อาโอกิกาฮาระ Aokigahara ป่าฆ่าตัวตายแห่งญี่ปุ่น เชิงภูเขาไฟฟูจิ
ภูเขาไฟฟูจิ ภูเขาสูงที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ชาวญี่ปุ่นภาคภูมิใจทุกครั้ง เวลาที่นักเดินทางทุกคนล้วนตั้งเป้าหมายว่าจะต้องไปชมด้วยตาตัวเองซักครั้งในชีวิต แต่ที่เที่ยวยอดนิยมนี้เองกลับมีสิ่งหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นไม่ค่อยอยากจะเล่าให้คนอื่นฟังสักเท่าไหร่นัก นั่นก็คือ เรื่องราวของผืนป่า นามว่า อาโอกิกาฮาระ Aokigahara ป่าหนาทึบเขียวครึ้มที่ปกคลุมอยู่ก่อนทางขึ้นฟูจิซัง ที่เคยเป็นหนึ่งในสถานที่ที่คนนิยมมาจบชีวิตกันมากที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ราวกับว่าที่นี่มีอาถรรพ์ที่ทำให้คนที่กำลังหมดอาลัยตายอยากพร้อมใจกันมาที่นี่กัน โดยไม่คิดจะหันหลังกลับสู่โลกภายนอกอีก
- สะพานฆ่าตัวตาย ยางิยาม่า ที่เซนได ญี่ปุ่น ตั้งใจหรือตัวตายตัวแทน?
- โจนส์ทาวน์ เมืองลัทธิฆ่าตัวตายหมู่ ที่น่ากลัวที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
ข้อมูลทั่วไปของ ป่าฆ่าตัวตายแห่งญี่ปุ่น อาโอกิกาฮาระ
ป่าอาโอกิกาฮาระ เป็นผืนป่าที่มีพื้นที่ราว 35 ตารางกิโลเมตร (ญี่ปุ่น: 青木ヶ原 โรมาจิ: Aokigahara) หรือมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า นทีแห่งไม้ (樹海, Sea of Trees) เป็นชื่อเรียกป่าบริเวณเชิงภูเขาฟูจิด้านตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นที่เลื่องลือในฐานะสถานที่ฆ่าตัวตายอันดับ 2 ของโลก รองจากสะพานโกลเด้นเกต (Golden Gate Bridge) แห่งซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภายในป่าแห่งนี้แม้ในช่วงกิโลแรกๆ ไม่ไกลจากถนนนักจะยังดูเป็นป่าโปร่ง ร่มรื่นสบายตา แต่ถ้าหากเดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ ในทางที่มุ่งหน้าไปภูเขาไฟฟูจิแล้ว จะเริ่มพบกับป่าที่ดูดึกดำบรรพ์ รกทึบขึ้นเรื่อยๆ จนแทบไม่เจอสิ่งมีชีวิตอื่นใดเลย พื้นที่ของป่าอาโอกิกาฮาระนั้นเป็นแผ่นหินภูเขาไฟที่เกิดจากการเย็นตัวของลาวาที่ปะทุจากภูเขาไฟฟูจิเมื่อปีพ.ศ. 1407 (ค.ศ. 864) ประมาณเกือบ 1200 ปีที่แล้ว
shu2260 / Shutterstock.com
ในทุกๆ ปี เจ้าหน้าที่จะพบศพของผู้เสียชีวิต ทั้งที่สามารถระบุตัว และไม่สามารถระบุตัวได้ปีละไม่ต่ำกว่า 30 ร่าง จากข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 พบร่างถึง 500 ร่าง แต่หลังจากปี 2010 เป็นต้นมา ทางการก็หยุดการเผยแพร่สถิติดังกล่าว เพราะหวังว่าจะช่วยลดการเชื่อมโยงป่ากับการฆ่าตัวตายลงได้บ้าง พร้อมกับติดตั้งป้ายทั้งภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษบริเวณปากทางเข้าป่า เพื่อย้ำเตือนผู้มาเยือนว่าอย่าคิดสั้น รวมถึงการติดตั้งแถบสัญลักษณ์ตามต้นไม้เพื่อแสดงเส้นทางออกจากป่าสำหรับคนที่เปลี่ยนใจ การฝึกอบรมอาสาสมัครให้มีทักษะพูดคุยกับคนที่คิดฆ่าตัวตาย การเพิ่มตำรวจลาดตระเวนป่า และการแปะป้ายบอกเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานที่รับให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตโดยเฉพาะ
