สโลว์ไลฟ์สักวัน ปั่นจักรยาน เที่ยวน่าน แบบเนิบๆ วันเดียวเที่ยวคุ้ม!
ขึ้นเหนือไป เที่ยวน่าน เมืองสุดสโลว์ไลฟ์ที่หลายๆ คนยกให้เป็นเมืองน่ารักโดนใจ เหมาะกับการไปพักผ่อน ใช้ชีวิตแบบช้าๆ เนิบๆ ซึ่งวันนี้เราจะไปปั่นจักรยานตระเวนเที่ยวทั่วเมืองน่านกันค่ะ ใครที่มีเวลาเที่ยวน้อย บอกเลยว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีเลย เพราะนอกจากจะได้ปั่นจักรยานแบบชิลล์ๆ แล้ว ยังได้เช็คอินแลนด์มาร์คเมืองน่านกันแบบครบถ้วนอีกด้วย
เที่ยวน่าน แบบเนิบๆ
🔺🔺🔺🔺🔺🔺🔺🔺🔺🔺🔺🔺
ก่อนอื่นเลยเราไปกันที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเทศบาลเมืองน่าน ซึ่งเป็นจุดสำคัญอยู่กลางตัวเมืองน่านเลย บริเวณถนนผากอง ตรงข้ามวัดภูมินทร์ ที่นี่มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก บริการข้อมูลข่าวสารท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวค่ะ แวะรับแผ่นพับ “เที่ยวเหนือ เที่ยวไหน เที่ยวไปถีบไป @แพร่ น่าน อุตรดิตถ์” ข้างในจะมีข้อมูลเส้นทางปั่นจักรยาน และช่องสำหรับปั๊มตราประทับ ซึ่งหากไปเที่ยวตามเส้นทางต่างๆ แล้วประทับตราจนครบ สามารถฉีกตรงส่วนนี้ เขียนชื่อ ที่อยู่ ส่งไปรษณีย์ไปที่ ททท.สำนักงานแพร่ แลกเป็นของที่ระลึกเก๋ๆ ได้ด้วยค่ะ
รับแผ่นพับและประทับตราดวงแรกที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวแล้ว ก่อนเราจะปั่นไปยังจุดที่ 2 ก็แวะเที่ยวกันแถวนี้ก่อนค่ะ เพราะใกล้ๆ กันมีที่เที่ยวที่ต้องห้ามพลาดด้วย เริ่มจากวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามศูนย์นี่เอง เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรมแบบภาคเหนือ ภายในวิหารมีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ลวดลายปูนปั้นนูนสูงมีความวิจิตร
นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย รอบเจดีย์มีรูปปั้นช้างปูนปั้นครึ่งตัวประดับอยู่ ภายในยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ควรค่าแก่การไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล
จากนั้นเราข้ามถนนไปอีกฝั่งยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เช็คอินที่ซุ้มลีลาวดีซึ่งปลูกเรียงรายไว้ ต้นลีลาวดีสูงใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขามองดูสวยงาม เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คที่ต้องแวะถ่ายรูปกันค่ะ
ภายในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านยังมีโบราณสถานวัดน้อย เป็นวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทย จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาเชื่อว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63 กราบบังคมทูลถึงจันวนวัดในเมืองน่าน ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจองเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่ปรากฏว่านับจำนวนเกินไปหนึ่งวัด จึงได้สร้างวัดน้อยแห่งนี้ขึ้นมาให้ครบตามจำนวนที่กราบบังคมทูลไป รูปทรงของวัดเป็นวิหารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 1.98 เมตร ยาว 2.34 เมตร สูง 3.35 เมตร แบบศิลปะล้านนา สกุลช่างน่าน มีพระพุทธรูปและแผงพระพิมพ์ไม้ประดิษฐานอยู่ภายใน
ข้ามกันไปที่ข่วงเมืองน่าน เป็นลานกว้างของเมืองสมัยโบราณใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีการต่างๆ ของเจ้านครน่านและประชาชนทั่วไป บางครั้งก็ใช้เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้า
ติดกับข่วงนั้นคือ วัดภูมินทร์ สัญลักษณ์เมืองน่าน มีความงดงามและเป็นเอกลักษณ์ เพราะเป็นวัดเพียงหนึ่งเดียวที่สร้างทรงจตุรมุข ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่สีทองอร่าม จำนวน 4 องค์ หันออกด้านประตูทั้ง 4 ทิศ
