จังหวัดสุรินทร์ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นช้างใหญ่ เนื่องจากชนพื้นเมืองกลุ่มแรกที่มาตั้งหลักแหล่ง เป็นชาวกูยหรือกวยที่อพยพมาจากตอนเหนือของเมืองกำปงธม ประเทศกัมพูชา มีความสามารถในการจับช้างป่ามาเลี้ยง ไม่ใช่เพื่อการค้าแต่เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะในตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ มีหมู่บ้านเลี้ยงช้างถึง 2 แห่ง คือ บ้านตากลางซึ่งเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก และหมู่บ้านคนเลี้ยงช้างบ้านหนองบัว ชุมชนทั้งสองมีความรักและผูกพันกับช้างเป็นอย่างมาก เมื่อช้างตายก็มีการฝังในพื้นที่ต่าง ๆ จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2550 วัดป่าอาเจียงซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองบัวได้จัดทำโครงการสุสานช้าง และร่วมมือกับชาวบ้านขุดกระดูกช้างที่ฝังอยู่ตามที่ต่าง ๆ นำมาฝังไว้ที่ "สุสานช้าง" ภายในบริเวณวัด โดยต้นเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งผู้เขียนไปเยี่ยมชม มีช้างฝังอยู่ประมาณ 130 เชือก จัดแสดงหลุมฝังช้าง เมื่อช้างตายจะนำมาฝังทั้งตัว และอีก 5 ปี จึงมาขุดเอากระดูกไปฝังที่สุสานช้าง สุสานช้างมีการฝังกระดูกช้างเรียงกันอย่างมีระเบียบ แต่ละหลุมจะมีปูนปั้นรูปทรงคล้ายหมวกนักรบโบราณวางอยู่ด้านบน แต่ละหลุมจะมีชื่อช้างที่ตายกำกับไว้ นอกจากสุสานช้างแล้ว ภายในบริเวณวัดมีพิพิธภัณฑ์รวบรวมความรู้เกี่ยวกับชาวกูยและช้าง รวมทั้งมีการสาธิตการทอผ้าไหมชาวกูย ตลอดจนมีสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่เป็นรูปช้าง ศาลาเอราวัณ ชั้นล่างสุดมีลักษณะเป็นถ้ำทางเดินวกวน เป็นที่เก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ในอดีตของชาวกูยและสิ่งสักการะตามความเชื่อของศาสนาต่าง ๆ ชั้น 2 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนชั้นอื่น ๆ อยู่ระหว่างการตกแต่งด้านใน รูปปั้นช้างสามเศียร อาคารเก็บโครงกระดูกช้าง ผ่านไปอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อย่าลืมแวะไปชมความงดงามของสุสานช้างที่มีแห่งเดียวในโลกและประติมากรรมช้างที่วัดป่าอาเจียง รวมทั้งเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตระหว่างคนกับช้าง แล้วจะทำให้คุณรู้สึกรักช้างมากยิ่งขึ้น (ภาพประกอบทั้งหมดโดยผู้เขียน "ชีพจรลงเท้า")