รีเซต

ประวัติวันวิสาขบูชา วิสาขบูชา 2566 วันสำคัญทางศาสนาพุทธ ที่มาวันวิสาขบูชาในไทย

ประวัติวันวิสาขบูชา วิสาขบูชา 2566 วันสำคัญทางศาสนาพุทธ ที่มาวันวิสาขบูชาในไทย
เอิงเอย
29 พฤษภาคม 2566 ( 10:35 )
17.3K

     วันวิสาขบูชา 2566 นี้ ตรงกับวันที่ 3 มิถุนายน 2566 ค่ะ ซึ่งถือเป็น วันสำคัญทางศาสนาพุทธ ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นใน พระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ เป็นวัน ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระศาสดา ใน วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 นั่นเองค่ะ ตามเรามารู้จัก ประวัติวันวิสาขบูชา และ ที่มาของวันวิสาขบูชาในไทย กันค่ะ

ประวัติวันวิสาขบูชา วิสาขปุรณมีบูชา

ดูละครอินเดียชื่อดัง พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก รับชมออนไลน์ฟรีที่นี่

 

      วันวิสาขบูชา ตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่ พระพุทธเจ้า ประสูติ คือ เกิด ได้ตรัสรู้ คือ สำเร็จ และ ปรินิพพาน คือ ดับ ซึ่งเกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 เหตุการณ์ จึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มากๆ ที่เหตุการณ์ทั้ง 3 ที่เกี่ยวกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นในวันเดียวกัน ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี คือ

ประสูติ

  • เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ที่ พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ

 

 

ตรัสรู้

  • เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้า ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม หลังจากการออกผนวชได้ 6 ปี ซึ่งในปัจจุบัน สถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

 

 

ปรินิพพาน

  • หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าได้ประกาศ พระพุทธศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ 45 ปี และเมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสินารา รัฐอุตระประเทศ ประเทศอินเดีย

ดู สังเวชนียสถาน เพิ่มเติมได้ที่

 

     และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้ วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day และเป็น วันสำคัญสากล หรือ International Day ชาวพุทธทุกนิกายทจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลกอีกด้วย

      และสำหรับในบางประเทศ จะเรียกพิธีนี้ว่า พุทธชยันตี (Buddha Jayanti) เช่น ในประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกา ค่ะ 

 

วิสาขบูชา หมายความว่าอะไร

 

 

     วิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งย่อมาจาก วิสาขปุรณมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ นั่นเองค่ะ

     ทำให้ในวันวิสาขบูชาของทุกปี ชาวพุทธศาสนิกชน จะพร้อมใจกัน ประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงหลักธรรมคำสอน ของพระพุทธองค์


ที่มาวันวิสาขบูชาในไทย

      สำหรับวันวิสาขบูชา ในประเทศไทยเรานั้น ได้ประกาศให้ วันวิสาขบูชาเป็น วันหยุดราชการ ค่ะ โดยพุทธศาสนิกชน จะมีการประกอบพิธีต่างๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน ค่ะ โดยถ้าพูดถึง ที่มาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย นั้น เราต้องย้อนไปตั้งแต่ใน สมัยสุโขทัย เลยทีเดียว

 

วิสาขบูชา สมัยสุโขทัย

 

 

     ปรากฏตามหลักฐานว่า วันวิสาขบูชานั้นได้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่า ได้แบบอย่างมาจากลังกา ในสมัยนั้นกรุงสุโขทัยนั้นได้สืบพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาจากลังกาประเทศ ซึ่งเป็นเมืองที่มั่นทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง และขนาดของการจัดพิธีบูชาเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาของชาวศรีลังกานั้น นับเป็นพิธีใหญ่และสำคัญมากของอาณาจักรมาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน

     เมื่อประมาณปี พ.ศ.420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม และสมัยสุโขทัยนั้น ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับลังกาประเทศ มีพระสงฆ์ชาวลังกา เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในสุโขทัยอีกด้วย

 

 

      โดยในหนังสือนางนพมาศกล่าวถึงการจัดงานพิธีวันวิสาขบูชาของชาวสุโขทัยไว้ว่า

     "เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน

     พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ต ลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน

     ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ 4 เท้า 2 เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "

 

วิสาขบูชาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

 

 

     ต่อมาในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี ศาสนาพราหมณ์ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีต่างๆ ในราชสำนัก และมีอิทธิพลมากกว่าพระพุทธศาสนา ทำให้ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา ในสมัยอยุธยาสันนิษฐานว่า คงมีการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาอยู่ แต่ลดความสำคัญลงไปมาก เพราะได้ถูกครอบงำด้วยแนวคิดทางคติพราหมณ์ซึ่งได้รับจากการซึมซับวัฒนธรรมฮินดูแบบขอม

     จนถึงในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรก ตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ จนถึง วันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ.2360 เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ ตั้งแต่นั้นมา การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ค่ะ

 

 

     ต่อมาในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงเพิ่มจัดให้มีการเทศน์ปฐมสมโพธิกถา (พระพุทธประวัติ) ในวันวิสาขบูชาด้วย

     ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการตั้งโต๊ะเครื่องบูชารอบระเบียงพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

      และในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ปรากฏหลักฐานว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจุดดอกไม้เพลิงถวายเป็นพุทธบูชา และให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายใน และหน่วยราชการต่างๆ เดินเวียนเทียน จัดโคมประทีป และสวดมนต์ที่พระพุทธรัตนสถาน วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีการจัดพิธีวิสาขบูชาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน


อ้างอิง
https://www.dra.go.th
http://www.dhammathai.org
https://www.m-culture.go.th