รีเซต

เที่ยวกรุงเบิร์น เพลินลืมเหนื่อย เมืองหลวงมรดกโลก แห่งสวิตเซอร์แลนด์ แวะส่องหมีสีน้ำตาล

เที่ยวกรุงเบิร์น เพลินลืมเหนื่อย เมืองหลวงมรดกโลก แห่งสวิตเซอร์แลนด์ แวะส่องหมีสีน้ำตาล
แมวหง่าว
30 ตุลาคม 2558 ( 04:28 )
39.9K

Words and Photo by แมวหง่าว

 

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น แค่ได้ยินชื่อขึ้นมาเราก็จะจินตนาการไปถึงเมืองเล็กที่รายล้อมด้วยหุบเขา พาดผ่านด้วยภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้ากว้างสุดลูกหูลูกตา อาคารทรงเก่าแก่ และส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเมืองหลวงคือเมือง Zurich (ซูริค) ด้วย ที่จริงแล้วเมืองหลวงของที่นี่คือกรุง Bern (เบิร์น) เมืองโบราณยุคกลางที่ยังคงรูปลักษณ์ดั้งเดิมตั้งแต่เมื่อ 800 ปีที่แล้ว

 

เล่าถึงเรื่องชื่อเมือง “Bern” กันก่อน คำนี้มาจากภาษาเยอรมันที่แปลว่า “หมี” นั่นเอง สาเหตุที่ตั้งชื่อนี้ก็เพราะเป็นไปตามปณิธานของอดีตเจ้าผู้ครองเมือง ว่าสัตว์ชนิดแรกที่ล่าได้จะนำมาตั้งเป็นชื่อเมือง ซึ่งก็คงถึงคราวเคราะห์ของเจ้าหมีจริงๆ เลยได้กลายมาเป็นชื่อเมืองในที่สุด

 

ด้วยความที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ เมืองจึงต้องมีความเจริญ และขยายออกเรื่อยๆ ต้องชื่นชมทางการสวิสจริงๆ ที่ทำการอนุรักษ์ในส่วนของเมืองเก่า รักษาผังเมืองเดิมไว้ อนุญาตให้ดัดแปลงตัวอาคารได้แค่ภายในเท่านั้น ภายนอกห้ามเปลี่ยนแปลง เราจึงมีโอกาสได้เห็นสภาพบ้านเมืองแบบยุคกลางที่ยังคงความสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แถมยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรกดโลกทางวัฒนธรรมโดยองค์การ UNESCO ในปี 1983 

 


ก่อนจะเข้าไปชมย่านเมืองเก่าสุดแสนโรแมนติก เราได้มีโอกาสแวะที่สวนกุหลาบซึ่งเป็นสวนสาธารณะ และจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นกรุง Bern ได้แบบเต็มๆ ตา ภาพของเมืองเก่าที่ตัดกับใบไม้เปลี่ยนสีนั้นทำให้เราเพลินตาจนเกือบลืมหายใจ 

สวนกุหลาบแห่งนี้แต่ก่อนเคยใช้เป็นสุสาน แต่ในปีค.ศ.1913 ก็ได้มีการปรับปรุง เปลี่ยนให้เป็นสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง ภาพของพ่อแม่ที่พาลูกหลานมาวิ่งเล่นอย่างมีความสุขนั้นทำให้เราต้องอมยิ้มตามไปด้วย

 

นั่งรถออกมาจากสวนไม่ไกลเราก็มาถึงบริเวณที่ห้ามพลาดเด็ดขาด ก็คือแวะชมบ่อหมี สัตว์ประจำเมือง Bern นั่นเอง เท่าที่ดูก็สุขภาพดี อ้วนท้วนสมบูรณ์กันทุกตัว ดูจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยเพราะกรงของมันอยู่ติดริมแม่น้ำ Aare (อาเร) ซึ่งเป็นป้อมปราการตามธรรมชาติเพื่อป้องกันภัยจากข้าศึกในสมัยก่อน 

 

