ชุมชนตรอกข้าวเม่า "ฝั่งธน" หรือ "ฝั่งธนบุรี" ในย่านบางกอกน้อยมีชุมชนดั้งเดิมตั้งอยู่มาอย่างยาวนาน ผู้คนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชาวมอญอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา มาตั้งรกรากตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี พร้อมได้นำภูมิปัญญาการทำข้าวเม่าติดตัวมาด้วย เพราะในย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ข้าหลวงเดิมเพราะมีบ้านเรือนอยู่ใกล้พระราชวังเดิมในอดีต สภาพชุมชนเป็นสวนผลไม้นานาชนิด การคมนาคมส่วนใหญ่ใช้ทางน้ำเป็นหลัก สามารถพายเรือจากเส้นทางคลองบางกอกน้อยไปคลองบางขุนศรี ออกคลองบ้านขมิ้นได้ เดินทางต่อไปยังวัดยางสุทธาราม วัดดงมูลเหล็ก และวัดอัมพวา ในด้านการค้าขายก็นิยมนำผลไม้ไปขายที่ตลาดท่าเตียนหรือบ้างก็หาบไปข้ามเรือที่ท่าหวังหลังหรือท่ายายโกย ชุมชนแห่งนี้เกือบทุกหลังคาเรือนจะมีการตำข้าวเม่าโดยมีข้าวเปลือกมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง ชัยนาท และนครชัยศรี จะนำข้าวเปลือกมาทางเรือ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของชุมชนแห่งนี้จึงเป็นข้าวเม่า ผู้คนทั่วไปจึงเรียกติดปากชุมชนแห่งนี้ว่า “ชุมชนตรอกข้าวเม่า” หรือ “บ้านข้าวเม่า” ภายหลังบ้านเมืองเจริญขึ้นมีการตัดถนนพรานนก ถนนอิสรภาพ การคมนาคมทางน้ำจึงลดบทบาทลง การตำข้าวเม่าซึ่งต้องอาศัยน้ำคลองเป็นหลักในการแช่ข้าว ล้างข้าวและวิธีการยุ่งยากในปัจจุบันจึงค่อยๆหมดไป เหลือเพียง “ขนมไทยบ้านข้าวเม่า” ที่ยังคงยึดอาชีพนี้ต่อเพื่ออนุรักษ์อาหารประจำชุมชนเพียงบ้านเดียว เมื่อชุมชนตรอกข้าวเม่ามีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ จึงกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ภาครัฐและเอกชนจึงให้ความสนใจและให้การสนับสนุน จึงเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำชุมชนขึ้นที่ วัดสุทธาวาส วัดประจำชุมชน โดยใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์ว่า “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่า” ภายในนำข้าวของเครื่องใช้ หลักฐานทางอาชีพ วิถีชีวิตในอดีตมาจัดแสดงถ่ายถอดเป็นเรื่องราวให้ผู้ที่สนใจเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แบ่งเป็น 3 ห้อง คือ ห้องวิถีชีวิตชาวบางกอกน้อย ห้องถิ่นฐานบ้านขุน และห้องห้างร้านเจ็กตู๋ ผู้ที่สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่าและบ้านข้าวเม่า รบกวนติดต่อก่อนเข้าชมเนื่องจากทางชุมชนจะได้จัดเตรียมอุปกรณ์ไว้สาธิตการทำข้าวเม่าให้กับผู้เข้าชม หรือหากใครอยากเข้าไปเดินชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนสามารถเดินทางไปด้วยตนเองได้เลย โทรศัพท์ : ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ สนง.เขตบางกอกน้อย 02-434 9077 /คุณณิชาภัทร์ 095-947 8059 /คุณยุพา 096-871 7885 วันและเวลาทำการ : วันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 08.30 - 16.30 น. การเดินทาง : รถโดยสารประจำทางสาย 40, 42, 56, 57, 80, 108, 171, 509 หรือ รถสองแถวเล็ก ภาพประกอบ : โดยผู้เขียน