รีเซต

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองปัตตานี ขอพรรับความสำเร็จ

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองปัตตานี ขอพรรับความสำเร็จ
Muzika
2 กุมภาพันธ์ 2564 ( 14:00 )
33.5K

     ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง เป็นศาลศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่เมืองปัตตานีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวบ้านต่างให้ความเคารพนับถือ เดินทางมาสักการะบูชาเพื่อขอให้ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ หรือแม้แต่มีเรื่องเดือดร้อนก็ไปบนบานให้เจ้าแม่ช่วยเหลือ ซึ่งก็ได้สมดังหวังกันไปหลายราย เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และศูนย์รวมศรัทธาเสมอมา

 

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ปัตตานี

wiblackangel / Shutterstock.com

 

เรื่องราว ประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

 

     เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้นกำเนิดในครอบครัวตระกูลลิ้ม สมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์เหม็ง ราวๆ พ.ศ. 2065 - 2109 อาศัยอยู่ ณ มณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน โดยมีพี่ชายชื่อ "ลิ้มโต๊ะเคี่ยม" ทั้งสองมีความสนิทสนมสามัคคีกันตั้งแต่เด็ก จนโตขึ้นพี่ชายก็ได้เข้ารับราชการ ซึ่งขณะนั้นมีโจรสลัดญี่ปุ่นคอยบุกปล้น และเข้าตีเมืองตามชายฝั่งของจีน ลิ้มโต๊ะเคี่ยม จึงสร้างผลงานจากการออกขับไล่ ปราบปรามเหล่าโจรรสลัดจนเป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั่วไป

     กระทั่งวันหนึ่ง ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ก็ถูกขุนนางกังฉินใส่ร้ายว่าสบคบคิดกับโจรสลัด จนถูกทางการออกประกาศจับ จึงจำต้องฝ่าวงล้อมของทหารหลวง หนีออกทะเลไปยังเกาะไต้หวัน และอาศัยใช้ชีวิตด้วยการเป็นพ่อค้า ออกเดินทางค้าขายทางทะเล บ้างก็ว่าระหว่างนี้ทางทัพหลวงจีนยังคงติดตามโจมตีลิ้มโต๊ะเคี่ยมอยู่เป็นระยะ ลัดเลาะมาเรื่อยๆ ถึงเกาะลูซอน (ฟิลิปปินส์) มาถึงเวียดนาม และสุดท้ายก็มาตั้งรกรากที่เมืองปัตตานี ประเทศไทย

     ผ่านไปเนิ่นนานหลายปี มารดาของลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งอยู่ที่ประเทศจีน และไม่ได้เจอหน้าลูกชายมานาน ไม่ทราบเป็นตายร้ายดีอย่างไรจนเกิดความกังวลใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ลิ้มกอเหนี่ยวจึงอาสาออกตามหาพี่ชายด้วยความสงสารมารดาที่ชราภาพมากแล้ว โดยลั่นวาจาไว้ว่า "หากตามพี่ชายกลับไปหามารดาไม่ได้ จะไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อไป"

     ลิ้มกอเหนี่ยวกับญาติๆ นำเรือออกทะเลเป็นเวลาหลายเดือน โดยใช้เรือสำเภาออกติดตามมาจนถึงประเทศไทยโดยแวะที่ท่าเรือเมืองนครศรีธรรมราชเป็นแห่งแรก และได้สืบหาพี่ชายเรื่อยลงมาทางใต้ กระทั่งเข้าเขตเมืองปัตตานี ก็ได้จอดเรือทอดสมอไว้ริมฝั่ง ลงมาไถ่ถามจากชาวเมืองปัตตานีจนได้ความว่าพี่ชายยังมีชีวิตอยู่ และอาศัยอยู่ที่นี่โดยได้ดิบได้ดี แต่งงานอยู่กับลูกสาวเจ้าเมืองโดยเข้ารีตตามหลักของศาสนาอิสลาม

 

Anirut Thailand / Shutterstock.com

 

     ลิ้มกอเหนี่ยวจึงอาศัยอยู่ที่นี่อีกเป็นเวลาหลายเดือน โดยพยายามเกลี้ยกล่อมพี่ชายให้กลับบ้านไปเยี่ยมมารดาอยู่เป็นระยะ วาดหวังให้พี่ชายยอมใจอ่อน และตามกลับไปในสักวัน แต่ด้วยลิ้มโต๊ะเคี่ยมนั้นยังติดว่าเป็นนักโทษหลบหนีของทางการจีนอยู่ การจะกลับไปโดยง่ายนั้นหาไม่ อีกทั้งยังติดภารกิจสำคัญคืองานก่อสร้างมัสยิดที่ได้รับปากกับทางเจ้าเมืองไว้

