รถนอนสองชั้น คัน ( ไม่ ) น้อย ค่อย ๆ เคลื่อนออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกลางกรุงปักกิ่ง ลัดเลาะไปตามถนนลาดยางใหม่เอี่ยม เป็นระยะทาง 675 กิโลเมตร มุ่งหน้าสู่ปลายทาง ณ ชายแดนเมืองอีเรนฮอท ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของผู้โดยสารทั้งหมดนั่นเอง การเดินทางในครั้งนี้ กินระยะเวลายาวนานกว่า 9 ชั่วโมง แต่หญิงชราวัยใกล้เลข 7 อย่าง “ ป้านวล ” ก็ไม่มีอาการอ่อนล้าจากการเดินทางมากนัก เนื่องจากความสะดวกสบายบนรถนอนของที่นี่ ค่อนข้างดีกว่าที่คิด เพราะมีทั้งเตียงนอน ผ้าห่ม เครื่องปรับอากาศ ตลอดจนสายชาร์จไฟไว้ให้บริการนักเดินทางอย่างครบครัน อีกทั้งยังมีจุดแวะพักระหว่างทาง เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับประทานอาหาร และเปลี่ยนอิริยาบถในการเดินทางอีกด้วย สนนราคาค่าเสียหายที่ป้าต้องจ่ายในครั้งนี้เพียง 800 บาทเท่านั้นเอง หลังจากรถบัสจอดเทียบชานชาลา ของสถานีขนส่งผู้โดยสารเมืองอีเรนฮอทในเวลา 7 โมง ตัวป้าและชาวคณะยังพอมีเวลาแวะรับประทานอาหารเช้ารองท้อง ก่อนออกเดินทางไปยังด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะเปิดให้บริการในเวลา 08.30 น. สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย การข้ามแดนไปยังมองโกเลียนั้นค่อนข้างสะดวกสบาย เพราะถือเพียงพาสปอร์ตเล่มเดียวก็สามารถเที่ยวมองโกเลียได้ โดยไม่ต้องขอวีซ่าให้ยุ่งยาก ทำให้กลุ่มของป้าซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกด้วยกันทั้งหมด 8 คน รีบทำเวลาเช่ารถตรงดิ่งวิ่งไปยังสถานีรถไฟเมืองซามีนอุด ( Zamiin - Uud ) ทันที เพื่อที่จะต่อรถไฟสาย Trans - Mongolia ไปยังกรุงอูลานบาตอร์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศมองโกเลียนั่นเอง รถไฟสายทรานส์มองโกเลีย การให้บริการรถไฟจากสถานีซามีนอุด ไปยังอูลานบาตอร์ ปกติจะมีเพียงวันละ 1 เที่ยวเท่านั้น โดยออกจากสถานีต้นทางเวลา 18.05 น. และถึงปลายทางเวลา 08.30 น. สนนราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 25,600 ทูกรุก หรือประมาณ 280 - 300 บาท บรรยากาศภายในรถไฟก็คล้ายกับตู้นอนสองชั้นในบ้านเรา ที่พร้อมจะดัดแปลงเป็นทั้งเตียงและที่นั่งได้ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ทำให้ป้าประทับใจมากที่สุด คงจะเป็นทัศนียภาพสองข้างทาง ยามเมื่อรถไฟวิ่งผ่านท้องทุ่งกว้างใหญ่ และภูเขาหัวโล้นทอดไกลสุดลูกหูลูกตา มันช่างงดงามตระการตาเสียยิ่งกระไร อูลานบาตอร์ เมืองหลวงของประเทศมองโกเลีย เมื่อรถไฟเทียบชานชาลากลางกรุงอูลานบาตอร์ ความหนาวเย็นเช่นน้ำแข็งก็เสียดแทงเสื้อผ้าซึ่งถูกอัดมาไม่ต่ำกว่า 5 ชั้น ทำให้ป้าต้องรีบหาเสื้อคลุมมาสวมทับในทันที เนื่องจากสภาพอากาศจากเครื่องวัดในตอนนี้อยู่ที่ -2 องศา และมีวี่แววว่าจะลดต่ำลงกว่านั้นในยามค่ำคืน ดังนั้นการเตรียมความพร้อมก่อนจะมาเที่ยวมองโกเลีย คือ สิ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากร่างกายปรับสภาพไม่ทัน อาจทำให้เจ็บป่วยกะทันหันก็เป็นได้ เพียงชั่วอึดใจเดียว รถบัสที่เราเช่าไว้พร้อมกับคนขับ ( ซึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ) ก็มารับพวกเราทั้ง 8 คน ออกไปนอกเมือง เพื่อไปสัมผัสวิถีชีวิตของชนเผ่าเร่ร่อนบนทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ตามแบบฉบับชาวมองโกเลียดั้งเดิม อาจมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตให้มากขึ้นเท่านั้นเอง