ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงหนองคายในเวลาสาย เมื่อข้ามด่านมายังเวียงจันทน์ก็สายเสียแล้ว ทำให้ต้องเที่ยวตัวเมืองเวียงจันทน์ 1 วัน ก่อนเดินทางไปหลวงพระบางในเช้าวันต่อมา ต่อจากตอนที่แล้ว ณ สถานีขนส่ง 2 ข้าพเจ้าซื้อปี๋รถ (ตั๋วรถ) เรียบร้อยแล้วจึงเดินเล่นบริเวณสถานีขนส่ง พลันเห็นอ้ายคำช่วยชาวยุโรปขนสัมภาระลงจากรถ มีกล่องใส่กีตาร์ใบใหญ่ ซึ่งข้างในคงมีกีตาร์ตัวงาม ข้าพเจ้าจับใจความที่ชาวยุโรปพูดให้ยกเบาๆ หน่อยเพราะเขารักกีตาร์ตัวนี้มาก หลังจากนั้นพอมีเวลาเล็กน้อย ข้าพเจ้าจึงชวนอ้ายคำไปกินข้าวเปียกคนละชาม แล้วจึงแยกย้าย ข้าพเจ้าเลือกนั่งทางริมหน้าต่างฝั่งซ้ายของรถ V.I.P. พนักงาน ของรถโยนถุงบรรจุสินค้าหลายใบโตขึ้นบนหลังคารถ โดยมีพนักงานอีกคนคอยรับและจัดวางผูกมัดให้แน่นหนา รถเคลื่อนออกมาสักพักพนักงานเดินแจกขนมขบเคี้ยวกับน้ำดื่ม พร้อมยิ้มที่มุมปาก และทักข้าพเจ้าว่า “มาเที่ยวเหรอ” ข้าพเจ้ายิ้มรับตอบ รถเที่ยวนี้มีผู้โดยสารไม่มากนัก มีสาวชาวลาวนั่งข้างข้าพเจ้าคิดว่าเธอน่าจะเป็นชาวม้ง แต่เข้าใจในภาษาลาว และภาษาไทยพอสมควร เธอยิ้มให้ข้าพเจ้าอย่างไมตรี และทักด้วยน้ำเสียงเบาๆ ว่า “สะบายดี” (ภาษาลาว) ข้าพเจ้าก็ยิ้ม พร้อมกล่าวภาษาไทย “สบายดี” กลับไป รถเคลื่อนตัวไปตามถนน หมายเลข 13 ไม่นานก็พ้นเขตกำแพงนครเวียงจันทน์ บ้านเรือนเริ่มปลูกห่างกัน รถวิ่งสวนทางก็ลดจำนวนลงจนขาดระยะบ้าง ข้าพเจ้าหยิบกล้องดิจิทัลมาไล่ดูรูปที่ถ่ายเมื่อวานดูเพลินๆ เธอชะเง้อมาชมภาพพร้อมกับถามชื่อสถานที่ ข้าพเจ้าจึงอธิบายคร่าวๆ ว่าเป็นภาพที่ไหน เธอชี้ไปที่ภูเขาลูกไกลๆ ซึ่งไม่ใหญ่นัก พร้อมกับบอกว่า “ภูพระ” ความเป็นมาของชื่อนั้นเธอไม่ได้อธิบาย แต่บอกได้เพียงว่ารถกำลังแล่นสู่เมืองโพนโฮง นึกถึงเพลง “ฮักสาวโพนโฮง” แต่งโดย ส. บัวละพัน ไหนๆ ก็ผ่านเมืองโพนโฮงข้าพเจ้าก็ส่ายสายตาหาสาวโพนโฮงว่างามดั่งในเพลงหรือเปล่า... “เพียงครั้งหนึ่งที่ข้าได้เห็น สนใจบ่อเว้น ได้เห็นสาวเมืองโพนโฮง น้องงามโสภา คงสร้างบุญมา จึงนำยู่ส่ง” (ภาษาลาว) รถแล่นผ่านโพนโฮงเข้าสู่บ้านหินเหิบ สังเกตจากสะพานเหล็กขนาดยาวข้ามลำน้ำเซือง แต่ตัวสะพานแคบรถไม่สามารถวิ่งสวนกันได้ เมื่อมองลงไปจะเห็นโขดหินมากมายในยามน้ำลง