังเรียกวัดนี้ว่าวัดภูเก็ต ตามลักษณะภูมิทัศน์ของวัดครับ ด้านหลังของวัดติดกับทุ่งนา ตัววัดอยู่บนเขาที่ตัดเป็นหน้าผาด้านหลัง มีแม่น้ำเล็กๆที่เกิดจากลำธารใต้ดิน มีบริเวณลานเดินเล่นมีร้านค้าผลิตผลการเกษตร และผลิตภัณฑ์พื้นเมืองอยู่ด้านล่าง ทางวัดได้ทำท่อยาวจากลานวัดด้านบนลงสู่แม่น้ำเพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธา ได้ทำบุญให้อาหารปลาทางท่อยาวนี้ โดยไม่ต้องลงไปด้านล่างรูปทรงของโบสถ์วัดภูเก็ตเป็นแบบศิลปะล้านนาคล้ายวัดอื่นทั่วไป แต่มีความแตกต่างเรื่องการตกแต่งผนังโบสถ์ด้านนอกด้วยสีที่สดใสแทรกโทนสีหลักแดงเข้มและทอง ภายในก็เช่นกัน ภาพเขียนผนังมีความแตกต่างจากวัดอื่นๆ เป็นสีสดใส มีความเหมือนจริงมีมิติ ขณะที่สัดอื่นๆเป็นจิตรกรรมฝาผนังแบบโบราณพิกัด : วัดภูเก็ตภาพทั้งหมด โดยผู้เขียนชายสามโบสถ์เขียนเล่าประสบการณ์ เน้นภาพสวยๆ แนะนำมุมกล้องงามๆ พร้อม เวลาที่เหมาะสมในการถ่ายภาพ สอดแทรกความเข้าใจ ความรู้ทางด้านศิลปะ ตามสไตล์ครับ คอยติดตามผลงานเขียนต่อไปได้นะครับอยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !