ทริปนี้เราจะพาทุกท่านไปเยี่ยมเยือนภาคอีสานกัน จังหวัดนี้เป็นที่โด่งดังเรื่องบั้งไฟพญานาคมาก โดยเฉพาะในเดือนสิบเอ็ดจะมีการจัดงานชมบั้งไฟพญานาคริมแม่น้ำโขงค่ะ พอจะนึกออกแล้วใช่ไหมคะว่าจังหวัดไหน ใช่แล้วค่ะ! จังหวัดหนองคายนั่นเอง เราไม่ได้จะพาไปดูบั้งไฟพญานาคนะคะ แต่จะพาไปเรียนรู้วิถีชีวิตคนในชุมชนวังน้ำมอกกัน ว่าแล้วก็ไปกันเลยค่ะชุมชนวังน้ำมอก ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ความพิเศษของที่นี่ คือจะมีกลิ่นอายของความเป็นล้านนาแบบเชียงใหม่ ซึ่งสะท้อนผ่านศิลปะวัตถุต่าง ๆ และยังคงมีความเป็นล้านช้างอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีประจำถิ่นด้วยผู้เขียนเองก็สงสัยนะคะ ว่าทำไมถึงเป็นล้านนาผสมกับล้านช้าง ทั้ง ๆ ที่ในอดีตสองอาณาจักรนี้แยกกันอย่างสิ้นเชิงเลย แต่ก็ได้ข้อมูลจากชาวบ้านในชุมชนค่ะ ว่าเดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ในอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งมีชาวล้านช้างอาศัยอยู่ ต่อมาได้มีการอพยพของชาวล้านนาเชียงใหม่มายังพื้นที่นี้ จึงทำให้เกิดการผสมผสานวัฒนธรรม และเป็นเหตุผลให้อำเภอนี้มีชื่อว่าศรีเชียงใหม่ค่ะ แอบบอกว่าที่จริงแล้วชุมชนนี้ไม่ได้ชื่อว่าชุมชนวังน้ำมอกหรอกนะคะ แต่ชื่อว่าชุมชนวังน้ำหมอก ด้วยสำเนียงของชาวบ้าน ทำให้ตอนจดทะเบียนชื่อหมู่บ้านเสียงเพี้ยนมาเป็นคำว่ามอก จากวังน้ำหมอกจึงกลายมาเป็นวังน้ำมอกนั่นเอง และส่วนที่ชื่อน้ำหมอก เพราะที่นี่ในช่วงเช้าจะมีหมอกลงบนน้ำตกลำธารทั่วบริเวณ จึงเรียกกันว่าวังน้ำหมอกนั่นเองค่ะตอนที่มาถึง พี่ป้าน้าอาต่างก็ต้อนรับเราอย่างน่ารักและอบอุ่นมาก พร้อมเตรียมกิจกรรมไว้ให้เราทำด้วยละค่ะ! ปกติแล้วเมื่อเรามาถึงชุมชนในแถบอีสานหรือเหนือ จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญใช่ไหมล่ะคะ แต่ที่นี่ต่างออกไปค่ะ เพราะคุณป้าคุณยายจะพาเรามาทำขันคู่ปีกันก่อน ซึ่งเป็นการทำบุญเพื่อต่อดวงชะตาของเรา โดยชาวบ้านก็เตรียมอุปกรณ์ไว้ให้เรา และเตรียมขันหมากเบ็งไว้ให้ด้วย ขั้นตอนคือเราจะนำใบตองและดอกไม้มาทำเป็นกรวยดอกไม้ในจำนวนที่มากกว่าอายุเรา 1 ปีค่ะ เช่น ถ้าเราอายุ 24 ปี ต้องทำคู่ปี 25 กรวย มีธูปเทียนและดอกไม้ต่าง ๆ ตามที่เราชอบเลย และที่สำคัญ คือดอกไม้แต่ละดอกมีความหมายด้วยนะคะ อย่างเช่นดอกกล้วยไม้ หมายถึง ความดีคงทน, ดอกเข็ม หมายถึง ความฉลาดเฉียบแหลมค่ะ เมื่อทำเสร็จแล้วก็นำมาเสียบไว้ที่ขันหมากเบ็ง และหลังจากทำครบแล้ว จะนำไปถวายแด่ “พระเจ้าล้านทอง” ที่วัดเทสรังสี พระสงฆ์ก็จะทำพิธีให้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงกลับไปที่ชุมชนค่ะ พอกลับมาถึง เหล่าคุณน้าคุณป้าก็ไม่ให้เราเสียเวลาค่ะ นำโคมไฟแลง ซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของที่นี่มานั่งทำให้เราดูเสียเลย ดูเผิน ๆ แล้วก็ดูคล้ายโคมล้านนา แต่ดูไปดูมาเหมือนมีความเป็นล้านช้าง จึงทำให้ผู้เขียนพอจะเข้าใจคอนเซ็ปต์การผสมวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมล้านนาและวัฒนธรรมล้านช้างขึ้นมาบ้างแล้วละค่ะ ที่จริงคุณป้าคุณน้าได้ให้เราได้ลองทำด้วย บอกเลยขั้นตอนการทำเนี่ยนอกจากไม่ง่ายแล้วยัง ค่อนข้างไปทางยากอีกด้วย ถือว่าชาวบ้านเก่งกันมาก ๆ เพราะ 1 โคมเนี่ยใช้เวลาถึง 3-7 วันเลย ถึงจะเสร็จออกมาเป็นโคมแบบในภาพหลังจากนั้น ชาวบ้านก็พาเราไปเก็บผัก ไข่ และดอกแค เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหารเย็นของเรา ซึ่งทุกอย่างสามารถเดินเก็บมาจากในหมู่บ้านได้เลย เดินไป เก็บไป เพลินมาก เป็นหมู่บ้านที่มีพร้อมแทบจะทุกอย่าง แบบไม่ต้องไปตลาดเลยละ เก็บเสร็จเรียบร้อย ได้เวลานำมาปรุงค่ะ แน่นอนว่าเราได้ลงมือทำด้วยตัวเองด้วยละ! แม้ว่าเมนูที่เราทำจะเป็นเมนูท้องถิ่นที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาค่ะ เพราะชาวบ้านจะคอยสอนและแนะนำเราอยู่ข้าง ๆ ไปทีละขั้นตอน ชนิดที่จำสูตรไว้ทำที่บ้านได้เลยเมนูวันนี้ที่ผู้เขียนได้ลองทำและอยากจะแนะนำ คือเมนูไก่บั้ง และอั่วปลาดอกแคค่ะ โดยไก่บั้งจะเป็นไก่ชิ้นหมักกับเครื่องปรุงและสมุนไพร จากนั้นจึงนำมาใส่บั้ง หรือกระบอกไม้ไผ่แล้วก็นำไปย่าง ถามว่าทำไมต้องใช้กระบอกไม้ไผ่ นั่นก็เพราะเมื่อก่อนไม่มีภาชนะอย่างตะแกรงย่าง ชาวบ้านจึงนำวัสดุที่หาได้ตามธรรมชาติ นั่นก็คือไม้ไผ่มาเป็นภาชนะในการประกอบอาหารแทนนั่นเองค่ะส่วนอีกเมนูอั่วปลาดอกแค คือการนำเนื้อปลาที่หมักเครื่องปรุงต่าง ๆ และสมุนไพรนำมายัดใส่ในดอกแคแล้วก็นำไปนึ่ง บอกเลยว่าเมนูเหล่านี้อร่อยมาก หารสชาตินี้ไม่ได้จากที่ไหนแน่นอน หลังจากทำเสร็จก็ตักใส่ชาม และวางชามอาหารไว้บนกะโตกค่ะ งงใช่ไหมล่ะคะว่ากะโตกคืออะไร หากดูจากในภาพแล้วเหมือนขันโตกเลยใช่ไหมล่ะ ใช่แล้วค่ะ กะโตกก็คือขันโตกนั่นเอง แต่ชาวอีสานเขาจะเรียกกันว่ากะโตก อาหารหน้าตาน่ากินและกลิ่นหอมยั่วมาก จนอยากจะยกมือจกข้าวเหนียวเดี๋ยวนั้นเลย แต่ก็ถูกคุณป้าเบรกไว้ก่อน ว่าเรายังไม่ได้ทำพิธีสู่ขวัญกันเลยนะ นั่นเลยทำให้ผู้เขียนนึกขึ้นมาได้ว่าการบายศรีสู่ขวัญนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ และขาดไม่ได้สำหรับชาวบ้านในแถบภาคอีสานและภาคเหนือเลย เพราะเหมือนเป็นการต้อนรับ ทำให้แขกผู้มาใหม่อย่างเรารู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยค่ะก็เลยต้องจำยอมละมือจากข้าวเหนียว แล้วไปเปลี่ยนชุด