ก่อนอื่นผู้เขียนขอเล่าประวัติความเป็นมาของวัดไผ่ล้อม แห่งนี้ เพื่อให้ท่านได้ทราบข้อมูลพื้นฐานก่อน “วัดไผ่ล้อม (พระอารามหลวง) ตั้งอยู่เลขที่ 17 หมู่ 6 ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดจันทบุรีวัดหนึ่ง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2320 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาปี พ.ศ. 2325 และได้โปรดเกล้าฯ ยกขึ้นเป็น “วัดพระอารามหลวง” เมื่อปี พ.ศ. 2539 มีหลักฐานเชื่อได้ว่าวัดแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะมีภาพจิตรกรรมฝาหนังซึ่งเขียนไว้ในพระอุโบสถหลังเก่าเป็นหลักฐานอยู่ วัดมีเนื้อที่ 45 ไร่ อยู่ติดแม่น้ำจันทบุรี ด้านทิศตะวันออก ลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มต่อมาได้รับการปรับปรุงโดยการถม กลบเกลี่ยและแต่งพื้นที่ จนอยู่ในสภาพเรียบร้อยสามารถใช้การได้เต็มพื้นที่ ด้วยการเป็นธุระเอาใจใส่ ของท่านเจ้าคุณพระธรรมวงศ์มุนี เจ้าอาวาสองค์สองปัจจุบันมีหลักฐานการครอบครองที่ดินคือโฉนดจังหวัดจันทบุรี เลขที่ 2451,2452,2453 ลำดับเจ้าอาวาส ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่สามารถสืบทราบได้แน่ชัด คือ พระอธิการอ่าน พระอุปัชฌาย์เพ็ง พระอุปัชฌาย์เหมียง พระครูพิศาลธรรมคุณ - อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองจันทบุรี พระครูอินทกาจารย์ - อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองจันทบุรี พระครูประสิทธิ์ธรรมนาถ - อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองจันทบุรี พระธรรมวงศ์มุนี - อดีตเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี พระอรรถโมลี (ป.ธ.7) - ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 – ปัจจุบัน วัดไผ่ล้อม (พระอารามหลวง) เป็นศูนย์กลางการศึกษาของคณะสงฆ์จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดใกล้เคียง มาช้านานร่วม 100 ปีมาแล้ว ซึ่งประชาชนบริเวณวัด และต่างพื้นที่นิยมนำบุตรหลาน มาศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก ในอดีตลูกศิษย์ที่จบจากวัด ได้ไปรับราชการทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมากมายหลายท่าน เช่น พระยาวิสูตรโกษา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศส และประเทศอังกฤษ,นายอภัย จันทวิมล ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง ปลัด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พล.อ.สมศักดิ์ ปัญจมานนท์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นต้น เกียรติประวัติของวัด พ.ศ. 2510 ได้รับพิจารณาให้เป็น “วัดพัฒนาตัวอย่าง” พ.ศ. 2514 ได้รับพิจารณาให้เป็น “วัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่น” พ.ศ. 2539 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดขึ้นเป็น “วัดพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ” พ.ศ. 2551 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดจันทบุรี แห่ง 6” ประวัติเรื่องราวทั้งหมดเป็นข้อมูลพื้นฐานของวัดไผ่ล้อม ที่ผู้เขียนได้เรียนรู้และศึกษามาจากวัดไผ่ล้อมแห่งนี้ เมื่อท่านได้ทราบประวัติความเป็นมาของวัดไผ่ล้อม แห่งนี้แล้ว ผู้เขียนจะขอเล่าประสบการณ์การเดินทางและความประทับใจที่ได้มาท่องเที่ยววัดไผ่ล้อม แห่งนี้ ก่อนอื่นขอแนะนำสำหรับท่านที่เดินทางโดยรถยนต์สามารถนำรถยนต์จอดในบริเวณของวัดได้ มีสถานที่กว้างขวางจอดรถได้หลายคัน รองรับนักท่องเที่ยวได้มากมาย เริ่มจาก เมื่อท่านเดินทางมาถึงวัดไผ่ล้อม ท่านจะพบแผนที่เชื่อมโยงชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านท่าเรือจ้าง หมู่ 5 ซึ่งในแผนที่อธิบายสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งให้ท่านสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ แต่ก่อนจะไปสถานที่อื่น ๆ นั้น มาเที่ยวชมวัดไผ่ล้อมกันก่อน ซึ่งมีสถานที่สำคัญควรเข้าไปชมทั้งหมด 4 แห่ง สถานที่แรก ศาลาวัดไผ่ล้อม ให้ท่านทำบุญถวายสังฆทาน ที่ศาลาใจประเสริฐกุล แห่งนี้ เพื่อเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเอง สถานที่ 2 ศาลามณฑปอนุสรณ์ 100 ปี พระธรรมวงศ์มุนี ภายในศาลาเก็บอัฐบริขารของหลวงปู่ พระธรรมวงศ์มุนี วัดไผ่ล้อม จันทบุรี ให้นักท่องเที่ยวได้กราบไหว้สักการะบูชา และภายในศาลาบอกเล่าเรื่องราวประวัติของหลวงปู่พระธรรมวงศ์มุนี ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้ สถานที่ 3 บูชาพระพุทธไสยาสน์ (หลวงพ่อใหญ่วัดไผ่ล้อม) องค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดจันทบุรี เป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารซึ่งภายในวิหารมีพระพุทธรูปมากมาย เป็นสถานที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องเดินทางมากราบไหว้สักการะบูชา ขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และปิดทองลูกนิมิต นอกจากนี้ทางวัดไผ่ล้อมขอเชิญร่วมสร้างพระมหาเจดีย์ธรรมโมลีอนุสรณ์ ขนาดกว้าง 10 เมตร สูง 49 เมตร เพื่อนำพระธาตุเจดีย์จำลอง ปีเกิด 12 นักษัตร มาประดิษฐานภายใน “พระมหาเจดีย์ธรรมโมลีอนุสรณ์” สถานที่สุดท้าย อุโบสถ ภายนอกอุโบสถตกแต่งสวยงาม เป็นอุโบสถหลังใหม่ เมื่อเดินเข้าไปชมภายในอุโบสถ การตกแต่งภายในจะมีความเรียบง่าย เป็นสถานที่เงียบสงบ เหมาะกับการนั่งสมาธิ สำหรับการเดินทางมาวัดไผ่ล้อม ใช้ระยะเวลาเดินทางจากอำเภอเมืองไม่ถึง 15 นาที ประมาณ 5 กิโลเมตร