รถบัสค่อย ๆ แล่นผ่านพื้นที่กว้างขวางอันเวิ้งว้าง สลับกับแหล่งชุมชนซึ่งตั้งอยู่ห่างกันคล้าย ๆ social distancing อยู่เป็นระยะ ๆ ยิ่งขับออกนอกเมืองอูลานบาตอร์มากเท่าไร อากาศก็ยิ่งหนาวเย็นมากขึ้นเท่านั้น สังเกตได้จากสองข้างทางที่รถขับผ่านไป จะมีหิมะโปรยปรายอยู่ไม่ขาดสายเลยทีเดียว เกอร์ หรือ กระโจมของชาวมองโกเลีย ในช่วงบ่ายเราก็เดินทางมาถึงสถานที่ซึ่งเป็นไฮไลท์ของทริปนี้ ได้แก่ เกอร์ หรือ กระโจมแห่งหนึ่งนอกเมืองอูลานบาตอร์ สถานที่ซึ่งเราจะมาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวมองโกเลีย บนท้องทุ่งอันกว้างใหญ่แห่งนี้นี่เอง เกอร์ คือ กระโจมชั่วคราวที่เอาไว้ป้องกันลมหนาว สายฝน และหิมะ ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ มีลักษณะคล้ายกับห้องสตูดิโอที่มีครบจบในที่เดียว อาทิ ห้องครัว ห้องอาหาร ห้องนั่งเล่น และเตียงนอน ที่สุดยอดกว่านั้น ก็คือ ห้องน้ำของที่นี่ ( แยกออกจากตัวที่พัก ) ยังคงมีลักษณะเป็นส้วมหลุมแบบโบราณ มีเพียงไม้สองแผ่นพาดผ่านเอาไว้ให้ทำธุระสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะพบเห็นแล้วในบ้านเรา เมื่อเก็บสัมภาระเข้าที่พักเรียบร้อย ก็ถึงเวลาที่เหล่าผู้มาเยือนต้องสวมบทบาทนักล่าแห่งท้องทุ่ง ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมขี่ม้าต้อนสัตว์ และทดลองคั้นน้ำนมจากจามรี ซึ่งเป็นวิถีชีวิตอินดี้ที่ยากจะพบเจอได้จากที่ไหนนั่นเอง เป็นที่น่าเสียดายว่าช่วงเวลาที่ป้ามาเที่ยวมองโกเลีย ตรงกับช่วงฤดูหนาวพอดี จึงพลาดโอกาสตามติดชีวิตเร่ร่อน ค่ำไหนนอนนั่นของพวกเขาอย่างน่าเสียดาย ในมองโกเลียผู้คนส่วนใหญ่ ยังคงยึดถือวิถีปฏิบัติของบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด สืบเนื่องจากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างหนาวเย็นและแห้งแล้ง ไม่สามารถทำการเกษตรได้ พวกเขาจึงต้องเร่ร่อนตามท่องทุ่งกว้างใหญ่ ในเขตทะเลทรายโกบี เพื่อตามหาแหล่งน้ำ และอาหารสำหรับการเลี้ยงสัตว์นั่นเอง เจ้าของบ้านบอกผ่านเด็กสาวในวัยเรียน ซึ่งทำหน้าที่เป็นไกด์ท้องถิ่นไปโดยปริยายว่า มองโกเลียจะมีกระโจมอยู่สองประเภท ได้แก่ แบบกึ่งถาวร และแบบพร้อมโยกย้าย โดยในช่วงฤดูหนาวอันโหดร้าย พวกเขาจะอยู่อาศัยในพื้นที่จับจองกึ่งถาวร ซึ่งมีพร้อมทั้งระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และในช่วงฤดูร้อนอันสดใส ( อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 25-30 องศาเซลเซียสในเวลากลางวัน และ 10-15 องศาในเวลากลางคืน ) พวกเขาจะกวาดต้อนฝูงสัตว์ออกหากินไปตามท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ ซึ่งมีลำธารและหญ้าเขียวขจีเพียงพอสำหรับฝูงสัตว์นับร้อย อาหารเย็นสไตล์มองโกเลีย เมื่อเสร็จสิ้นจากภารกิจต่าง ๆ ก็ล่วงเลยมาถึงเวลาของอาหารเย็นที่หลายคนกำลังรอคอย เจ้าของบ้านก็เตรียมอาหารไว้บริการผู้มาเยือนด้วยเมนูพื้นบ้าน ประกอบด้วย “ Buuz ” อาหารที่มีรูปร่างและรสชาติคล้ายติ่มซำ ทำจากเนื้อแกะและใส่เครื่องเทศเข้าไป เพื่อดับกลิ่นฉุนของมัน เป็นเมนูที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในกลุ่มมากเลยทีเดียว อาหารจานหลัก คือ Guriltai shul ซุปเนื้ออันขึ้นชื่อของมองโกเลีย ที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเลือกเนื้อสัตว์ตามต้องการได้ หากใครไม่ทานเนื้อก็สามารถเลือกซุปที่ทำจากไก่ได้เช่นกัน ส่วนป้านั้นขอเป็นซุปทำจากถั่วและธัญพืชเพราะ ลด ละ เลิก เนื้อสัตว์มาแล้วสักระยะนั่นเอง จานหลักนี้จะเสิร์ฟพร้อมกับเส้นก๋วยเตี๋ยวทอดกรอบ ที่เรียกว่า Tasalsan Guril และผักดองที่มีลักษณะคล้ายกิมจิ ซึ่งป้าไม่คุ้นเคยก็เลยเรียกไม่ถูก รวม ๆ แล้วรสชาติของอาหารพื้นบ้านที่นี่ อร่อยถูกใจป้าพอสมควร เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารนั้นสดใหม่ โดยเฉพาะวัตถุดิบจำพวกนม และเนื้อสัตว์นั้นเรียกได้ว่าสดตรงจากเขียงข้างกระโจมเลยทีเดียว เมื่อเสร็จสิ้นจากอาหารเย็น เจ้าของบ้านก็จะบริการพวกเราด้วยนมจากจามรี ที่เรียกว่า Airag ซึ่งเป็นนมที่มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย รสชาติเค็มนิดหน่อย เอาไว้อบอุ่นร่างกายก่อนเข้านอนอีกด้วย ห้องนอนในกระโจม ถึงแม้อากาศภายนอกของที่พักจะหนาวเย็น -9 องศาเซลเซียส แต่ภายในตัวกระโจมค่อนข้างอบอุ่น เพราะมีเตาไฟขนาดกะทัดรัดแบบดั้งเดิม คอยปรับอุณหภูมิให้คงที่ อีกทั้งเจ้าของกระโจมก็บริการพวกเราเป็นอย่างดี โดยเขาจะแวะเวียนเข้ามาเติมเชื้อเพลิงทุก ๆ 3 ชั่วโมง พวกเราจึงสามารถนอนกันได้แบบสบาย ๆ คลายความกังวลไปได้มากเลยทีเดียว ราคาห้องพักของเกอร์แต่ละแห่งจะแตกต่างกันออกไป เริ่มต้นที่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นก็มี ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราได้รับจากการบริการ ในส่วนของเกอร์ที่ป้าพักมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาท ( รวมค่ารถ 2 วัน และอาหาร 3 มื้อ ) ไม่รวมกิจกรรมขี่ม้า ( 150 บาท ) หรือจับนกอินทรีย์ ที่เราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่รวม ๆ แล้ว ถือว่าคุ้มค่ามากเลยทีเดียว ก่อนจากลาป้าก็ได้ขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับเด็กหญิงวัยน่ารักคนหนึ่ง ซึ่งอายุได้เพียง 3 ขวบ เพราะเธอชอบมาเล่นกับป้าอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากป้ามักจะมีขนม และของติดไม้ติดมือให้เธออยู่เสมอ แม่ของเธอเล่าให้ฟังว่าด้วยวิถีชีวิตของคนที่นี่ไม่เอื้อต่อการศึกษามากนัก เพราะทุกคนมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบมากมาย คนส่วนใหญ่จึงต้องส่งบุตรหลานไปเรียนในเมืองใหญ่ และจะรับพวกเขากลับมาอยู่กับครอบครัวในช่วงปิดเทอมเท่านั้น เด็กเหล่านี้ คือ ฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของมองโกเลีย เพราะพวกเขาสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติเป็นภาษาอังกฤษ จีน หรือภาษาอื่น ๆ ได้ ในระดับพอใช้ ทำให้พวกเขาและครอบครัว มีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลให้ชาวมองโกเลียให้ความสำคัญกับการศึกษา เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มากกว่าผลักดันผู้คนให้เข้าสู่ตลาดแรงงานนั่นเอง ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ป้าตระหนักได้ว่า การศึกษาที่ดีนั้นควรบูรณาการควบคู่ไปกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น เพราะหากแยกสองสิ่งออกจากกัน การศึกษาจะเปรียบเสมือนกับการลงทุนเพื่อหวังน้ำบ่อหน้า โดยละเลยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในดินแดนอันไกลโพ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้คนพากันทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อแสวงหาอำนาจและเงินตรา เหมือนที่เมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก กำลังประสบปัญหาอยู่ก็เป็นได้ ภาพประกอบโดยผู้เขียน