อาสาสมัครที่คอยเดินตรวจตราในป่า เมื่อพบร่างผู้เสียชีวิตก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาเก็บศพต่อไป แต่ถ้าเจอคนที่กำลังจะฆ่าตัวตาย หรือยังไม่เสียชีวิต อาสาสมัครก็จะรับทำการช่วยเหลือในทันที
นอกจากนี้ ยังมีการนำเรื่องป่าฆ่าตัวตายตีแผ่ออกมาเป็นหนังสยองขวัญเรื่อง Suicide Forest Village ป่า..ผีดุ อีกด้วย
ตำนาน และความเชื่อของป่าอาโอกิกาฮาระ
dowraik / Shutterstock.com
มีความเชื่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณแล้ว ว่าป่าแห่งนี้เป็นที่สิงสถิตย์ของเหล่าภูตผี โดยเชื่อว่า ป่าแห่งนี้มีวิญญาณต้นไม้ หรือ โคดามะ (木魂) สิงสถิตย์อยู่ เหล่าวิญญาณของต้นไม้จะดูดเอาพลังงานชีวิตจากผู้เสียชีวิตกลับคืนเป็นพลังแห่งป่า
มีเรื่องเล่ามากมายว่าหากนำเข็มทิศมาใช้ในป่าแห่งนี้ เข็มทิศจะไม่ทำงาน ความจริงแล้วหากวางเข็มทิศลงบนหินในป่าตรงๆ เข็มจะชี้ไปตามสนามแม่เหล็กของหินแทน ก็เพราะทั่วทั้งแถบนี้เป็นหินภูเขาไฟทั้งหมด หากนำขึ้นมาวางบนมือก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่ก็มีเรื่องเล่าอีกเช่นกันว่า สนามแม่เหล็กนั้นไปรบกวนสัญญาณโทรศัพท์บ้าง ทำให้เกิดภาพแปลกๆในกล้องวิดีโอบ้าง สัตว์เล็กๆอย่างนก และแมลงบางจำพวกที่ใช้สนามแม่เหล็กโลกนำทางก็หลีกเลี่ยงป่านี้ครับ เนื่องจากสนามแม่เหล็กในหินภูเขาไฟรบกวนประสาทสัมผัสแม่เหล็กโลกของสัตว์เหล่านั้น สำหรับในมนุษย์เองนั้น บางก็มีรายงานถึงการเห็น "ภาพหลอน" บ้างก็รู้สึกอึดอัดไม่สบาย ออกมาจากป่าก็ล้มป่วยไปเลยก็มี
สมัยก่อนที่ยังไม่มีใครมาคอยอธิบายด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์นั้น เคยร่ำลือกันว่าปรากฏการณ์เหล่านั้นเกิดจากน้ำมือของวิญญาณ (ยูเร 幽霊) ที่สิงสถิตอยู่ที่นี่ เนื่องจากสมัยก่อนช่วงยุคข้าวยากหมากแพงหรือขาดแคลนอาหาร มีการกระทำที่เรียกว่า อุบาสึเตะ (姥捨て การนำผู้สูงอายุไปทิ้งไว้ในป่า) เกิดขึ้นเป็นพักๆ เนื่องจากที่ป่านี้มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติแปลกๆ มากมาย การจะหลงทางกลับไม่ได้ อดอาหารจนตาย แต่บ้างก็ว่าผู้สูงอายุบางคนก็เต็มใจที่จะถูกพาเข้ามาในป่าเอง เพราะไม่ต้องการจะเป็นภาระให้กับคนในครอบครัว
สถานที่ท่องเที่ยวในป่าอาโอกิกาฮาระ
Shawn.ccf / Shutterstock.com
แม้ในความลี้ลับก็มีความสวยงามอยู่ด้วย เพราะถึงอย่างไรที่นี่ก็ยังนับเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีถ้ำมากมายที่ก่อตัวขึนมาตั้งแต่โบราณจนกลายเป็นถ้ำที่แปลกตา และหาที่ไหนไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น
- ถ้ำลมฟุกาคุ เป็นทางไหลของลาวาที่ใหญ่ที่สุดในป่า ผนังส่วนใหญ่เกิดจากหินบะซอลต์ และมีอากาศไหลเวียนภายในเพียงพอต่อการเดินเที่ยว
- ถ้ำน้ำแข็งนารุซาวะ ที่มีน้ำแข็งปกคลุมอยู่ตลอดทั้งปี พื้นถ้ำจะมีลักษณะเปียกและขรุขระ จนต้องใช้ความระมัดระวังในขณะที่เดินชมความงดงามของน้ำแข็งรูปทรงต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในถ้ำ
- เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่เชื่อมต่อถ้ำทั้งสองแห่ง ท่ามกลางความลึกลับของท้องทะเลแห่งต้นไม้
====================
ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<