จุดเด่นของวัดอีกประการที่ห้ามพลาด คือภาพจิตกรรมฝาผนังปู่ม่านย่าม่าน หรือกระซิบรักบันลือโลก ฝีมือของหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ภาพนี้เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่งดงามทรงคุณค่า มีความสมบูรณ์ด้านองค์ประกอบและอารมณ์ ไปชมกันแล้วอย่าลืมแชะภาพท่ากระซิบรักกันด้วยนะคะ คลิกอ่าน-กระซิบรัก ณ เมืองน่าน ชมความงามวัดภูมินทร์ จิตรกรรมฝาผนังปู่ม่านย่าม่าน)
เช็คอินกันครบแล้ว แวะพักดื่มอะไรเย็นๆ กันสักหน่อย ที่ร้านชา Tea phanaa หน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
จากนั้นปั่นกันยาวๆ ไปยังจุดที่ 2 คือ โฮงเจ้าฟองคำ เป็นบ้านของเจ้าล้านนาไทยฝ่ายเหนือ ซึ่งยังคงสภาพอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี นอกจากการชมตัวบ้านซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตคนเมืองน่านสมัยก่อนแล้ว ที่นี่ยังเปิดให้เรียนรู้เรื่องการทอผ้าพื้นเมืองอีกด้วย สอนตั้งแต่การปั่นด้าย การทอด้วยวิธีพื้นบ้านซึ่งต้องใช้ความอดทนและประณีตสูง กว่าจะได้มาเป็นผืนผ้าทอที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ (คลิกอ่าน-เที่ยวน่าน ชมโฮงเจ้าฟองคำ บ้านเจ้าล้านนาไทยยุคเก่า เรียนรู้การทอผ้าพื้นเมือง)
ประทับตราเรียบร้อยก็ปั่นกันต่อไปยังจุดที่ 3 คือ วัดน้ำล้อม เป็นวัดเก่าแก่ที่มีไม่ชัดว่าสร้างตั้งแต่เมื่อใด เดิมวัดตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ มีน้ำล้อมรอบ จึงเป็นที่มาของชื่อ “วัดน้ำล้อม” ภายในวัดมีวิหารแบบล้านนาซึ่งมีความงดงามมาก ภายในประดิษฐานหลวงพ่อโต นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปไม้ที่จัดแสดงพระพุทธรูปไม้เก่าแก่กว่า 200 องค์ และวัตถุโบราณต่างๆ ไว้อีกมากมาย
จังหวัดน่านนั้นประชากรส่วนใหญ่นักถือศาสนาพุทธ มีประเพณีการทำบุญสร้างพระพุทธรูปไม้ถวายวัด เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนามาเป็นเวลากว่า 350 ปี พระพุทธรูปไม้ในล้านนามักเรียกว่า “พระเจ้าไม้” นิยมใช้ไม้ที่ถือเป็นมงคลมาแกะสลักพระพุทธรูป เช่น ไม้โพธิ์ ไม้แก่นจันทน์ ไม้สะเดา และไม้ไผ่ แกะสลักตามพุทธลักษณ์ต่างๆ เช่ง ปางมารวิชัย ปางประทับยืน และปางไสยาสน์ ส่วนมากมักมีขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 2-5 นิ้ว ตกแต่งประดับประดาด้วยการปิดทองล่องชาด บนฐานที่จารึกอักษรล้านนา ระบุวัน เดือน ปี และคำปรารถนาของผู้สร้าง จังหวัดน่านถือว่ามีมรดกทางวัฒนธรรมประเภทพระพุทธรูปไม้มากที่สุดในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
ชมความงดงามของวัด สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลกันแล้ว ให้เจ้าอาวาสประทับตราดวงที่ 3 กันด้วยนะคะ เสร็จแล้วเราปั่นๆ ไปยังจุดสุดท้ายคือ ร้าน Mix Academic Café คาเฟ่สุดชิคบริเวณถนนเปรมประชาราษฎร์ หน้าร้านมีจอดจักรยานให้ด้วย ใครเป็นสายปั่นก็สะดวกเลย
ภายในร้านตกแต่งสไตล์ Loft ดูฮิปถ่ายรูปสวยทุกมุม เราสั่งเครื่องดื่มเย็นๆ และเค้กสีสันสดใสมาชิมกันสักหน่อย อร่อยใช้ได้เลย นอกจากร้านสวย ของกินอร่อยแล้ว ที่สำคัญคือเจ้าของร้านหล่อ (มาก) จนต้องบอกต่อ ใครไปเที่ยวน่านพลาดร้านนี้ไม่ได้เลยเชียว (คลิกอ่าน-Mix Academic & Café คาเฟ่สุดชิคที่ต้องแวะเช็คอิน เมื่อไปเที่ยวน่าน)
Mission Complete! เราตระเวนเที่ยวเมืองน่านและประทับตรากันครบ 4 จุด แล้ว ตั้งแต่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเทศบาลเมืองน่าน โฮงเจ้าฟองคำ วัดน้ำล้อม และร้านกาแฟ Mix Academic Café อย่าลืมนะคะว่าประทับตราครบทุกจุดแล้วสามารถนำไปแลกรับของที่ระลึกจาก ททท. ตั้งแต่วันนี้ไปจนกว่าของจะหมด สอบถามรายละเอียดกับทาง ททท.แพร่ได้เลย โทร. 054 521 127 หรือทางเฟสบุ๊ก Tat Phrae
ทริปนี้เรียกได้ว่าสนุกสุดชิลล์ แค่วันเดียวแต่เที่ยวคุ้มค่ามากๆ ใครมาเที่ยวน่านลองมาสโลว์ไลฟ์ตามเส้นทางนี้กันดูค่ะ