อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เป็นสถานที่ตั้งของ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” โบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่ในตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ (พิกัด https://goo.gl/maps/iDnL2um4wyTEVezv9) โดยถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนี้ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ซึ่งภายในอุทยานประวัติศาสตร์ จะมีกลุ่มปราสาทหินที่ยังคงสมบูรณ์อยู่มาก ทำให้เห็นถึงลักษณะและโครงสร้างต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ปราสาทหินพนมรุ้งนี้ มีรูปแบบศิลปะในการสร้างเป็นแบบเขมรโบราณ เป็นหนึ่งในปราสาทหินกลุ่มราชมรรคา สร้างขึ้นบนเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทไปแล้ว โดยเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ หนึ่งในเทพเจ้าสูงสุดของศาสนาพรามหณ์ - ฮินดู ในลัทธิไศวะนิกาย ซึ่งสถานที่ประทับของพระศิวะนั้นคือยอดเขาไกรลาส จึงสันนิษฐานว่า การสร้างปราสาทแห่งนี้บนเขาพนมรุ้ง ก็เปรียบเสมือนว่าเป็นที่ประทับของพระศิวะนั่นเอง เมื่อเดินเขามาภายในอุทยาน เราจะพบกับทางเดินและบันไดขึ้นไปยังตัวปราสาท ซึ่งแผนผังของสถานที่แห่งนี้ จะเป็นลักษณะของแนวเส้นตรงเข้าไปหาจุดศูนย์กลาง นั่นก็คือ ตัวปราสาทประธานด้านใน ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยในส่วนแรกที่เป็นทางเดินนี้ จะมีเสาตั้งเรียงอยู่ทั้งสองข้างตลอดเส้นทาง ซึ่งเรียกว่าเสานางเรียง ส่วนบนของเสามีลักษณะคล้ายกับดอกบัวตูม ส่วนถัดมาจากทางเดินคือ สะพานนาคราช เป็นพื้นที่ที่ยกพื้นสูงขึ้น มีราวสะพานซึ่งสร้างเป็นรูปปั้นพญานาค 5 เศียร หันหน้าออกไปทั้ง 4 ทาง และตรงจุดกึ่งกลางของสะพานจะมีภาพจำหลักรูปดอกบัว 8 กลีบอยู่ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นจุดที่ใช้ประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น การบูชา การตั้งจิตอธิษฐาน เป็นต้น ถัดจากสะพานดังกล่าว จะเป็นบันไดทางขึ้นไปยังปราสาท ซึ่งเป็นบันไดหินทราย ความสูงประมาณ 10 เมตร มีชั้นพักอยู่ 5 ชั้นด้วยกัน ขั้นบันไดมีลักษณะลดหลั่นกันลงมาเรื่อย ๆ จากตัวปราสาท ค่อนข้างสูงชัน ทำให้รู้สึกว่าปราสาทนั้นตั้งอยู่สูงเสียดฟ้า เนื่องจากว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง เมื่อขึ้นบันไดมาแล้ว จะเห็นลานด้านหน้าซุ้มประตูและระเบียงคด ซึ่งเป็นทางเข้าไปในพื้นที่ของปราสาท โดยระเบียงคดนี้จะมีลักษณะเป็นห้อง ๆ เรียงต่อกันไปเรื่อย ๆ เป็นแนวยาวล้อมรอบพื้นที่ของปราสาท แต่ละห้องไม่สามารถเดินทะลุไปหากันได้ เนื่องจากมีผนังกั้นอยู่ โดยจะมีซุ้มประตูอยู่กึ่งกลางของแต่ละด้านทุกด้าน ตรงด้านหน้าซุ้มประตูจะมีสะพานนาคราชอีก 1 ชั้น ซึ่งก็มีภาพจำหลักรูปดอกบัวอยู่กึ่งกลางเช่นเดียวกับชั้นที่ผ่านมา เข้ามาด้านในก็จะพบกับปราสาทประธาน ซึ่งเป็นปราสาทที่สำคัญที่สุด ที่ได้มีการนำไปทำเป็นสัญลักษณ์ของที่นี่ ตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของลานปราสาทด้านใน ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพูทั้งหมด ลักษณะของแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าทำเป็นมณฑป หน้าบันและทับหลังมีการแกะสลักลวดลายที่มีความปราณีตและงดงาม ทั้งยังมีการจำหลักภาพเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาฮินดู ตรงกึ่งกลางภายในจะเป็นห้องที่ประดิษฐานของรูปเคารพที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ศิวลึงค์ ซึ่งถือเป็นตัวแทนของพระศิวะ แต่ในปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว นอกจากนี้ ภายในบริเวณลานปราสาทยังมีปราสาทที่ก่อด้วยอิฐอีกสององค์ ปรางค์น้อย อาคารที่ก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งเป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา เรียกว่า บรรณาลัย ซึ่งได้มีการสร้างขึ้นในหลายยุคสมัย ไม่ได้สร้างขึ้นพร้อมกันทั้งหมด แต่ก็ล้วนเป็นศิลปะและสถาปัตยกรรมโบราณ ที่ล่ำค่าและหาชมได้ยากทั้งสิ้น เป็นที่ทราบกันดีว่า ในทุก ๆ ปี ระว่างวันที่ 3 - 5 เมษายน และวันที่ 8 - 10 กันยายน จะเป็นช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้น และส่องแสงลอดผ่านช่องประตูของปราสาททั้ง 15 ช่อง และในวันที่ 6 - 8 มีนาคม และวันที่ 6 - 8 ตุลาคม ก็เป็นช่วงที่พระอาทิตย์ตก และส่องแสงลอดผ่านประตูทั้ง 15 ช่องอีกเช่นกัน ในช่วงนั้นชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจะเดินขึ้นมาชมแสงของพระอาทิตย์ที่พาดผ่านช่องประตูนี้ และมีความเชื่อกันว่าเป็นแสงที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากส่องผ่านด้านในของปราสาทประธาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของรูปเคารพที่สำคัญ การได้ชมและรับแสงอาทิตย์นี้ จึงเป็นการเสริมสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว (ภาพประกอบทั้งหมดโดย : ผู้เขียน)