"วัดสวนดอกพระอารามหลวง" ถือว่าเป็นหนึ่งในวัดสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่พลาดไปเช็กอิน เที่ยว ถ่ายรูปและทำบุญ หากว่าตามประวัติศาสตร์ ถือว่าวัดสวนดอกกับวัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นวัดคู่แฝดกัน เพียงแต่วัดหนึ่งอยู่บนเขาและอีกวัดอยู่ที่ลุ่ม เพราะมีเพียง 2 วัดนี้เท่านั้น ที่ได้รับการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระมหาเถระสุมนอัญเชิญมาจากสุโขทัยในครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ เข้ามาเผยแพร่ในอาณาจักรล้านนา โดยวัดนี้สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พระเจ้ากือนาธรรมิกราช แห่งราชวงศ์มังราย ได้พระราชทานอุทยานสวนดอกไม้พะยอมสร้างวัดขึ้นมา พร้อมกับพระราชทานนามว่า วัดบุปผาราม แต่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า วัดสวนดอก ภายในวัดสวนดอกแห่งนี้มีจุดน่าสนใจ น่ากราบไว้และเรียนรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ และโบราณคดีรวมทั้งหมดถึง 9 จุด ผมจะพาไปชมทุกจุดให้ครบจบในคราวเดียว ตามมาเลยครับ 01. รูปปั้นพญาพรหมโวหาร กวีเอกล้านนาไทย พญาพรหมโวหาร เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕ ที่ข้างวัดสิงห์ชัย จังหวัดลำปาง ท่านมีเชื้อสายตระกูลเจ้าเจ็ดตน พอบวชเป็นพระสนใจในการแต่งคร่าวหรือบทกลอน จึงได้เป็นนักเทศน์มหาชาติกัณฑ์มัทรีชื่อดังของเมืองลำปาง ต่อมาได้ลาสิกขาไปทำงานเกี่ยวกับการเขียน และแต่งหนังสืออยู่ที่คุ้มเจ้าหลวงลำปาง จนกระทั่งลือกันว่าสาส์นต่าง ๆ ที่ออกจากคุ้มเจ้าหลวงลำปางส่งไปถึงหัวเมืองเหนือในเวลานั้น พญาพรหมโวหารได้แต่งเป็นคร่าวหรือบทกลอนทั้งสิ้น ส่งผลให้ท่านมีชื่อเสียงขจรกระจายไปทั่วล้านนา ช่วงหนึ่งท่านได้เข้าไปอาสาเป็นนายอาลักษณ์ของเจ้าหลวงพิมพิสารเจ้าเมืองแพร่ และได้รับตำแหน่งกวีคุ้มหลวง ต่อมาพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ โปรดให้อยู่ในตำแหน่งอาลักษณ์เป็นกวีแก้วประจำราชสำนักเชียงใหม่ ท่านอยู่จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และถึงแก่กรรมอย่างสงบขณะมีอายุได้ ๗๙ ปี เล่าลือกันว่าปฏิภาณไหวพริบเชิงกวีเก่งกาจยิ่งนัก เทียบได้กับศรีปราชญ์และสุนทรภู่เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้พญาพรหมโวหาร ได้กลายเป็นกวีเอกแห่งล้านนาไทยไปในที่สุด รูปปั้นท่านอยู่ด้านซ้ายมือก่อนเข้ากำแพงไปในเขตวัด ที่ตั้งอาจจะไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไหร่ แต่ในสายตานักศึกษาประวัติศาสตร์ด้านการศึกษา และบุคคลสำคัญของประเทศแล้ว ก็ต้องแวะสักการะทุกครั้งที่มาที่นี่ 02. ซุ้มประตูวัด ปัจจุบันมีอยู่ 3 ซุ้ม คือ ทิศเหนืออยู่หน้าวัด ทิศตะวันออกอยู่หน้าพระวิหาร และทิศใต้อยู่ด้านข้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซุ้มทั้งหมดนี้ สร้างขึ้นในรูปแบบของประตูโขงหรือประตูป่า เพราะก่อสร้างและประดับตกแต่งด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษา รูปสัตว์ต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความหมายของป่าหิมพานต์ เช่น นาค มกร หงส์ กินรี มอม ตัวลวง นอกจากนี้ การประดับตกแต่งส่วนบนของซุ้มประตู ยังประกอบด้วยหลังคาซ้อนชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป ดุจดั่งวิมานของเทพเทวดาเป็นลำดับชั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของเขาพระสุเมรุ อยากแนะนำให้ไปถ่ายรูปซุ้มที่สวยที่สุดอยู่ด้านทิศใต้ เพราะมีต้นไม้ 2 