*บ่อหมีเดิม ตอนนี้หมีย้ายไปอยู่ริมน้ำแล้ว*

 

จากตรงนี้เมื่อมองข้ามฝั่งไปเราก็จะเห็นโซนเมืองเก่าที่ชาวสวิสภาคภูมิใจ บ้านทุกหลังมุงด้วยหลังคาสีแดง พื้นถนนปูด้วยอิฐ บ้านเรือนประดับตกแต่งด้วยต้นไม้ ดอกไม้ และรูปปั้นสวยๆ ตลอดเส้นทาง


 

เดินไปเรื่อยๆ จนถึงสี่แยกจะพบกับหอนาฬิกา Zeitglockenturm (ไซท์กล็อกเคนทัม) อีกหนึ่งจุดที่นักท่องเที่ยวจะต้องแวะมาหยุดยืนชม หอนาฬิกานี้เดิมใช้เป็นประตูเมือง ภายหลังจึงปรับปรุงเป็นหอนาฬิกา พร้อมกับติดตั้งนาฬิกาดาราศาสตร์เข้าไปแทน ทางด้านขวาของนาฬิกามีตัวตุ๊กตาต่างๆ เช่น คน สิงโต หมี ฯลฯ ซึ่งจะเต้นหมุนตัวไปรอบๆ ให้เราได้ชมกันก่อนเริ่มต้นชั่วโมงใหม่ 4 นาที เช่น 10.56 11.56 12.56

 

นอกจากสถาปัตยกรรมสวยๆ แล้ว มีจุดน่าสังเกตอีกอย่างคือบ่อน้ำพุที่ตั้งอยู่เป็นจุดๆ ตลอดถนน บนยอดก็จะมีรูปปั้นต่างๆ ประดับอยู่ด้านบน ในสมัยก่อนชาวบ้านก็จะใช้น้ำจากน้ำพุในการดื่มกิน และใช้สอยต่างๆ เพราะมีความใสสะอาดมาก (ตอนนี้ก็ยังดื่มได้อยู่) 

 

ระหว่างทางเรายังผ่าน Einstein-Haus บ้านเลขที่ 49 ซึ่งเป็นบ้านที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ชื่อดังของโลกเคยมาใช้ชีวิตอยู่ในช่วงสั้นๆ ระหว่างปีค.ศ. 1903-1905 ปัจจุบันบ้านหลังนี้ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมภาพถ่ายและผลงานบางส่วนของไอน์สไตน์

 

สำหรับอาคารทรงสูงที่มองเห็นแต่ไกล และเป็นส่วนที่ตั้งเด่นเป็นสง่าที่สุดของเมือง ก็คือ Berner Münster หรือมหาวิหารกรุง Bern นั่นเองครับ เป็นโบสถ์ประจำเมืองที่สำคัญของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

 

 

ใกล้ๆ บ่อหมีเองมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ขายของที่ระลึก และร้านอาหารด้วย ใครชมหมีเสร็จแล้วหิวเชิญแวะมาได้เลย 

 

การได้เดินเที่ยวเมือง Bern แม้เพียงจะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้เราได้เห็นถึงความเอาใจใส่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่ ในการร่วมมือกันอนุรักษ์เมืองมรดกโลกแห่งนี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไปในฐานะเมืองประวัติศาสตร์นั่นเอง สมแล้วที่ใครต่อใครยกให้ที่นี่เป็นดั่งเมืองในฝันจริงๆ



ขอขอบคุณ BEC Tero สำหรับทริปดีๆ ครั้งนี้



**บทความรีวิวร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และแนะนำวางแผนเที่ยว เป็นบทความที่ทางเว็บขอสงวนลิขสิทธิ์ผลงานการเขียน ห้ามทำซ้ำ หรือคัดลอกเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อในเว็บอื่นๆ และสื่อตีพิมพ์ จนกว่าจะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทีมงาน

 

 

ติดตาม travel.truelife.com อีกช่องทางที่


    

 

 ทุกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาหาร และที่พัก คลิกที่ http://travel.truelife.com