ชาวบ้านในแถบนี้จะหาปลามาวางขายข้างทาง ส่วนมากจะเป็นปลาตัวโตสีดำสนิท เธอบอกข้าพเจ้า ว่าชาวลาวเรียกปลาชนิดนี้ว่า “ปลากวน” (ภาษาไทยเรียกปลาอะไรไม่ทราบได้ เป็นปลาหนังสีดำหรือน้ำตาลเข้ม คล้ายปลาดุก) ส่วนมากจะนำมาต้มใส่ผัก และหมากเผ็ดทุบ (พริกสด) กินร้อนๆ อร่อยมาก เนื้อปลาจะนุ่มไม่คาว ปลากวนเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่บางตัวหนักถึง 2 กิโลกรัม บ้างนำมาตากแห้งเป็นปลาเค็ม ...ข้าพเจ้าไม่ได้ชิมหรอกแต่เธอที่นั่งข้างๆ บอกว่าอร่อย... ตามประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติในลาว บ้านหินเหิบถือเป็นจุดสำคัญของสมรภูมิรบครั้งนั้น เพราะเมื่อสะพานที่หินเหิบได้ถูกทำลายลง ทหารฝ่ายซ้ายต้องขึงลวดสลิงข้าม “ลำน้ำบาก” ที่บ้านหินเหิบไปทีละคน จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักของการขนส่งกำลังทหารและเสบียงจาก เชียงขวางและวังเวียงสู่เวียงจันทน์ รถวิ่งเข้าสู่อ่างเก็บน้ำใหญ่ทางขวามือข้าพเจ้าอ่านได้ความว่า “อ่างเก็บน้ำเหนือ เขื่อนน้ำงึม” มีเรือหลายลำลอยเหนือผิวน้ำ ชาวประมงทอดแห เรือหลายลำจอดที่ท่าเรือ ชาวบ้านละแวกนี้เรียกว่า “บ้านท่าเรือ” ข้าพเจ้าอ่านหนังสือ "มหาอุปราชเพชราช ผู้กอบกู้วัฒนธรรมลาว" โดย มหาสิลา วีระวงส์ บันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งเจ้าฟ้าเพดชะราดได้เสด็จมาล่าเก้งล่ากวางแถวนี้ แต่ได้จระเข้ หลายอีกอึดใจใหญ่ข้าพเจ้าก็เดินทางมาถึงวังเวียง ดินแดนที่เคยเป็นสถานที่ตากอากาศ... เอ้ยฐานทัพอเมริกาสมัยสงครามอินโดจีน ในอดีต วังเวียงเคยเป็นสถานที่ตั้งของกองทัพทหารอเมริกา ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนคือสนามบิน ข้าพเจ้าไม่เคยหยุดเที่ยวชมที่วังเวียง ลำน้ำซองไหลผ่านวังเวียง ทำให้เมืองแห่งนี้ไม่เคยเงียบเหงา จากอดีตที่เคยใช้เป็นฐานทัพของทหารอเมริกัน ปัจจุบันเป็นสถานที่พักตากอากาศที่มีนักท่องเที่ยวที่ต้องการหาดินแดนอันเงียบสงบ ท่ามกลางธรรมชาติของขุนเขา สายน้ำและม่านหมอก ขณะที่รถหยุดแวะให้นักท่องเที่ยวลงและขึ้นที่วังเวียง ชาวยุโรปชายหญิง 2 คน ที่นั่งแท็กซี่ของอ้ายคำก็ลงที่นี่ แต่มีอุบัติเหตุนิดหน่อยเกิดขึ้น เพราะชาวยุโรปพลาดทำกล่องกีตาร์หลุดมือ หล่นลงเสียงดัง กล่องเป็นรอยถลอกคราบฝุ่นลูกรัง