ข้างประดับมองไปแล้วเหมือนกำลังจะเข้าประตูไปอีกมิติหนึ่งอย่างน่าอัศจรรย์ใจ 03. กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ จุดนี้ เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชอบถ่ายรูปมากที่สุด เพราะมีกู่สีขาวตัดกับเจดีย์สีทองและต้นไม้สีเขียว ดูสวยงาม บางคนที่อ่านประวัติศาสตร์พื้นเมืองล้านนา ตำนานรักมะเมี๊ยะ ก็จะมาตามรอยเดินหากู่เจ้าน้อยศุขเกษมกันที่นี่ เพราะเป็นสถานที่บรรจุอัฐิ ตั้งแต่ปฐมกษัตริย์ถึงพระองค์สุดท้าย และพระประยูรญาติ ในตระกูล ณ เชียงใหม่ รวมถึงผู้สืบเชื้อสายสกุลเจ้าเจ็ดตน สำหรับสาเหตุที่สร้างกู่ไว้ที่นี่ เนื่องจากระหว่างปี พ.ศ. 2451-2452 พระราชชายาดารารัศมีทรงพิจารณาเห็นว่า อนุสาวรีย์หรือกู่เจ้าผู้ครองนครและพระประยูรญาติ ที่ตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำปิง ทางด้านทิศตะวันตกของตลาดวโรรสแถวตรอกข่วงเมรุนั้น เป็นสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากพอถึงในฤดูฝน น้ำจากแม่น้ำปิงมักจะเอ่อเข้าไปท่วมขังอยู่เป็นประจำ ทำให้เกิดความเสียหายบ่อยครั้ง จึงย้ายมาตั้งไว้ใหม่ที่บริเวณวัดสวนดอกจนถึงทุกวันนี้ 04. พระบรมธาตุเจดีย์ พระเจดีย์สีทององค์นี้ เป็นพระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา สูง 24 วา สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1914 ตามรูปแบบพระสุบินนิมิตของพระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์เม็งราย เมื่อโปรดให้สร้างพระอารามหลวงเพื่อเป็นที่จำพรรษาของพระมหาเถระสุมน ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนาและสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 1 ใน 2 องค์ ที่พระมหาเถระสุมนอัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 โดยพระองค์ได้นิมนต์พระมหาสุมนะเถระเป็นประธานสงฆ์ ก่อสร้างเจดีย์หุ้มด้วยทองคำคล้ายกลุ่มดอกบัว ปัจจุบันโดยรอบองค์เจดีย์มีเจดีย์บริวารอยู่โดยรอบ รวม 8 องค์ มีซุ้มประตูเข้าสู่เจดีย์สวยงาม เมื่อมองผ่านสนามหญ้าสีเขียว กู่และเจดีย์สีขาว จะเห็นองค์เจดีย์สีทองโดดเด่นสวยงามน่าศรัทธา ใครมาก็ต้องถ่ายรูปเก็บไว้ทุกคน 05. พระวิหารหลวง ตามตำนานกล่าวว่า พญากือนาธรรมิกราช ได้มีศรัทธาให้เอาเรือนหลวงของพระองค์มาสร้าง ต่อมา ในปี พ.ศ. 2474-2475 ครูบาเจ้าศรีวิชัย เจ้าแก้วนวรัฐและพระราชชายาดารารัศมี ได้สร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีขนาดความกว้าง 12 วา 2 ศอก ยาว 33 วา มีจำนวนเสา 56 ต้น โดยมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นวิหารโถงโล่งไม่มีฝาผนัง มีแต่ระเบียงโดยรอบ หน้าบันทั้งสองด้านมีลายปูนปั้นแบบเครือเถาศิลปะล้านนาที่สวยงาม รวมทุนทรัพย์ในการปฏิสังขรณ์ทั้งวิหาร เจดีย์ ซุ้มและกำแพงโดยรอบ จำนวน 65,406 รูปี ใช้เวลารวม 8 เดือน จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ นอกจากนั้น ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังได้หล่อพระพุทธรูปขนาดเท่าองค์ครูบา ด้วยทองเหลืองจำนวน 2 องค์ ประดิษฐานไว้บนแท่นแก้ว ( ฐานชุกชี ) ภายในพระวิหารอีกด้วย โดยด้านในพระวิหารมีขนาดกว้างมาก มีจุดให้คนมาวัดร่วมทำบุญหลายอย่าง และมีมุมให้นั่งสวดมนต์นั่งสมาธิอีกด้วย 06. พระเจ้าค่าคิง “ พระเจ้าค่าคิงหรือพระพุทธรูปแทนตัว ” เป็นชื่อเรียกพระเจ้าตนหลวง พระประธานในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีขนาดเท่าพระวรกายของพระเจ้ากือนาธรรมิกราชขณะประทับยืน มีหน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 2.5 เมตร จากข้อมูลจากประชุมตำนานล้านนากล่าวว่า