ประวัติลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง ประเพณีจังหวัดตาก ลอยกระทง 2564 ริมฝั่งแม่น้ำปิง

ประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง เป็นหนึ่งในงานลอยกระทงประจำท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของจังหวัดตาก และปฎิบัติสืบเนื่องกันมาอย่างยาวนาน ภาพของกระทงที่ไหลตามแม่น้ำยาวเป็นสายอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับแสงไฟระยิบระยับสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวเสมอเป็นประจำทุกปี เรามาทำความรู้จักกับที่มาของประเพณีกันดีกว่า ว่ามีเอกลักษณ์ และความพิเศษที่แตกต่างจากงานลองกระทงที่อื่นอย่างไรบ้าง
yaipearn / Shutterstock.com
ตำนาน ประวัติงานประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง จังหวัดตาก
yaipearn / Shutterstock.com
มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ในอดีตกาลมีสามเณรที่ชอบเที่ยวเล่นซุกซนอยู่รูปหนึ่ง มีนิสัยชอบล่าสัตว์ ยิงนก ตกปลาเป็นประจำ วันหนึ่งเณรน้อยได้ยิงไก่ วัว เต่า และพญานาคตาย แล้วเกิดสำนึกในบาปที่ตนได้กระทำมาตลอด จึงได้อธิษฐานกับพวกไก่ วัว เต่า และพญานาค นั้นว่า ถ้าได้เกิดมาในชาติหน้าขอให้เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน
ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา มีต้นไทรอยู่ต้นหนึ่งเป็นที่อาศัยของกาเผือกสองตัวผัวเมีย ซึ่งได้ออกไข่มา 5 ฟอง อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่กาเผือกสองตัวผัวเมียออกเที่ยวหาอาหารอยู่นั้น ท้องฟ้ามืดครึ้ม มีลมพัดแรง ได้พัดเอาไข่ทั้ง 5 ฟองตกลงในแม่น้ำ แล้วลอยไปติดชายหาดแห่งหนึ่ง และไข่ทั้งหมดก็แตกออกมาเป็นเด็กทารกทั้ง 5 ได้แก่ เณรน้อย ไก่ เต่า วัว และพญานาคที่มาเกิดนั้นเอง ทารกทั้ง 5 คน ก็พากันตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าตนทั้ง 5 เป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ก็ขอให้มีโอกาสพบพ่อแม่ด้วยเถิด
ส่วนกาเผือกสองตัวผัวเมีย เมื่อตายลงไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ จึงมาเข้าฝันทารกทั้ง 5 ว่า "หากเจ้าทั้งหมดอยากพบหน้า และระลึกถึงพ่อแม่ ก็จงฟั่นด้ายเป็น รูปตีนกา แล้วลอยแม่น้ำคงคาไป" ต่อมาทารกทั้ง 5 ก็ได้สำเร็จอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ด้วยเหตุนี้การลอยกระทงสายทุกครั้ง จึงมีการฟั่นด้ายเป็นรูปตีนกา เพื่อบูชาแม่กาเผือกของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ซึ่งเป็นงานประเพณีการลอยกระทงสายของจังหวัดตากไหลประทีป 1,000 ดวง สืบมาจนถึงปัจจุบัน
งานประเพณีลอยกระทงสาย ประเพณีสำคัญจังหวัดตาก
ด้วยความที่ชาวเมืองตากอาศัยอยู่ริมแม่น้ำปิงกันมาอย่างยาวนาน วิถีชีวิตจึงมีความผูกพันกับสายน้ำค่อนข้างมาก งานประเพณีลอยกระทงสายจึงถือเป็นงานสำคัญที่ชาวเมืองตากจะได้แสดงความเคารพต่อสายน้ำ สร้างจิตสำนึก และความหวงแหนแม่น้ำให้ลูกหลาน และยังเป็นความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในหมู่บ้านด้วย
ส่วนที่แตกต่างจากงานลอยกระทงที่อื่น ก็คือ ส่วนประกอบของกระทงจะมีการนำ กะลามะพร้าว มาใช้เป็นส่วนใหญ่ เพราะชาวเมืองตาก มีการนำเอามะพร้าวมาแปรรูปเพื่อทำเมี่ยง ทำให้ส่วนกะลามะพร้าวจะถูกเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก งานลอยกระทงจึงเป็นการนำกะลามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่นั่นเอง
เมื่อถึงวันลอยกระทง (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินทางจันทรคติ) ชาวเมืองตากก็จะนำกระทงกะลามาขัดจนสะอาด ตกแต่งลวดลายสวยงาม ภายในกะลาใส่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็น รูปตีนกา ไว้ด้วยตามตำนานเรื่องพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ นั่นเอง แล้วนำไปลอยในแม่น้ำปิง ประกอบกับแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านจังหวัดตากจะเกิดสันทรายใต้น้ำ ทำให้เกิดเป็นร่องน้ำที่สวยงามเป็นธรรมชาติ เมื่อกระทงกะลาไหลไปตามร่องน้ำจะทำให้ดูเป็นสายอย่างต่อเนื่องจนสุดสายตา ส่องแสงระยิบระยับเต็มท้องน้ำ
ประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง ประจำปี 2564
สำหรับงานในปีนี้ จัดขึ้นวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2564 ณ ริมสายธารร้านกระทงสาย เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อำเภอเมือง จังหวัดตาก โดยให้จัดกิจกรรมไม่เกินเวลา 22.00 น. แบบ New Normal วิถีใหม่ปลอดภัยจากโควิด โดยมีกำหนดจัดกิจกรรม ดังนี้
18-19 พฤศจิกายน 2564
16.00 น. ลานภูมิปัญญากระทงสาย / การจำหน่ายกระทงกะลา ณ ด้านเหนืออาคารกิตติคุณ จำหน่ายกระทงของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองตาก
19.00 น. - พิธีขอขมาพระแม่คงคา ณ เวทีกลางน้ำปิง
- การแสดงสื่อผสม (มัลติมีเดีย) ณ เวทีกลางน้ำปิง
- การลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง จำนวน 1 สายต่อวัน ณ เวทีกลางน้ำปิง
- เสร็จพิธี
จุดคัดกรอง โควิด-19 จำนวน 6 จุด
จุดที่ 1 ท่าลอยกระทง
จุดที่ 2 สี่แยกซุ้ม อบจ.ตาก (เหนือวัดพร้าว)
จุดที่ 3 ทางลงลานกระทงสาย
จุดที่ 4 ด้านข้างสนามเด็กเล่น
จุดที่ 5 สามแยกอุดมการค้า
จุดที่ 6 สะพานแขวนฝั่งป่ามะม่วง
====================
อ้างอิง
ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<