เขาสบถ... บ่นเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูงของกีตาร์ แล้วเปิดดูตัวกีตาร์ด้วยสีหน้าวิตก ข้าพเจ้านึกถึงปรัชญานิพนธ์ของท่านระพิทรนาถ ฐากูร ที่ว่า “To carry the burden of the instrument, count the cost of its material and never to know that it is for music, is the tragedy of deaf life. แบกเครื่องดนตรีหนักอึ้ง คิดมูลค่าของมัน แล้วไม่รู้ว่ามันมีอยู่เพื่อดนตรีการ คือโศกนาฏกรรมแห่งชีวิตหนวก” ถอดความเป็นภาษาไทยโดย ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา และ ระวี ภาวิไล พลันสายตาของข้าพเจ้าก็เห็นสาวยิปซี 2 คน เดินไม่สวมรองเท้า ในชุดกระโปรงพลิ้วบางสีสันฉูดฉาด อย่างสบายใจอยู่ข้างทาง ทำให้นึกถึง “One Hundred Years of Solitude” (100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว) ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เควซ นักเขียนละตินเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ที่เขียนถึงประเพณี และสมัยนิยม เรื่องเพ้อฝันกับความเป็นจริง เพราะภาพเบื้องหน้าที่ข้าพเจ้าได้เห็นนั้น คือ อิสระของมนุษย์หลากหลายเชื่อชาติ ผิวพรรณ ศาสนา มารวม อยู่ในสถานที่ที่มีธรรมชาติอันสวยบริสุทธิ์ ไม่นานทางฝั่งซ้ายก็จะเห็น หินขนาดใหญ่ตั้งเด่นอยู่กลางทุ่งนา ชาวลาวแถวนี้เรียกว่า “ผาตั้ง” แห่งบ้านหินตั้ง แสดงว่าอีกไม่นานข้าพเจ้าจะได้ลงรถคลายเส้นเอ็นที่เริ่มล้าจากการนั่งรถเป็นเวลานาน เพื่อหยุดพักรับประทานอาหารที่เมืองกาสี ในขณะเดียวกันสาวม้งก็ชี้ให้ดู “ภูอ้าปาก” ทางฝั่งขวาของรถ ตอนแรกข้าพเจ้าก็งงๆ แต่เมื่อมองนานๆ จึงสังเกตเห็นภูเขาน้อยๆ หลายลูกรวมตัวกันเรียงเป็นภาพ คล้ายกับผู้ชายนอนอ้าปาก วางมือไว้ที่หน้าท้อง อืม...ก็คล้ายจริงๆ แหละ “เข้าส้วม กิ๋นข้าว กิ๋นน้ำกัน” เสียงพนักงานบนรถร้องบอก ผู้โดยสาร มีชาวลาวหลายคนขบขันกับประโยคของพนักงานที่ว่า ให้ไปเข้าห้องน้ำ กินข้าว กินน้ำ...!! รถจอดพัก 30 นาทีเพื่อรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ อาหารที่เมืองกาสี นักท่องเที่ยวชาวไทยหลายคนถูกใจมาก เพราะทางร้านสามารถทำอาหารตามสั่งได้ เช่น ผัดกะเพรา แต่อาจได้ช้าหรือรสชาติอาจไม่ร้อนแรงนัก และมีข้าวราดแกงแบบอาหารลาวให้เลือกหลายเมนู ข้าพเจ้าเลือกเฝอวัวเหมือนเดิม ...