     แม้จะพยายามโน้มน้าว อ้อนวอนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ลิ้มกอเหนี่ยวจึงทั้งโกรธทั้งน้อยใจที่พี่ชายอุทิศกาย และใจให้กับงานสร้างมัสยิดอย่างเต็มที่ จึงได้สาบแช่งไว้ว่า "แม้พี่จะมีความสามารถในการก่อสร้างเพียงใดก็ตาม แต่ขอให้สร้างมัสยิดนี้ไม่สำเร็จ" และปลิดชีวิตตนเองลงโดยการผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ข้างมัสยิดที่กำลังก่อสร้างนั้นนั่นเอง

     ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเมื่อสูญเสียน้องสาวก็เสียใจมาก จึงจัดการศพตามประเพณีอย่างสมเกียรติ พร้อมกับสร้างฮวงซุ้ยขึ้นที่ "หมู่บ้านกรือเซะ" (ปัจจุบันมีการบูรณะเฉพาะฮวงซุ้ยของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวให้เห็นปรากฏอยู่จนทุกวันนี้) จากนั้นจึงดำเนินการก่อสร้างมัสยิดที่สร้างค้างไว้ต่อไป

     แต่ทุกครั้งที่สร้างจวนจะเสร็จ ส่วนยอดโดมจะถูกฟ้าผ่าฟาดลงจนพังทลาย ลิ้มโต๊ะเคี่ยมพยายามสร้างต่ออีก 3 ครั้ง ผลก็ยังเหมือนเดิม จึงยอมแพ้ในที่สุด แม้แต่เจ้าเมืองกรือเซะเองก็บังเกิดความกลัวในอภินิหารตามคำสาปแช่ง จนไม่มีใครกล้าสร้างต่อจนถึงทุกวันนี้ (ปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ไว้แล้ว)

     จากนั้นเป็นต้นมา ลิ้มก่อเหนี่ยว ได้สำแดงความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเรือ และผู้สัญจรไปมาในแถบนั้น พอมีผู้มาขอพรให้โชคลาภก็ได้ผล หรือแม้แต่การค้าขายที่ซบเซาหรือขาดทุนก็กลับรุ่งเรืองขึ้น ใครเจ็บไข้ได้ป่วยหรือได้รับความเดือดร้อนประการใด เมื่อไปบนบานที่นั่นก็จะหายเจ็บหายป่วยพ้นจากความเดือดร้อน ชาวบ้านทั่วไปจึงขนานนามใหม่ว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ภายหลังมีชื่อว่า "ศาลเจ้าเล่งจูเกียง" (ศาลเทพเจ้าแห่งความเมตตา) นับแต่นั้นเป็นต้นมา

====================

 

ขั้นตอนการไหว้ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

 

Anirut Thailand / Shutterstock.com

 

  1. ซื้อชุดไหว้ มีธูปเทียนแลกระดาษสำหรับให้เราเผาในตอนไหว้เสร็จ
  2. ไหว้ฟ้าดินก่อนโดยใช้ธูป 7 ดอกและเทียน 2 เล่ม จะมีกระถางอันใหญ่อยู่หน้าศาล
  3. เริ่มไหว้ข้างในศาล โดยเริ่มจากไหว้พระจีน
  4. ไหว้โต๊ะที่ 3 ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
  5. ไหว้โต๊ะที่ 4 ซึ่งอยู่อีกฝั่งใกล้กับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
  6. เดินไปทางประตูขวา ไหว้รูปปั้นองค์เทพเจ้าต่างๆ จนครบ
  7. นำขวดน้ำมันไปเติมตามจุดต่างๆ จากนั้นนำกระดาษไปเผาในอุโมงค์ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม เพื่อเป็นการขจัดสิ่งไม่ดีออกไป
  8. กลับเข้ามาที่ศาลเพื่อตีระฆัง 3 ครั้ง

 

Anirut Thailand / Shutterstock.com

====================

 

ประเพณี ยืมเงินขวัญถุงกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

 

     เป็นความเชื่อท้องถิ่นว่าจะช่วยให้ทำมาค้าขึ้น โดยมีให้ยืมเริ่มต้นที่ 30 บาท 50 บาท 100 บาท ยืมไปเท่าไหร่หากทำมาค้าขาย หรือได้เงินมาให้นำมาคืนเป็นจำนวน 2 เท่าของที่ยืมไป เช่น ยืมไป 50 บาท ก็เอาเงินมาคืนหรือทำบุญ 100 บาท เป็นต้น

 

     ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว สามารถมาสักการะได้ทั้งปี แต่หากจะมาร่วมงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้น ต้องมาในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์นั่นเอง

====================