ซึ่งเป็นชุดพื้นบ้านที่ทางชุมชนเตรียมไว้ให้ เพื่อเข้าพิธี โดยจะมีผู้เฒ่าผู้ใหญ่ของชุมชนมาทำพิธีบายศรีสู่ขวัญต้อนรับ ด้วยการอวยพรพร้อมผูกข้อมือให้กับเราหลังจากเสร็จพิธีก็จะมานั่งล้อมวงกินข้าวกัน เป็นบรรยากาศที่ผู้เขียนชื่นชอบมาก ๆ เลยละค่ะ ชาวบ้านก็เล่าเรื่องราวของชุมชน พูดคุยกันสนุกสนาน เป็นชีวิตที่สโลว์ไลฟ์ และหลังจากนี้เราก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน เก็บแรงเพื่อเดินทางต่อพรุ่งนี้ยามเช้าชาวบ้านพาเราไปตักบาตรข้าวเหนียวกัน เพื่อเป็นการเริ่มต้นวันใหม่ที่ดี หลังจากนั้นก็กลับมาเก็บของ กินอาหารเช้ากันก่อนออกเดินทางตอนนี้ก็ได้เดินทางมายังสถานที่ที่จะทำให้เราได้เห็นวิวแม่น้ำโขงสองดินแดนเลยทีเดียว นั่นก็คือ วัดผาตากเสื้อค่ะ ก่อนจะไปชมวิวกัน ผู้เขียนขอกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดแห่งนี้เพื่อเป็นสิริมงคลกันก่อนกลับกรุงเทพฯ นะคะ วัดผาตากเสื้อ ยังมีจุดชมวิวที่ทำให้นักท่องเที่ยวมาแบบไม่ขาดสาย ตรงนั้นก็คือ Skywalk ที่ริมผา ซึ่งเป็นรูปวงกลม ทางเดินเป็นกระจกใสที่จะทำให้เราได้เห็นวิวทั้งด้านบนและด้านล่าง (ใครที่กลัวความสูง แนะนำอย่ามองลงไปนะคะ) และหากมาช่วงเช้า ๆ จะเห็นทะเลหมอกฟุ้ง ๆ สวยมากหลังจากถ่ายรูปกันเสร็จ ผู้เขียนก็ตรงกลับกรุงเทพฯ เลย เรียกได้ว่า 2 วัน 1 คืนนี้ มีความสุขมาก ๆ ค่ะ ถึงจะเสียดายที่ไม่ได้แวะเที่ยวมากกว่านี้ แต่ก็รู้สึกว่าคุ้มแล้วที่ได้มาที่บ้านวังน้ำมอก ชุมชนนี้ไม่ใช่แค่ชุมชนท่องเที่ยว แต่ทุกคนน่ารักมาก ๆ ตอนที่ได้อยู่ที่นั่น เราไม่รู้สึกแปลกที่แปลกทางเลย เพราะทุกคนทำให้เรารู้สึกเหมือนครอบครัว ที่สำคัญ บรรยากาศดี และอาหารอร่อยมาก!และสำหรับใครที่กำลังมีแผนเที่ยวภาคอีสาน ผู้เขียนขอแนะนำหนองคายเลยค่ะ โดยเฉพาะลูกค้าทรู หากมาที่นี่แล้วไม่รู้จะไปพักที่ไหน ก็ลองไปพักที่โรงแรมวานา เวลเนส รีสอร์ท หนองคายนะคะ เขามีส่วนลด 50% สำหรับห้องพักทุกประเภท จากราคา Rack Rate พร้อมอาหารเช้าสำหรับ 2 ท่าน คลิกเลย !ภาพถ่ายทุกภาพนักเขียนเป็นผู้ถ่ายเอง วันลาเหลือใช่ไหม อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !*STAR COVER"อย่ามัวแต่ดูมาดังกัน"*ทรูไอดีคอมมูนิตี้ ขอชวนทุกคนมาสนุกโคฟเวอร์ พร้อมลุ้นรับเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 7,000 บาท (5 รางวัล) โคฟคนที่ใช่ ไลก์คนที่ชอบ 'ร่วมสนุกได้ที่ ทรูไอดีคอมมูนิตี้ ห้อง cover บนแอปทรูไอดี'คลิกเลย >> https://ttid.co/UAnK/7y9jfqkqอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >> https://bit.ly/3O1cmUQร่วมสนุกตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2565 - วันที่ 11 สิงหาคม 2565