ดูเหมือนว่า ข้าพเจ้าจะเลือกกินแต่เฝอ เนื่องจาก เป็นของร้อนที่ดูจะถูกหลักอนามัย เหมาะสำหรับผู้เดินทางต่างแดน เผื่อมีปัญหาเรื่องอาหารผิดท้อง... ถ้าข้าพเจ้าไม่เลือกเฝอคงต้องขบขนมปังฝรั่งเศสจิ้มเนยเค็มที่ดูแห้ง แข็ง กระด้างและขื่นฝืดคอ... (สังเกต จากสีหน้าชาวสแกนดิเนเวีย 3 คน ที่ฝืนกินเพื่อรองท้อง) เส้นทางที่ข้าพเจ้าจะต้องเดินทางต่อไปนั้นเรียกได้เต็มปากว่า ทรหดมาก เพราะต้องไต่ไปตามไหล่เขาอันคดเคี้ยว บางช่วงอันตรายมาก เพราะเป็นโค้งหักศอกและมีเหวลึกเป็นแนวถนนรถแล่นขึ้นภูเขาลูกหนึ่งผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่สร้างบ้านอยู่ริมถนน ข้าพเจ้าเห็นรถตักดินและเจ้าหน้าที่กำลังเดินตรวจรังวัด ต่อมาเมื่อสืบค้นข้อมูลภายหลัง ทราบว่า ทางการลาวกำลังเร่งก่อสร้างถนนอีกสายที่ไม่ต้องขึ้นเขาสูงเบื้องหน้า ...ซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตแขวงเวียงจันทน์กับแขวงหลวงพระบาง สาวชาวม้งเล่าว่า เธอนำสินค้ากระดาษสาที่ทำจากหมู่บ้านของเธอไปส่งที่เวียงจันทน์ ซึ่งเป็นศูนย์กระจายสินค้าแหล่งใหญ่ ส่งไปจำปาสัก บ้างส่งไปเวียดนาม ไทย เธอจะใช้รถจัก (รถจักรยาน) เป็นยานพาหนะที่เวียงจันทน์ในการขนส่งสินค้า บางวันปั่นจักรยานจากเช้าถึงค่ำเพื่อนำสินค้าไปส่งหลายที่และซื้อกระดาษสาจากศูนย์ส่งเสริมอาชีพชาวเขา ซึ่งเธอกล่าวมาทั้งหมดข้าพเจ้าจำไม่ได้หมดความ แต่เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ผมสอบถามว่าไม่มีพ่อค้ามารับซื้อแล้วนำไปส่งที่เวียงจันทน์ให้เหรอ ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า เธอตอบว่ามีแต่ให้ราคาต่ำมาก จะได้ค่าแรงต่อชิ้นไม่มาก และต้องมาเลือกลายกระดาษเอง บางครั้งสั่งเค้าก็แพงและสั่งลายกระดาษไม่ได้ตามที่ต้องการ บ้างชำรุด บ้างกระดาษชื้น ฯลฯ ...อืมมันเป็นอย่างนี้นี่เอง... สนทนากันพอสมควรก็ไม่กล้าถามชื่อสาวม้งคนนั้น และอีก 2-3 วัน เธอจะนำสินค้าไปส่งที่หลวงพระบางและเช่าที่ในตลาดมืดขายสินค้ากระดาษสาหลากหลายประเภท ทั้งโคมไฟ มูลี่ กล่องกระดาษ สมุดบันทึก ฯลฯ 2 ชั่วโมงต่อมา รถเข้าเขตเงาฝนภูเขา ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเลทำให้อากาศเบาบางจนหูอื้อ รถจอดให้เข้าห้องน้ำธรรมชาติ ...