โปรดช่างสร้างหล่อขึ้นด้วยทองสำริดตามบัญชาของพระราชมารดา เพื่อถวายไว้แทนตัวพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เมื่อครั้งทรงประชวรหนัก จึงเป็นเหตุให้เรียกพระนามของพระพุทธรูปที่สร้างแทนพระองค์ว่า “ พระเจ้าค่าคิง ” หากเป็นคนธรรมดาทั่วไป พระเจ้าค่าคิงก็เหมือนการสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นตัวแทนตัวเรา ในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อบูชาสืบทอดพระพุทธศาสนานั่นเอง 07. พระเกล็ดนาค พระเกล็ดพญานาคในพระวิหารหลวงวัดสวนดอกมี 2 องค์ องค์ที่อยู่ด้านซ้ายมือพระประธานมีสีน้ำเงิน ส่วนองค์ด้านขวามือของพระประธานมีสีทอง คนที่ทราบเรื่องปาฎิหาริย์ของท่าน ก็จะมาสวดมนต์ขอพรเสมอ ทำให้ตำนานความเชื่อเรื่องเล่าของพระเกล็ดนาคนี้ เชื่อมโยงถึงพระเกล็ดนาคที่วัดยางกวง เมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ว่า พระเกล็ดนาคนั้น มีเทวดาคอยรักษา มีความศักดิ์สิทธิ์นัก ขอพรสิ่งใดก็ได้สมดังใจปรารถนา ความเชื่อนี้พ้องกับเรื่องเล่าของชาวเชียงตุงที่ว่า มีพญานาคตนหนึ่ง อาศัยอยู่ในหนองตุง มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมาก ทุกครั้งที่มาวัดจะเอาร่างกายเลื้อยพันรอบพระพุทธรูปนี้ไว้ นานวันเข้าผิวองค์พระเป็นรอยเกล็ดนาค ต่อมาชาวบ้านได้สังเกตเห็นรอยดังกล่าว จึงชวนกันนำแก้วหลากสีมาประดับให้สวยงามเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง กลายมาเป็นพระเกล็ดนาคถึงปัจจุบันนี้ 08. เจดีย์ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา สร้างเมื่อ พ.ศ.2490 มีความสูงจากพื้นถึงปลายยอดราว 6 เมตร ตัวเจดีย์เป็นสีขาว รูปแบบคล้ายกู่ มีทางเข้าทั้ง 4 ด้าน กำแพงประดับด้วยดอกบัวตูม แต่ละด้านมีรูปปั้นเสือ 4 ชนิด ด้านละ 2 ตัว รวมเป็น 8 ตัว มีรูปครูบาศรีวิชัยประดับด้านข้างตัวเจดีย์ ด้านในบรรจุอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย ใกล้ ๆ เจดีย์มีศาลาประดิษฐานรูปปั้นของท่าน เพื่อเป็นอนุสรณ์ในคราวที่ครูบาศรีวิชัยได้บูรณปฏิสังขรณ์วิหารหลวงวัดสวนดอก เมื่อ พ.ศ. 2474-2475 09. พระเจ้าเก้าตื้อ สร้างเมื่อ พ.ศ.2047 ในสมัยพระเมืองแก้ว เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด มีที่ต่อ 8 แห่ง นับเป็นท่อนได้ 9 ท่อนตามจารีตการสร้างพระสมัยก่อน ศิลปะเป็นแบบเชียงแสน ฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 4.70 เมตร มีน้ำหนัก 9 ตื้อ หรือ 9,000 กิโลกรัม ( 1 ตื้อ = 1,000 กิโลกรัม ) โดยสร้างนานถึง 5 ปี จึงสำเร็จใน พ.ศ.2052 เพื่อเป็นพระประธานในวิหารวัดพระสิงห์ แต่พอหล่อเสร็จเอาไปวัดพระสิงห์ไม่ได้ จึงได้ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดสวนดอก นอกจากนั้นก็มีเรื่องเล่า ถึงเหตุของการสร้างพระเจ้าเก้าตื้อว่า เพื่อรวมคณะสงฆ์ที่แตกแยกกัน 2 นิกาย คือ นิกายสวนดอกกับนิกายป่าแดงให้หันหน้าเข้าหากัน และเพื่อสถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นจักรพรรดิราชา ตามอย่างพระเจ้าติโลกราช ด้วยการตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “ พระเจ้าสิริทรงธรรมจักรพรรดิราช ” หากจะบอกว่าพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปที่สวยที่สุดในประเทศไทย พระเจ้าเก้าตื้อก็ถือว่าสวยที่สุดในล้านนา ก็ไม่น่าจะมีใครค้านได้ ที่อยู่ : เลขที่ 139 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้เข้าชม : 06.00-20.00 น. ภาพประกอบโดยผู้เขียน : อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ฟรี