ห้องสมุด เนียลสัน เฮส์ Neilson Hays ย่านบางรัก หอสมุดทรงนีโอคลาสสิคสมัยรัชกาลที่ 5
หนึ่งในที่ที่คนกรุงเองยังไม่ค่อยจะรู้เลยว่ามีอาคารทรงสวยๆ อย่างนี้อยู่ในย่านบางรักด้วย นั่นคือ ห้องสมุด เนียลสัน เฮส์ หรือ Neilson Hays Library ที่เพิ่งได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2565 (UNESCO Cultural Heritage Conservation Award 2022) ประเภท Award of Distinction จากการประกาศล่าสุดขององค์การยูเนสโก แล้วที่นี่มีอะไรพิเศษถึงได้รับรางวัลใหญ่ขนาดนี้ ลองเข้าไปชมพร้อมๆ กัน รับรองมีอะไรมากกว่าแค่หนังสือแน่นอน
Radiokafka / shutterstock.com
ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ Neilson Hays Library ย่านบางรัก
ที่มา ก่อนจะเป็นห้องสมุดเนียลสัน เฮส์
Photo : NeilsonHaysLibrary
ก่อนจะไปถึงเรื่องของห้องสมุดนั้น จะต้องเล่าย้อนไปถึงปี พ.ศ.2412 ก่อน แรกเริ่มเดิมทีนั้นมีชื่อว่า สมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ (The Bangkok Ladies’ Library Association) เพื่อให้บริการแก่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โดยมีนายกสมาคมคนแรกคือ ซาราห์ บรัคลีย์ แบรดลีย์ (Sarah Blachley Bradley) ภรรยาของหมอบรัดเลย์ (Dr.Dan Beech Bradley) นั่นเอง โดยที่ห้องสมุดนั้นมีลักษณะแบบไม่มีสถานที่ทำการถาวร จะย้ายไปตามที่ที่ได้รับอนุเคราะห์จากสมาชิก หรือผู้ให้การสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา ภายหลังสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมห้องสมุดกรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2454
ต่อมาภายหลัง สมาคมห้องสมุดกรุงเทพ ได้เปลี่ยนชื่อที่นี่เป็นห้องสมุด เนียลสัน เฮส์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของ นายแพทย์ ทอมัส เฮย์เวิร์ด เฮส์ (Thomas Heyward Hays) ที่มีต่อนาง เจนนี่ เนลสัน เฮส์ (Jennie Neilson Hays) ที่เดินทางติดตามสามีเข้ามาพำนักอาศัยในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2427 และได้อุทิศตน เพื่อทำกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินกิจการของสมาคมฯ ตลอดมา กระทั่งมาถึงแก่กรรมด้วยอหิวาตกโรคในปี พ.ศ. 2463 หมอทอมัสจึงได้ซื้อที่ดินริมถนนสุรวงศ์ และสร้างอาคารถาวรเพื่อยกให้เป็นห้องสมุด และเป็นที่ระลึกถึงภรรยาของท่าน
สไตล์ของอาคารหอสมุดเนียลสัน เฮส์
โดย Bjoertvedt, CC BY-SA 4.0
อาคารหอสมุดหลังนี้เป็นตึกชั้นเดียว สไตล์นีโอคลาสสิคสีขาว เปิดทำการในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2465 ที่ใครที่เคยเห็นต่างคุ้นตา เพราะเทคนิคการสร้างฐานอาคารเป็นแบบเดียวกับที่ใช้สร้าง พระที่นั่งอนันตสมาคม (ซึ่งรวมถึงอาคารสไตล์ฝรั่งอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่น ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล บ้านพิษณุโลก สถานีรถไฟหัวลำโพง วังปารุสกวัน) ออกแบบโดยนายมาริโอ ตามานโย (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาเลียนที่เข้ามารับราชการในราชสำนักสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5
และด้วยความที่ตัวอาคารเป็นสีขาว จึงช่วยขับเน้นบรรยากาศของต้นไม้โดยรอบ ให้เข้าขับสีเขียวเข้มของหน้าต่างได้เป็นอย่างดี ผังอาคารเป็นรูปตัว H ทางเข้าเป็นห้องทรงกลมหลังคาทางเข้าเป็นโดม ซึ่งปัจจุบันทางเข้าเดิมได้ปิด และปรับปรุงให้ใช้เป็นห้องแสดงนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะโดยใช้ห้องนี้ชื่อว่า Rotunda Gallery ส่วนทางเข้าย้ายไปอยู่ด้านข้างแทน
ด้วยความที่เป็นห้องสมุด ดังนั้นการออกแบบของที่นี่จึงมุ่งเน้นการระบายลม และป้องกันความชื้นอย่างดีที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าหนังสือนับพันเล่มในนี้จะได้รับการปกป้องอย่างดี ไม่มีแมลงเข้ามากัดกิน ด้วยการออกแบบที่คำนึงถึงองค์รวมรอบด้าน ทำให้ที่นี่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2525 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
รางวัลอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมจากยูเนสโก ประจำปี พ.ศ. 2565 (UNESCO Cultural Heritage Conservation Award 2022)
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศให้หอสมุดเนียลเซน เฮส์ ได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2565 (UNESCO Cultural Heritage Conservation Award 2022) ประเภท Award of Distinction ซึ่งมอบให้แก่โครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นเลิศในทุกด้านและก่อให้เกิดผลที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับชาติ หรือ ระดับภูมิภาค โดยคณะกรรมการตัดสินของยูเนสโกกล่าวเชิดชูเกียรติหอสมุดเนียลสัน เฮส์ ว่าเป็นโครงการที่อนุรักษ์ความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมตะวันตกในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ไว้ได้อย่างกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมในโลกตะวันออก
ข้อมูล Neilson Hays Library
- ที่อยู่ : 195 ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
- พิกัด : https://goo.gl/maps/pjyDeQhF7BMuwVYQ9
- เปิดทำการ : วันอังคาร-วันอาทิตย์ 09.30 – 17.00 น. ปิดวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
- ค่าเข้าชม : สามารถเข้าชมบริเวณโดยรอบห้องสมุดได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่หากต้องการเข้าชมภายในห้องสมุด จะมีค่าบำรุงห้องสมุด 100 บาทต่อท่านในกรณีที่ไม่ใช่สมาชิก
- เว็บไซต์ : https://neilsonhayslibrary.org, Facebook : www.facebook.com/NeilsonHaysLibrary
====================