ริมถนน..! ที่ตลาดม้งริมทาง สินค้าที่ชาวม้งนำมาขายนั้นส่วนมากเป็นสินค้าทางการเกษตร เช่น ฟัก แฟง แตง ฟักทอง ข้าวโพด บ้างกล้วยไม้ป่า ข้าพเจ้าสะดุดตา คือ ดอกทานตะวันทั้งดอกที่มีเมล็ดแห้งเต็มดอกวางขาย...มีเสียงเอะอะ ดังขึ้นที่ประตูรถ เพราะมีคนเหยียบกับระเบิด (อึ) พนักงาน ของรถจึงส่งขวดน้ำให้ล้างรองเท้าก่อนขึ้นรถ...! หญิงสาวข้างข้าพเจ้าลงตรงนี้ เธอบอกลาเป็นภาษาลาว "ลาก่อน" พร้อมทิ้งรอยยิ้มให้ชวนหลงใหล ข้าพเจ้าหวังว่าจะเจอเธอที่หลวงพระบางที่ร้านค้าตลาดมืดยามเย็นคงจะต้องอุดหนุนโคมไฟเธอสักโคมหรือมากกว่านั้น เธอลงไปทักทายกับกับแม้ค้าขายผัก ผลไม้ ริมทางเป็นภาษาม้ง ข้าพเจ้าเดาว่าเป็นภาษาม้งเพราะฟังไม่ออกเลย พนักงานประจำรถ ปีนขึ้นหลังคารถเพื่อนำสัมภาระของเธอลง มีจักรยาน 1 คันด้วย... รถหยุดพักอีกครั้งเมื่อถึงเมืองภูคูน มีตลาด โรงแรมและเรือนพักชั่วคราวสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปชมทุ่งไหหินที่แขวงเชียงขวาง ภูคูนนี้ถือว่าเป็นประตูสู่เมืองหลวงพระบาง เมื่อนั่งรถต่อไปอีกประมาณ 30 กิโลเมตร ...เนื่องจากเป็นเส้นทางบนภูเขาที่สูงชันมากและขึ้นลงสลับคดเคี้ยวไม่สามารถทำความเร็วเหมือนพื้นราบ ประมาณ 1 ชั่วโมงก็จะถึงเมืองเชียงเงิน หากมาในยามเย็นหรือค่ำแล้วจะสามารถมองเห็นแสงไฟจากเมืองเชียงเงินที่อยู่ลึกลงไปในหุบเขาสูงเหมือนเมืองตุ๊กตาในเทพนิยาย ไม่นานก็จะเห็นลำน้ำคานที่ไหลใกล้ๆ กับเมืองเชียงเงิน และนั่นคือการบอกว่าอีกประมาณ 30 นาที เราก็จะเข้าสู่หลวงพระบางแล้ว ข้าพเจ้าตรวจสิ่งของต่างๆ เตรียมพร้อมลงรถและเดินทางต่อ สักครู่ใหญ่ทางฝั่งซ้ายของรถก็แล่นผ่านโรงปั่นไฟฟ้า หลวงพระบาง พนักงานของรถร้องบอกผู้โดยสารให้ตรวจตราสัมภาระ เตรียมตัวลง “หลวงพะบางๆ เกียมโต๋ๆ กวดกาเคื่องกะเป๋าให้เฮียบฮ้อย เคื่องผู้ใด๋ยู่บนหลังคา อย่าลืมนะ บ่เอาไปส่งที่เฮือนนะ” (หลวงพระบางๆ เตรียมตัวๆ ตรวจตราสิ่งของ กระเป๋าให้เรียบร้อย สิ่งของใครอยู่บนหลังคา อย่าลืมนะ ไม่เอาไปส่งที่เรือนนะ) สิ้นสุดเสียงร้องบอกก็เรียกรอยยิ้มจากชาวลาวหลายคนและชาวไทยบางคนบนรถ ก่อนสิ้นสุดการเดินทางครั้งนี้ข้าพเจ้าลืมบอกไปว่าบนรถประจำทางจะมีทหารประจำรถ 1-2 คนโดยถือปืนนั่งไปด้วย ...เนื่องจาก บางช่วงของเส้นทางอาจมีผู้ไม่หวังดี...!